การพัฒนาวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ในประเทศไทย นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า มีความก้าวหน้าเป็นที่น่าพอใจ โดยพบวัคซีนต้นแบบบางตัวมีประสิทธิภาพในการป้องกันโรคได้ดี แต่ขณะนี้ยังไม่สามารถยืนยันความสำเร็จในการพัฒนาวัคซีนจนสามารถนำไปใช้ป้องกันโรคได้ ขณะนี้ กรมฯ ได้ทดสอบต้นแบบวัคซีนของโรงพยาบาลจุฬาฯ หลายอันพบว่ามีประสิทธิภาพในการป้องกันโรคได้ดี โดยได้นำตัวอย่างวัคซีนดังกล่าวมาเจือจางแล้ว 500 เท่า ยังสามารถป้องกันโรคได้ สร้างภูมิคุ้มกันได้ดี ซึ่งจะนำไปฉีดในสัตว์ทดลองหรือในคนต่อไป จะใช้ได้เมื่อไหร่คงบอกยาก บางครั้งต้องอาศัยจังหวะว่าวัคซีนที่เตรียมไว้กระตุ้นภูมิคุ้นกันได้ดี
อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า เทคโนโลยีในการพัฒนาวัคซีนในประเทศไทยนั้นมีศักยภาพเพียงพอ ไม่เป็นรองใคร เพียงแต่ไม่สามารถดำเนินการได้หน่วยงานเดียวอย่างครบวงจร ดังนั้นจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
ส่วนการค้นหาผู้ป่วยโควิด-19 เชิงรุกในกลุ่มเสี่ยง ด้วยการตรวจจากน้ำลายส่วนลึกในลำคอ นำร่องเขตสุขภาพที่ 4 และ 5 จากกลุ่มเสี่ยงและชุมชนแออัด เช่น กลุ่มแรงงานต่างด้าว กลุ่มพ่อค้าแม่ค้า กลุ่มผู้ขับรถรับจ้างและขนส่งสาธารณะ กลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ เป็นต้น รวม 6,380 ตัวอย่าง พบผลบวก 1 ตัวอย่าง และผลลบ 6,379 ตัวอย่าง ซึ่งข้อมูลนี้ช่วยสนับสนุนข้อเท็จจริงที่ว่า การระบาดในประเทศไทยมีอัตราที่ต่ำมาก เนื่องจากไม่พบการระบาดในชุมชน ส่วนผู้ป่วยรายใหม่ที่พบนั้นล้วนเป็นผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศทั้งสิ้น
ผลการคัดกรองกลุ่มเสี่ยงนี้ทำให้ได้ข้อมูลเชิงระบาด ที่มีความสำคัญต่อการวางมาตรการควบคุมโรคในระยะถัดไป ซึ่งกรมควบคุมโรคร่วมกับกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ จะขยายการคัดกรองเชิงรุกในกลุ่มเสี่ยงและชุมชน ทั่วประเทศ และเขตกรุงเทพมหานคร 89,993 ราย ให้แล้วเสร็จในเดือนมิ.ย.นี้ เบื้องต้น ในเขต กทม. ได้ตรวจไปแล้วทั้งสิ้น 4,856 ราย จากเป้าหมาย 15,000 ราย พบผลตรวจเป็นลบทั้งหมด นอกจากนี้การศึกษาที่คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดีใช้การบ้วนน้ำลาย ร้อยละ84.2 ความจำเพาะ ร้อยละ 98.9 และมีผลสอดคล้องกับการเก็บตัวอย่างวิธีมาตรฐาน NP Swab ร้อยละ97.5