สปช.เริ่มประชุมพิจารณารายงานข้อเสนอ 18 กมธ.

15 ธันวาคม 2557, 12:12น.


ที่ประชุมสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เริ่มการพิจารณารายงานของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญติดตามและให้ข้อเสนอแนะการยกร่างรัฐธรรมนูญ เรื่องสรุปความเห็นหรือข้อเสนอแนะในการยกร่างรัฐธรรมนูญของคณะกมธ.วิสามัญประจำสภา 18 คณะ ซึ่งคณะกมธ.วิสามัญฯ พิจารณาแล้วเสร็จ เป็นวันแรก โดยนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ รองประธาน สปช. คนที่1 ฐานะประธานกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ นำคณะกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญเข้าร่วมรับฟังข้อเสนอและความเห็นของสปช.ด้วย



ทั้งนี้ นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานสปช. ทำหน้าที่ประธานการประชุม และเริ่มจากการที่นายไพโรจน์ พรหมสาส์น ประธานคณะกมธ.วิสามัญติดตามและให้ข้อเสนอแนะการยกร่างรัฐธรรมนูญ นำเสนอประเด็นข้อเสนอและความเห็นของสปช. ในภาพรวม จากนั้นให้ประธานคณะกมธ.ปฏิรูปตามลำดับที่คณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสปช. (วิปสปช.) กำหนดแถลงข้อเสนอแนะ เสร็จแล้วจึงจะขอมติจากที่ประชุมสปช. ว่าจะส่งความเห็นทั้งหมดต่อกมธ.กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญหรือไม่



สำหรับรายงานทั้ง 18 คณะมีประเด็นที่นำเสนอ รวม 246 เรื่อง เมื่อจำแนกตามโครงร่างรัฐธรรมนูญ ประเด็นที่นำเสนอมากที่สุด คือ 133 ประเด็น อยู่ในส่วนของแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ จำนวน 82 เรื่อง รองลงมาคือการกระจายอำนาจและการปกครองท้องถิ่น จำนวน 16 เรื่อง ขณะที่หมวดว่าด้วยประชาชนซึ่งจัดอยู่ในภาคที่1 ว่าด้วยพระมหากษัตริย์และประชาชน มีประเด็นที่นำเสนอ 43 เรื่อง ขณะที่ภาคที่4 ว่าด้วยการปฏิรูปและการสร้างความปรองดองนำเสนอประเด็นทั้งสิ้น 35 ประเด็น โดยจัดอยู่ในส่วนของการปฏิรูปเพื่อลดความเหลื่อมล้ำและการสร้างความปรองดองมากที่สุด รวม 33 เรื่อง และการสร้างความปรองดองมีอยู่ 2 เรื่อง ส่วนภาคที่ 3 ด้วยนิติธรรม ศาล และการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ มีประเด็นนำเสนอทั้งสิ้น 33 เรื่อง



นอกจากนั้นยังมีประเด็นเสนอในบททั่วไปที่เสนอโดยคณะกมธ.ปฏิรูปสังคม ชุมชน เด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการและผู้ด้อยโอกาส มีรายละเอียดระบุว่า ให้รัฐธรรมนูญมีขอบเขตการคุ้มครองใน 4 ส่วนสำคัญ คือ ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพและความเสมอภาคของบุคคลตามพันธกรณีระหว่างประเทศ การยอมรับนับถือตามกฎหมาย, ประชาชนที่อาศัยในประเทศไทย ไม่ว่าจะมีชาติพันธุ์ สัญชาติหรือศาสนาใด และ คนสัญชาติไทยที่อาศัยอยู่ในหรือนอกประเทศไทย



กับยังมีข้อเสนอในส่วนบทเฉพาะกาล นำเสนอโดยคณะกมธ.ปฏิรูปการคุ้มครองผู้บริโภค มีสาระสำคัญ ว่า “ในวาระเริ่มแรกให้คณะรัฐมนตรีที่เข้าบริหารราชการแผ่นดินภายหลังการเลือกตั้งทั่วไป ตามรัฐธรรมนูญ ให้จัดทำกฎหมายเพื่อตั้งองค์การคุ้มครองผู้บริโภคต่อสภาผู้แทนราษฎรภายใน 1 ปีนับตั้งแต่วันที่แกลนโยบายต่อรัฐสภา และรัฐสภาต้องพิจารณาร่างกฎหมายดังกล่าวให้แล้วเสร็จายใน 1 ปีนับตั้งแต่มีการเสนอ หากรัฐบาลหรือรัฐบาลดำเนินการไม่แล้วเสร็จตามระยะเวลาดังกล่าวต้องชี้แจงเหตผลต่อสาธารณชนหรือรัฐสภา และระยะเวลาที่คาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จ"



 ...

ข่าวทั้งหมด

X