ภาวะเศรษฐกิจในประเทศไทยเดือนพฤษภาคม 2563 นางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า เปิดเผยว่า ในเดือนพฤษภาคม ไทยเข้าสู่ภาวะเงินฝืด แต่ยังคงมีสินค้ามีราคาสูงขึ้นมากกว่าราคาลดลง โดยสินค้าที่ลดลงมาเป็นน้ำมันและไฟฟ้า ประปา เป็นปัจจัยทำให้เงินเฟ้อเดือนพฤษภาคมลดลง ทำให้ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (CPI) หรือเงินเฟ้อทั่วไปเดือนพฤษภาคม ลดลงร้อยละ 3.44 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ส่วนเงินเฟ้อพื้นฐานขยายตัวร้อยละ 0.01 นับเป็นการติดลบมากสุดในรอบ 10 ปี 10 เดือน นับจากเดือนสิงหาคม 2552 จากที่เคยติดลบมากที่สุดเดือนกรกฎาคม 2552 ที่ลดลงถึงร้อยละ 4.4 หลังวิกฤตซับไพรม์หรือ วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ ทำให้ประเทศไทยเข้าสู่ภาวะเงินฝืดทางเทคนิคแล้ว
ปัจจัยมาจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่ยังอยู่ในระดับต่ำ แม้ว่าจะมีการปรับสูงขึ้นหลายครั้งในเดือนนี้ แต่ยังต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน รวมทั้งมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพของภาครัฐ โดยเฉพาะการลดค่าไฟฟ้า ค่าน้ำประปา และราคาสินค้าที่จำเป็นต่อการครองชีพบางรายการ นอกจากนี้ ฐานราคาอาหารสด โดยเฉพาะผักสดปีที่แล้ว ค่อนข้างสูง ทำให้ราคาผักสดลดลงต่ำสุดในรอบ 3 ปี สำหรับราคาสินค้าและบริการในหมวดอื่นๆ ส่วนใหญ่ยังคงเคลื่อนไหวในทิศทางที่สอดคล้องกับสถานการณ์และพฤติกรรมการบริโภคของประชาชน เมื่อหักอาหารสดและพลังงานออกแล้ว
ส่วนภาพรวมเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย 5 เดือน (ม.ค.-พ.ค.2563) เทียบกับช่วงเดียวกันปีที่แล้วติดลบ ร้อยละ1.04 ส่วนเงินเฟ้อพื้นฐาน สูงขึ้นร้อยละ 0.40 อย่างไรก็ตาม เงินเฟ้อทั้งปี ติดลบแน่นอน และสำนักงาน ยังไม่ปรับคาดการณ์เงินเฟ้อทั่วไปทั้งปี 2563 ที่จะติดลบร้อยละ 0.2 ถึงติดลบร้อยละ 1.0
ด้านดัชนีความเชื่อมั่นสูงสุดในรอบ 6 เดือน แม้ต่ำกว่า 50 จาก 33.3 มาอยู่ 38.1 ทุกภาคทุกๆอาชีพ แสดงว่าประชาชนมั่นใจนโยบายของรัฐและการปลดล็อกดาวน์สร้างความมั่นใจมากขึ้น คาดว่า เดือนต่อไปจะดีขึ้น
สำหรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ขยายวงกว้างไปทั่วโลก นางสาวพิมพ์ชนก กล่าวว่า ส่งผลทำให้ภาคการผลิตและบริการทั้งในและต่างประเทศชะลอตัว แม้ว่าจะมีหลายประเทศรวมถึงไทยได้ผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์บ้างแล้วแต่ยังคงจำกัดกิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคมในบางกิจกรรม ซึ่งเป็นปัจจัยชั่วคราวที่ส่งผลกระทบต่อความต้องการสินค้าและบริการ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ
อย่างไรก็ตาม การผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์บางส่วน นับเป็นสัญญาณที่ดีที่จะทำให้สถานการณ์ปรับตัวดีขึ้น ประกอบกับศักยภาพการผลิตและความสามารถด้านการแข่งขันของไทยยังอยู่ในระดับที่ดี จะทำให้สถานการณ์เศรษฐกิจและเงินเฟ้อกลับเข้าสู่ทิศทางปกติได้โดยเร็ว นอกจากนั้น ภัยแล้งยังเป็นปัจจัยสำคัญที่กระทบต่อผลผลิตและราคาสินค้าเกษตร เป็นประเด็นที่ต้องให้ความสำคัญต่อไป
แฟ้มภาพ