ความเคลื่อนไหวเมืองไทยวันนี้ 12.30 น. วันพุธที่ 3 มิถุนายน 2563

03 มิถุนายน 2563, 14:35น.


สธ.สงขลา พบผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 รวม 132 คน



          สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสงขลา รายงานพบผู้ติดเชื้อโรคโควิด-19 เดินทางกลับจากซาอุดิอาระเบีย 1 คน ทำให้จำนวนผู้ป่วยสะสมในจังหวัดมีทั้งหมด 132 คน สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสงขลา รายงานสถานการณ์โรคโควิด-19 ล่าสุดผลตรวจเพาะเชื้อเพิ่มในกลุ่มผู้ที่เดินทางกลับจากซาอุดิอาระเบีย โดยใช้ช่องทางผ่านด่านพรมแดนปาดังเบซาร์ อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา จำนวนผู้ป่วยสะสมในจังหวัดมีทั้งหมด 132 คน แบ่งเป็น



-กลุ่มชาวต่างชาติที่ศูนย์กักตัวตรวจคนเข้าเมืองสะเดา 65 คน

-ผู้ป่วยกลุ่มทั่วไป 44 คน



-กลุ่มดาวะห์กลับจากอินโดนีเซีย 19 คน



-กลุ่มคนไทยที่กลับจากซาอุดิอาระเบีย 4 คน



อย่างไรก็ตาม ยังมีกลุ่มที่ได้ทำการตรวจเพาะเชื้อรอยืนยันผลอีก 37 คน เป็นกลุ่มทั่วไป 7 คน และกลุ่มที่เดินทางกลับจากซาอุดิอาระเบียอีก 30 คน คาดว่าผลจะออกมาวันนี้



CR:Facebook กระทรวงสาธารณสุข สงขลา



รมว.ศธ. ยืนยันไม่มีการบังคับเรื่องสีหน้ากากอนามัย



          กรณีผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่งได้โพสต์ภาพและข้อความระบุถึงโรงเรียนแห่งหนึ่งติดป้ายให้นักเรียนทุกคนต้องสวมหน้ากากอนามัยแบบไม่มีลวดลาย และนักเรียนชายต้องสวมหน้ากากอนามัยสีพื้น เช่น ขาว เทา และดำเท่านั้น ส่วนนักเรียนหญิงให้สวมหน้ากากอนามัยสีอ่อนหรือสีขาว จนเกิดเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากในโลกออนไลน์ นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยว่า กระทรวงศึกษาธิการไม่มีการบังคับให้นักเรียนต้องใส่หน้ากากอนามัยลักษณะใด แต่ให้คำนึงถึงความปลอดภัยของนักเรียนเป็นสำคัญ ไม่ว่าจะมีลวดลายหรือไม่ก็ตาม



          ด้านนายอำนาจ วิชยานุวัติ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กล่าวว่า ศธ.ไม่มีนโยบายกำหนดให้นักเรียนต้องสวมหน้ากากแบบใด แต่ให้ยึดการป้องกันการแพร่เชื้อโควิด-19 เป็นหลัก อยากให้โรงเรียนทุกแห่งยืดหยุ่นการดำเนินการเรื่องดังกล่าว เพราะการให้นักเรียนและครูรวมถึงบุคลากรทางการศึกษาในโรงเรียนทุกคนสวมหน้ากากอนามัย เพราะต้องการป้องกันการแพร่เชื้อตามมาตรการกระทรวงสาธารณสุขกำหนดเท่านั้น



ผู้ประท้วง ถือรูปคนผิวสีที่ถูกยิงเสียชีวิต ทวงความยุติธรรมให้กับ ‘ฟลอยด์’



          สถานกงสุลใหญ่ประเทศไทย ณ นครนิวยอร์ก สหรัฐฯ โพสต์ข้อความผ่าน Royal Thai Consulate General NY สรุปสถานการณ์การประท้วงในนครนิวยอร์ก กรณีที่นายจอร์จ ฟลอยด์ ชายผิวดำที่เสียชีวิตหลังจากตำรวจใช้เข่ากดคอเขาไว้กับพื้นนานเกือบ 9 นาที  สถานการณ์ส่วนหนึ่ง เมื่อช่วงบ่าย 2 มิ.ย. 2563



-กลุ่มผู้ประท้วงหลายร้อยคนได้รวมตัวและเดินขบวนจาก Foley Square ไปยังสำนักงานนายกเทศมนตรีนครนิวยอร์ก (New York City Hall) เพื่อทวงถามความยุติธรรมโดยได้ตะโกนคำว่า “Black Lives Matter” ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ดูแลความปลอดภัยสถานที่ และเฮลิคอปเตอร์ตำรวจได้บินวนเพื่อสังเกตการณ์โดยรอบ นอกจากนายฟลอยด์แล้ว ผู้ประท้วงได้นำรูปภาพของคนผิวสีคนอื่นๆที่เสียชีวิตอย่างไม่เป็นธรรม เช่น นาย Danroy D.J. Henry Jr. นักฟุตบอลชาวแอฟริกัน-อเมริกันของ Pace University นาย Michael Brown อายุ 18 ปี ที่ถูกตำรวจผิวขายิงที่เมือง Ferguson รัฐมิสซูรี่ มาเป็นสัญลักษณ์การต่อสู้ด้วย



ภรรยาของ “ฟลอยด์” ขอความเป็นธรรมให้สามี



          นางร็อกซี วอชิงตัน ภรรยาของนายจอร์จ ฟลอยด์ พร้อมลูกสาว คือ ด.ญ.จีอันนา อายุ 6 ขวบ เปิดเผยในการแถลงข่าวสั้นๆ ในหอประชุมศาลากลางเมืองมินนีแอโพลิส สหรัฐฯ ว่าเธอต้องการจะขอความยุติธรรมให้สามีและลูกสาว ที่อยู่ในความดูแลของเธอคนเดียว หลังที่สามีเสียชีวิต เธอไม่อยากจะพูดมากเพราะเธอไม่อาจจะหาคำพูดใดมาบรรยายความรู้สึกเสียใจ แต่ต้องการให้ทุกคนรู้ว่าตำรวจทำงานกันอย่างไร นายฟลอยด์ ไม่น่าจะเสียชีวิตในสภาพที่นอนคว่ำหน้าลงกับพื้นริมทางเดิน ตำรวจมากถึง 3 คนใช้กำลังกดทับที่คอและหลังจนขาดอากาศหายใจและเสียชีวิต



         นางร็อกซี เล่าให้ฟังถึงชีวิตครอบครัวว่า ทุกๆเย็นเมื่อทุกคนกลับถึงบ้านก็จะได้อยู่กันพร้อมหน้า แต่ในตอนนี้ ลูกสาว ด.ญ.จีอันนา ไม่มีคุณพ่ออีกแล้ว คุณพ่อจะไม่มีโอกาสเห็นลูกสาวเติบโตจนถึงในช่วงสำเร็จการศึกษา สิ่งที่ลูกสาวขาดไปคือความรู้สึกอบอุ่นจากคุณพ่อ ซึ่งลูกจะไม่ได้สัมผัสความรู้สึกดีๆเช่นนี้อีกต่อไป



          ก่อนหน้านี้ นายฟลอยด์ ชาวอเมริกันผิวสีวัย 46 ปีเสียชีวิตจากการใช้ความรุนแรงของตำรวจในเมืองมินนีแอโพลิส ขณะถูกจับกุมฐานสงสัยใช้ธนบัตร 20 ดอลลาร์สหรัฐฯปลอมซื้อสินค้าที่ร้านสะดวกซื้อแห่งหนึ่งเมื่อวันที่ 25 พ.ค.



‘พฤติกรรมไม่เหมาะสมของตำรวจ’ จุดประกายการประท้วงไปที่ออสเตรเลีย



         ประชาชนหลายพันคนร่วมชุมนุมตามท้องถนนในประเทศออสเตรเลีย เพื่อแสดงความเป็นหนึ่งเดียวกับการประท้วงต่อต้านตำรวจที่ใช้ความรุนแรงกับคนกลุ่มน้อยในสหรัฐฯ ผู้ประท้วงเดินขบวนในเมืองซิดนีย์พร้อมเปล่งเสียงว่า“ฉันหายใจไม่ออก”และ“ชีวิตคนผิวดำก็สำคัญเหมือนกัน”เช่นเดียวกับผู้ประท้วงในสหรัฐฯ



         การประท้วงในออสเตรเลียนอกจากจะแสดงความเป็นหนึ่งเดียวกับการประท้วงในสหรัฐฯ แล้ว ยังเป็นการต่อต้านพฤติกรรมไม่เหมาะสมของตำรวจในออสเตรเลียด้วย โดยมีผู้ประท้วงจำนวนมากโบกธงอะบอริจิ้น (Aboriginal flag) ซึ่งเป็นชนเผ่าพื้นเมืองเก่าแก่ของออสเตรเลีย เนื่องจากมีชาวอะบอริจิ้นถูกตำรวจคุมขัง และเสียชีวิตระหว่างถูกจับกุมตัวจำนวนมาก



 



 



 



 

ข่าวทั้งหมด

X