องค์การอนามัยโลก สั่งติดตาม กรณีเด็กยุโรป มีภาวะอักเสบในร่างกาย เชื่อมโยงโควิด-19
พญ.วารุณี พรรรณพานิช วานเดอพิทพ์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อ สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กล่าวถึง การตรวจสอบวิเคราะห์เรื่องความเชื่อมโยงของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) กับโรคคาวาซากิ และกลุ่มอาการเจ็บป่วยเฉียบพลันจากการอักเสบของอวัยวะหลายระบบ (Multisystem inflammatory syndrome in children: MIS-C) ว่า เมื่อต้นเดือนเม.ย.พบว่าเด็กในยุโรป มีอาการป่วยด้วยอาการอักเสบหลายอวัยวะในร่างกาย (MIS-C) จากการตรวจวิเคราะห์พบว่าบางคนมีการติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 บางคนตรวจพบว่ามีภูมิคุ้มกันโควิด-19 แต่บางคนก็ไม่มีการติดเชื้อหรือภูมิคุ้มกัน จึงมีการตั้งข้อสังเกตว่ามีความเกี่ยวข้องกันหรือไม่ เพราะเป็นเรื่องแปลกที่พบโรคที่ไม่ค่อยพบมาก่อน ขณะนี้ข้อมูลยังมีจำกัด จึงสรุปความเชื่อมโยงได้ไม่ชัดเจนนัก ทำให้องค์การอนามัยโลก ขอให้กุมารแพทย์ทั่วโลกมีการเฝ้าระวังและรายงานข้อมูลเกี่ยวกับโรคนี้อย่างต่อเนื่อง โดยมีเกณฑ์การเฝ้าระวังในเด็กอายุ 0-19 ปี ที่มีไข้ 3 วันขึ้นไป โดยมีอาการอย่างน้อย 2 ใน 5 ข้อ คือ มีการอักเสบบริเวณผิวหนังและเยื่อบุ มีภาวะช็อกหรือความดันต่ำ มีการแข็งตัวของเลือดผิดปกติ หรือมีความผิดปกติทางเดินอาหาร ร่วมกับมีระดับของค่าการอักเสบในเลือดที่เพิ่มสูงกว่าปกติ ไม่พบหลักฐานว่าอาการที่เกิดขึ้น อธิบายได้จากสาเหตุอื่น มีหลักฐานของการติดเชื้อ หรือสัมผัสโควิด-19
สำหรับลักษณะอาการเด็กที่ป่วยด้วยอาการอักเสบผิดปกติรุนแรงหลายอวัยวะทุกระบบ คือมีผื่นแดงกินพื้นที่ร้อยละ 60-70 ของร่างกาย มีการอักเสบของผิวหนัง ตาแดง เยื่อบุตาแดง ไม่มีขี้ตา ซึม รู้ตัวน้อยลง บางคนมีภาวะช็อก มีอาการทางเดินอาหาร ตอนแรกสงสัยว่าจะเป็นโรคคาวาซากิ ซึ่งปกติจะพบในเด็กในประเทศแถบเอเชีย จะมีการอักเสบทั่วร่างกาย เด็กจะมีอาการไข้สูงอย่างน้อย 5 วัน บริเวณที่เห็นเส้นเลือดชัดก็จะอักเสบชัด ปลายมือปลายเท้าบวม มีการลอกที่ปลายนิ้วเป็นจุดแรก
อย่างไรก็ตาม 2 โรคนี้มีความแตกต่างกัน จุดสังเกตคือ ปกติคาวาซากิเจอในเด็กต่ำกว่า 5 ขวบแต่ mic-s ในเด็กอายุเฉลี่ย 7.5 ขวบ และมีอาการของระบบทางเดินอาหาร ส่วนคาวาซากิไม่ค่อยมีอาการทางระบบทางเดินอาหาร แต่มีอาการหลอดเลือดอักเสบแต่ไม่ถึงกับมีภาวะช็อก ซึ่งโรค mic-s ในไทย และเอเชีย ยังไม่พบผู้ป่วยลักษณะดังกล่าว
CR: www.hfocus.org
"หมอธีระ" ขอให้คำนึงเรื่องความปลอดภัยหากจะหยุดยาว
รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Thira Woratanarat ระบุข้อความว่า สถานการณ์โรคโควิด-19 ติดไปทั่วโลก 6,470,887 คน ติดเชื้อเพิ่มขึ้นจากเมื่อวาน 123,604 คน เสียชีวิตเพิ่มขึ้นจากเมื่อวาน 5,145 ราย ทำให้ยอดเสียชีวิตสะสม 381,642 ราย
ขณะที่ญี่ปุ่น หลังปลดล็อกไปแล้ว สถานการณ์ที่โตเกียว เริ่มเห็นการระบาดใหม่อีกครั้ง จนรัฐต้องออกมาส่งสัญญาณเตือน เอาใจช่วยให้ทุกประเทศควบคุมสถานการณ์ได้ในเร็ววัน
ส่วนประเทศไทย เมื่อวานมีข่าวที่ควรติดตามคือ ชาวกัมพูชาที่คาดว่าจะติดเชื้อในประเทศไทย ระหว่างที่มาเรียนที่ยะลา แล้วเดินทางด้วยรถตู้มีคนร่วมทาง 10 คน อาจเป็นหลักฐานที่ตอกย้ำว่า เชื้อไวรัสยังอยู่ การ์ดต้องไม่ตก
อีกข่าวที่สำคัญและท้าทายรัฐในการแก้ไขปัญหาคือ การเอาเมทานอลมาทำเจลล้างมือแทนที่จะใช้เอทานอล
ส่วนเรื่องการเสนอหยุดยาว ชดเชยสงกรานต์ ในเดือนก.ค. สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ เรื่องความปลอดภัยของประชาชน
รัฐบาล ยังไม่มีมติวันหยุดชดเชยสงกรานต์
นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ยืนยันว่า ยังไม่มีมติเรื่องช่วงเวลาวันหยุดยาวชดเชยสงกรานต์ ถ้าวันนี้ทำดีที่สุดจะกำหนดชะตาชีวิตของเราวันข้างหน้า และเรื่องนี้เป็นอำนาจของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี (ครม.) เป็นผู้เห็นชอบและมีมติ ส่วนศบค.ดูแลในการควบคุมโรค มีการกำชับฝ่ายความมั่นคง สาธารณสุขและท้องถิ่น ติดตามว่าที่ได้ผ่อนผันไปแล้วมีความร่วมมืออย่างไร เพื่อเป็นแนวทางไปสู่ระยะ 4 ในอนาคต
นายกฯ เตือนคนที่ไม่ปฎิบัติตามระเบียบ ทำให้เดือดร้อนทั้งประเทศ
พล.อ.ประยุทธ์ เตือนคนที่ยังไม่ปฏิบัติตามระเบียบจะทำให้คนอื่นเดือดร้อนด้วย หากรักความสนุกสนานของตัวเอง ต้องรักคนอื่นด้วย ประเทศไทยต้องรวมกันเป็นหนึ่งให้ได้ในสถานการณ์โรคโควิด-19 แม้ตัวเลขผู้ติดเชื้อลดลงจนเป็นศูนย์ ส่วนใหญ่พบจากคนที่กลับจากต่างประเทศ ตรวจพบในสถานที่กักกันของรัฐ จึงเป็นสิ่งที่น่ายินดีที่มาตรการต่างๆ ที่ออกมาได้ผล ไม่แพร่ระบาดในพื้นที่อื่น อาจมีปัญหา ไม่ได้รับความสะดวกสบายบ้าง แต่ยังเป็นมาตรการจำเป็น รัฐบาลก็ต้องใช้จ่ายงบประมาณจำนวนหนึ่งในการดูแลตรงนี้
4 มิ.ย.สรุปมาตรการ “กระตุ้นไทยเที่ยวไทย”
นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวว่า ในวันที่ 4 มิ.ย.นี้ สศค.จะหารือกับกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย เพื่อสรุปมาตรการกระตุ้นภาคการท่องเที่ยวและเสนอไปยังคณะกรรมการกลั่นกรองฯ กับ ครม.เพื่อขอใช้งบประมาณฟื้นฟู 400,000 ล้านบาท กระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงไตรมาส 3 หรือเดือนก.ค.เป็นต้นไป ขณะนี้ทั้ง 2 หน่วยงาน กำลังทำการบ้านว่าจะดำเนินการอย่างไร สิ่งที่ภาคท่องเที่ยวเสนอให้แจกเงินคนละ 2,000-3,000 บาท จำนวน 10 ล้านคน เพื่อนำไปใช้ท่องเที่ยว เห็นว่า มาตรการที่ออกมาต้องเป็นมาตรการที่ดีและตรงจุด ต้องดึงให้คนไทยเที่ยวไทยมากที่สุด
นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย กล่าวว่า มาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวภายในประเทศ วงเงิน 10,000 ล้านบาท จะมี 2 โครงการ
1. แพ็กเกจ"กำลังใจ" เพื่อตอบแทนบุคลากรที่ปฏิบัติงานแนวหน้าในการรับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จะสนับสนุนงบประมาณ 100% สำหรับการศึกษาดูงานของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน(อสม.) และเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) รวมจำนวน 1.2 ล้านคน เป็นแพ็กเกจทัวร์ 3 วัน 2 คืน โดยต้องซื้อผ่านบริษัทนำเที่ยวในประเทศเท่านั้น เพื่อให้ บริษัทนำเที่ยว รถเช่า โรงแรม มัคคุเทศก์ ได้รับความช่วยเหลือดังกล่าว
2.โครงการ "เที่ยวปันสุข" กระตุ้นการเดินทางข้ามจังหวัด ซึ่งจะมีการสนับสนุนเงินให้ส่วนหนึ่ง เพื่อกระตุ้นไทยเที่ยวไทย โดยจะแจกเป็นบัตรกำนัลดิจิทัล มูลค่า 2,000-3,000 บาท สำหรับประชาชนทั่วไปที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป จำนวน 4,000,000 คน โดยเป็นความร่วมมือระหว่างททท.และธนาคารกรุงไทย ซึ่งจะมีการเปิดลงทะเบียนเพื่อรับสิทธิ์ซื้อบัตรกำนัลดิจิทัล สำหรับเป็นค่าห้องพัก เมื่อประชาชนนำบัตรดังกล่าวไปเช็กอินห้องพัก รัฐจะโอนเงินคืนให้ประชาชนผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อใช้จ่ายในโรงแรม เช่น ห้องพัก ห้องอาหาร สปา สินค้าที่ระลึก