*เมืองไทยวันนี้ 7.30 น.*

15 ธันวาคม 2557, 07:42น.


ในวันนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ซึ่งจะพิจารณาปรับโครงสร้างราคาน้ำมันกลุ่มเบนซินและดีเซลให้อยู่ในระดับใกล้เคียงกัน



โดยกระทรวงพลังงานจะเสนอปรับภาษีสรรพสามิตน้ำมัน ของน้ำมันดีเซลจัดเก็บเพิ่มขึ้นจากปัจจุบัน 0.75 บาทต่อลิตร เป็น 4 บาทต่อลิตร น้ำมันเบนซิน 95 แก๊สโซฮอล์ 95 แก๊สโซฮอล์ 91 จะเสนอให้ปรับลดจาก 5.04 บาทต่อลิตร เหลือ 3.60 บาทต่อลิตร ส่วนแก๊สโซฮอล์ อี20 ปรับลดจาก 4.48 บาทต่อลิตร เหลือ 3.20 บาทต่อลิตร



จากโครงสร้างราคาน้ำมันใหม่ จะทำให้แก๊สโซฮอล์ 95 สูงกว่าน้ำมันดีเซล 3-4 บาทต่อลิตร สูงกว่าแก๊สโซฮอล์ 91 ประมาณ 1-2 บาทต่อลิตร สูงกว่าแก๊สโซฮอล์ อี20 ประมาณ 3-4 บาท แต่ต่ำกว่าเบนซิน 3-5 บาทต่อลิตร



นายณรงค์ชัย อัครเศรณี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า กระทรวงพลังงานจะเสนอ กพช.พิจารณาพีดีพี 2015 เพื่อให้การวางแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศสอดคล้องกับความต้องการใช้ไฟฟ้าในอนาคต โดยจะคำนึงถึงความมั่นคงของระบบไฟฟ้า ข้อจำกัดของระบบส่งไฟฟ้า เพื่อรองรับการรับซื้อไฟฟ้าให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก การกระจายเชื้อเพลิงให้มีความเหมาะสม ลดสัดส่วนการพึ่งพิงเชื้อเพลิงชนิดใดชนิดหนึ่ง และคำนึงถึงต้นทุนการผลิตไฟฟ้า การกำหนดกำลังผลิตไฟฟ้าสำรองร้อยละ 15 ของปริมาณการผลิตที่พึ่งได้ ส่งเสริมให้ภาคประชาชนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียมีส่วนร่วมต่อการจัดทำแผน และกำหนดเป้าหมายลดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ร้อยละ 20  นอกจากนี้ จะเน้นการประหยัดพลังงาน ส่งเสริมพลังงานหมุนเวียนที่มีประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อม ชุมชน และภาคเกษตรกรรม การจัดทำค่าพยากรณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้าในอนาคตให้สอดคล้องกับการคาดการณ์การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ และสอดคล้องกับแผนอนุรักษ์พลังงาน 20 ปี ซึ่งมีเป้าหมายการลดใช้พลังงานไฟฟ้าลงร้อยละ 20 ลดการใช้เชื้อเพลิงลงร้อยละ 80 โดยมีเป้าหมายใช้พลังงานหมุนเวียนผลิตไฟฟ้าร้อยละ 20 รวมทั้งวางแผนระบบส่งและระบบจำหน่ายเพื่อรองรับการส่งเสริมพลังงาน ทดแทน



ในวันนี้ นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) นัดประชุม สปช.เพื่อพิจารณารายงานข้อเสนอแนะการยกร่างรัฐธรรมนูญ (รนธ.) ของ กมธ.วิสามัญประจำสภา 18 คณะ ก่อนส่ง ต่อไปยังคณะยกร่างรัฐธรรมนูญ ตามกติกาที่รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวมาตรา 31



โดยความคืบหน้าในการรับฟังความเห็นและข้อเสนอจากฝ่ายต่างๆ ขณะนี้เหลือเพียงชุดที่ 9 คือคณะปฏิรูปที่จะขอฟังความเห็นจาก สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ในวันที่ 15-17 ธันวาคม ซึ่งส่วนใหญ่เห็นชอบกับข้อเสนอในเรื่องระบบผู้แทนที่ดีและผู้นำการเมืองที่ดี และคณะรัฐมนตรี (ครม.) การมี 2 สภา โดยสภาผู้แทนราษฎร มี ส.ส.เขต และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ แต่เปลี่ยนการนับคะแนนใหม่ยึดแบบเยอรมันที่ให้นำคะแนน ส.ส.เขต ไปคำนวณเป็นคะแนนนิยมสำหรับบัญชีรายชื่อ และที่มาของนายกรัฐมนตรีให้มาจากการเลือกในสภา แต่สามารถมีบัญชีรายชื่อ ครม.แสดงเพื่อหาเสียงได้



โดยแต่ประเด็นที่ยังมีเสียงคัดค้านคือการเลือกตั้งนายกรัฐมนตรี และ ครม.โดยตรง สำหรับเรื่องการปรองดองนั้น แม้เสียงส่วนใหญ่จะเห็นด้วย แต่ก็มีการเตือนว่าอย่าเขียนนิรโทษกรรมจนสุดขั้วจนเกิดปัญหาความร้าวฉานเหมือนในอดีต



ทั้งนี้นายวันชัย สอนศิริ สปช.ในฐานะโฆษก กมธ.กิจการสภาปฏิรูปแห่งชาติ (วิป สปช.) กล่าวถึงการประชุม สปช.วันที่ 15-17 ธันวาคม เพื่อพิจารณารายงานข้อเสนอแนะการยกร่างรัฐธรรมนูญของ กมธ.วิสามัญประจำสภา จำนวน 18 คณะ ว่า การประชุม สปช. 2 วันแรกจะกำหนดให้อภิปรายวันละ 7 คณะ ส่วนวันสุดท้ายจะเป็น 4 คณะสำคัญที่ประชาชนให้ความสนใจ คือ กมธ.ปฏิรูปกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม กมธ.ปฏิรูปการปกครองท้องถิ่น กมธ.ปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดิน และ กมธ.ปฏิรูปการเมือง กำหนดเวลาให้ประธาน กมธ.แต่ละคณะทำหน้าที่เสนอประเด็นเนื้อหาสาระและตอบข้อซักถาม ระยะเวลาไม่เกิน 30 นาที จากนั้นจะเปิดโอกาสให้สมาชิกที่แจ้งความจำนงในการ อภิปราย คนละไม่เกิน 2 ด้าน ใช้เวลาอภิปรายเฉลี่ยคนละ 7-10 นาที คาดว่าการประชุมวันสุดท้ายจะแล้วเสร็จในเวลาไม่เกิน 20.00 น. แต่หากสมาชิกมีข้อซักถามจำนวนมาก สามารถขยายเวลาได้ถึง 23.00 น.



ด้านนายไพบูลย์ นิติตะวัน สปช. และ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญเปิดเผยถึงรายละเอียดการอภิปรายที่จะมีขึ้นในวันที่ 17 ธันวาคมเกี่ยวกับกรณีข้อเสนอเลือกนายกรัฐมนตรี และ ครม.โดยตรง ว่า ในฐานะกรรมาธิการเสียงข้างน้อยในกรรมาธิการปฏิรูปด้านการเมือง จึงสงวนความเห็นไว้ว่า ไม่เห็นด้วยกับการเลือกนายกฯและครม.โดยตรง เพราะเป็นรูปแบบที่น่าจะเป็นประโยชน์เฉพาะพรรคการเมืองเพียง 2 พรรคเท่านั้น ที่จะส่งคนลงเลือกตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี และเป็นการลงคะแนนในเวลาเดียวกับการเลือก ส.ส. ทำให้โอกาสที่จะตรวจสอบการทุจริตเลือกตั้งนั้นทำไม่ได้ เพราะว่าจะเหมือนการเลือกตั้งระบบบัญชีรายชื่อแบบที่ผ่านมา ซึ่งไม่เคยจะจับทุจริตได้ จับได้แต่ ส.ส.เขต ก็จะทำให้เกิดการทุจริตเลือกตั้ง ใช้เงินเป็นจำนวนมหาศาล



และวันนี้ ตัวแทนเกษตรกรชาวสวนยาง ใน จ.สุราษฎร์ธานี และภาคใต้ จำนวน 35 องค์กร นัดยื่นหนังสือต่อ นายฉัตรป้อง ฉัตรภูติ ผวจ.สุราษฎร์ธานี ที่ศาลากลางจังหวัดสุราษฎร์ธานี เพื่อนำส่งต่อไปยังรัฐบาล โดยมีมติให้ขายได้ไม่ต่ำกิโลกรัมละ 60 บาท



โดยในวันที่ 26 ธันวาคมนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีกำหนดการเดินทางร่วมงานรำลึก 10 ปี เหตุการณ์สึนามิที่จังหวัดพังงา และมีความเป็นไปได้ที่จะลงพื้นที่พบเกษตรกรชาวสวนยางหลังเสร็จสิ้นการร่วมงาน เพื่อรับฟังความเดือดร้อนด้วยตนเอง เป็นการติดตามแนวนโยบายรัฐบาลที่ให้ข้าราชการลงไปปฏิบัติ สร้างความเข้าใจต่อแนวทางแก้ไขปัญหา



 



*-*

ข่าวทั้งหมด

X