ตร.เตรียมออกหมายเรียก "พ" กินค่าหัวคิว
พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เปิดเผยเรื่องการติดตามไอ้โม่งกินค่าหัวคิวสถานที่กักตัวของรัฐว่าหลังจากตัวแทนสาธารณสุข จ.ชลบุรี แจ้งความกับพนักงานสอบสวน สภ.เมืองชลบุรี ให้ดำเนินคดีกับคนชื่ออักษร "พ" พยายามฉ้อโกงและหมิ่นประมาท ขณะนี้ พนักงานสอบสวนอยู่ระหว่างสอบปากคำและรวบรวมพยานหลักฐาน ก่อนออกหมายเรียกบุคคลดังกล่าวมารับทราบข้อกล่าวหา
1 มิ.ย. จ. ภูเก็ต เปิดช่องทางเข้า-ออก แต่ต้องลงทะเบียนก่อน
นายภัคพงศ์ ทวิพัฒน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เปิดเผยถึง การเปิดช่องทางเข้า-ออกพื้นที่ จ.ภูเก็ต ว่า วันนี้ จ.ภูเก็ต ไม่พบผู้ติดเชื้อเพิ่ม และผู้ป่วยติดเชื้อทุกคนรักษาหายกลับบ้านทั้งหมดแล้ว และควบคุมสถานการณ์ไว้ได้จึงให้เดินทางข้ามจังหวัดได้ ในส่วนของภูเก็ต จะเปิดช่องทางบกและทางน้ำ 24 แห่ง ตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย.เป็นต้นไป ตอนนี้ประชาชนเดินทางออกจาก จ.ภูเก็ตได้โดยไม่ต้องลงทะเบียน แต่คนที่จะเดินทางเข้า จ.ภูเก็ต ต้องผ่านการตรวจคัดกรอง การวัดอุณหภูมิร่างกายหรือวัดไข้ และจะต้องดาวน์โหลดแอปพลิเคชั่น “หมอชนะ” แม้ จ.ภูเก็ต จะเป็นศูนย์แล้วก็ตาม แต่ยังต้องปฎิบัติตามมาตรฐานของกระทรวงสาธารณสุข ทุกคนสามารถ ลงทะเบียนเข้า-ออก จังหวัดภูเก็ต ตามแนวทาง Phuket Smart Checkpoint เข้าไปลงทะเบียนได้ที่ https://www.phuketpolice.org เลือกหัวข้อลงทะเบียนเข้า-ออก จังหวัดภูเก็ต
ทุกช่องทางผู้ที่ประสงค์จะเดินทางเข้า-ออก จังหวัดภูเก็ต แบ่งประเภทและจำนวนที่ลงทะเบียน 1 ครั้งจะใช้เดินทางเข้าออกได้จนกว่าครบกำหนดลงทะเบียนใหม่ ดังนี้
1.ผู้มีภูมิลำเนาในจังหวัดภูเก็ต ( 30 วัน )
2.ผู้ประกอบอาชีพในจังหวัดภูเก็ต ( 30 วัน )
3.ผู้ที่เข้ามาทำธุระในจังหวัดภูเก็ต ( 7 วัน )
4.ผู้ที่เข้ามาท่องเที่ยวในจังหวัดภูเก็ต ( 7 วัน )
เมื่อกรอกข้อมูลให้ครบถ้วน และจะได้รับ QR CODE พร้อมระบุวันที่หมดอายุไว้แสดงต่อเจ้าหน้าที่ เมื่อผ่านจุดคัดกรองต่าง ๆ เพื่อให้เจ้าหน้าที่บันทึกเวลาเข้า-ออก และเมื่อ QR CODE หมดอายุ สามารถลงทะเบียนใหม่โดยง่าย เพียงแค่เรียกข้อมูลจาก เลขบัตรประชาชนหรือหนังสือเดินทางของผู้เข้าเมืองก็ทำการอัพเดตข้อมูลและ QR CODE ได้ทันทีและนำมาแสดงต่อเจ้าหน้าที่ เมื่อต้องการผ่านจุดคัดกรอง ข้อมูลทั้งหมดจะเชื่อมโยงกันหมด จะพบประวัติการเดินทางของผู้เดินทาง ไม่ว่าจะเดินทางผ่านทางบก ทางเรือ หรือทางอากาศ เมื่อพบว่าผู้เดินทางเป็นบุคคลเสี่ยงติดเชื้อไวรัส ก็จะทำให้เจ้าหน้าที่สามารถติดตามคัดกรองบุคคลใกล้ชิดในวันเวลาที่เดินทางไปยังสถานที่ต่าง ๆ ได้ทันที ไม่ต้องรอการอนุมัติ เพียงแค่ลงทะเบียนก็สามารถนำมาแสดงต่อเจ้าหน้าที่ ณ จุดคัดกรองได้ทันที ส่วนผู้ที่ลงทะเบียนก่อนหน้านี้ ใช้ได้ตามปกติ
CR:Facebook สำนักงานฝ่ายประชาสัมพันธ์ จ.ภูเก็ต
เกษตรกร เกือบ 500,000 ราย ยังมีปัญหาโอนเงินเยียวยาไม่ได้
นายกษาปณ์ เงินรวง รองผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หรือ ธ.ก.ส. กล่าวว่า ได้โอนเงินเยียวยาเข้าบัญชีเกษตรกรไปแล้วรวม 7.1 ล้านราย วงเงิน 35,518 ล้านบาท และมีเกษตรกรที่ยังโอนเงินไม่ได้ส่วนหนึ่งมีปัญหาบัญชีธนาคาร 356,080 ราย ซึ่งมีทั้งหมายเลขบัญชีปิดแล้ว แจ้งหมายเลขบัญชีไม่ถูกต้อง และไม่ได้แจ้งหมายเลขบัญชีมาที่ ธ.ก.ส. ซึ่งกระทรวงเกษตรฯ ส่งเจ้าหน้าที่ไปติดตามถึงบ้านของเกษตรกร เพื่อให้เกษตรกรแจ้งเลขบัญชี จากนั้นจะเร่งส่งมาที่ ธ.ก.ส. ส่วนผู้ที่สามารถเข้าระบบออนไลน์ได้ให้แจ้งที่ www. เยียวยาเกษตรกร .com.
ส่วนเกษตรกรอีก 132,905 ราย มีปัญหาด้านทะเบียนราษฎร์จากการตรวจสอบยืนยันตัวตนกับกระทรวงมหาดไทย โดยส่วนหนึ่งเมื่อนำรายชื่อและเลขทะเบียนประจำตัวประชาชน 13 หลักตรวจสอบแล้วพบว่า ชื่อกับเลขประจำตัวประชาชนไม่ตรงกัน มีจำนวนหนึ่งเสียชีวิตแล้ว และอีกจำนวนหนึ่งแจ้งสถานะถูกจำหน่าย ซึ่งตามระบบทะเบียนราษฎร์เกิดขึ้นได้จากหลายกรณี ซึ่งธ.ก.ส.ส่งรายชื่อกลับไปที่กระทรวงเกษตรฯ เพื่อตรวจสอบอีกครั้ง
ส่วนเกษตรกรกลุ่มที่ 3 ซึ่งขึ้นและปรับปรุงทะเบียนระหว่าง 1-15 พ.ค. แต่กระทรวงเกษตรฯ ผ่อนปรนให้เพาะปลูกถึง 30 มิ.ย. เนื่องจาก รอฝน ธ.ก.ส. คาดว่า จะเริ่มโอนเงินตั้งแต่วันที่ 15 ก.ค.
รมว.เกษตรฯ เตรียมเสนอแผนใช้เงินกู้ฟื้นฟูเกษตรชุมชน
นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า สำหรับเกษตรกรที่ไม่ได้รับเงินหรือมีรายชื่อตกหล่น สามารถอุทธรณ์ที่สำนักงานเกษตรอำเภอหรือจุดต่าง ๆ ได้ถึงวันที่ 5 มิ.ย. ซึ่งการจ่ายเงินเยียวยา เป็นมาตรการเบื้องต้นช่วยเกษตรกรก้าวข้ามวิกฤตที่เกิดจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ไปให้ได้ แต่การจะสร้างความเป็นอยู่ที่มั่นคงให้เกษตรกรยังต้องดำเนินมาตรการตามแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจประเทศ ซึ่งกระทรวงเกษตรฯ เร่งเสนอแผนต่อคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ โดยโครงการหนึ่งที่สำคัญ คือ การสร้างแหล่งอาหารให้ชุมชน ได้แก่ การมอบเมล็ดพันธุ์ผัก การปล่อยปลานิล กุ้งก้ามกรามในแหล่งน้ำสาธารณะเพื่อให้เกษตรกรมีอาหารกินได้ตลอดและขายเพื่อเพิ่มรายได้อีกทางหนึ่ง
รองนายกฯ ย้ำสำนักงบฯ เร่งเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบโควิด-19
นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ชี้แจงเรื่องการออกพระราชกำหนด 3 ฉบับ เพื่อแก้ไขและเยียวยาสถานการณ์โควิด-19 ว่า จะมีการหารือเรื่องการจ่ายเงินเยียวยาในระยะสั้น โดยงบประมาณที่มีอยู่ต้องเอามาใช้ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ จึงขอให้ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ ดูแลเรื่องนี้ และเมื่อไม่พอก็ต้องให้สำนักบริหารหนี้สาธารณะเตรียมการกู้ยืม
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า เช่น การเยียวยา อย่างน้อยต้องมีเวลา 3 เดือน เพื่อให้ผู้ได้รับผลกระทบเท่านั้นได้รับการเยียวยา และผู้ที่มีฐานะที่ดีก็ควรจะเกื้อกูลให้กับคนอื่นที่มีฐานะลำบาก แต่ก็ให้หลักการว่าถ้าใครเดือดร้อนก็จะช่วยเต็มที่ แน่นอนว่าประเทศไทยไม่เคยมีเหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้น ในส่วนตัวผ่านช่วงภาวะต้มยำกุ้งมาแล้ว เมื่อเศรษฐกิจมีปัญหา ผลิตไม่ได้ เดินต่อไม่ได้ จะพากันกระทบไปถึงตลาดเงินและตลาดทุนทันที เพราะกิจการส่วนใหญ่ยึดตามตลาดหลักทรัพย์ที่มีความจำเป็น สุดท้ายไปพันกันที่ธนาคาร