ความเคลื่อนไหวเมืองไทยวันนี้ 19.30 น.ประจำวันอาทิตย์ที่ 31 พฤษภาคม 2563
นายกรัฐมนตรี อยากให้วันพรุ่งนี้ เป็นวันดี ดี ผ่อนคลายมาตรการระยะที่ 3 ย้ำต้องรักษาวินัย อย่าให้โควิด-19ระบาดซ้ำ
การผ่อนคลายมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ในระยะ 3 ในวันที่ 1 มิ.ย. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม กล่าวว่า อยากให้คำว่าเริ่มดีเดย์ เป็นวันดีๆไม่ใช่วันที่จะกลับไปอยู่ที่เก่า กลับไปที่เดิม ปล่อยเนื้อปล่อยตัว ปล่อยใจ ไม่ใส่หน้ากากอนามัย ไม่รู้ระยะห่าง ซึ่งเมื่อเช้าเห็นข่าวแล้วไม่สบายใจที่มีคนกลุ่มหนึ่งไปเช่าโรงแรมจัดงานเลี้ยงวันเกิดและมีเรื่องของยาเสพติดด้วย ซึ่งจะทำให้เป็นสถานที่แพร่ระบาดกลับมาอีกครั้งหนึ่ง ถ้าทุกคนไม่รักษาวินัย เพราะถ้าทุกคนไม่รักตัวเอง แต่ขอให้รักครอบครัวและรักประชาชนของเรา
พล.อ.ประยุทธ์ ย้ำว่า สิ่งที่ทำมาไม่ใช่ทำได้โดยรัฐบาลอย่างเดียว ทุกคนต้องร่วมมือกันทำ แต่ถ้ายังมีบางคนไม่ร่วมมือ ก็ไม่รู้ว่าเพราะอะไร อาจจะมองตัวอย่างจากต่างประเทศก็ได้ ซึ่งไม่ใช่วัฒนธรรมของคนไทย จึงอยากให้ใส่หน้ากากทุกคน อย่างน้อยก็เป็นปราการชั้นที่ 1 ทำให้เราไม่ติดการแพร่ระบาด ถ้าเราไม่เป็นก็ไม่แพร่ให้คนอื่น ขอให้จำไว้คนไทยต่อจากนี้ต้องรักตัวเอง รักครอบครัวและรักคนอื่นด้วย ประเทศไทยจะผ่านวิกฤตไปได้ด้วยดี ดังนั้นก็ขอให้วันที่ 1 มิ.ย. เป็นวันดีเดย์ที่ดีๆ
ส่วนการผ่อนคลายมาตรการระยะที่ 4 พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า หลังจากนี้จะเป็นการทยอยผ่อนคลายมาตรการ ซึ่งมีหลายอย่าง เพราะอยากให้ประชาชนมีรายได้ แต่อะไรที่เสี่ยงมากๆ ก็ต้องพิจารณาให้รอบคอบ ส่วนต้องรอ 14 วัน เหมือนหลักการเดิมหรือไม่ ขอให้รอพิจารณาก่อน
ศธ.ให้ขรก.ในสังกัดกลับมาทำงานตามปกติ ตั้งแต่ 1 มิ.ย.
นายณัฎฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการได้ลงนามในประกาศ ศธ. เรื่อง ยกเลิกการปรับลดเวลาและวันทำงานของกระทรวงศึกษาธิการ จากที่ให้ทุกหน่วยงานจัดบุคลากรหมุนเวียนมาปฏิบัติงาน ณ สถานที่ทำงาน จำนวนร้อยละ 50 ของบุคลากรทั้งหมดนั้น
เนื่องด้วยสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในประเทศไทยดีขึ้นตามลำดับ และครม.มีมติให้ผ่อนคลายบางมาตรการเพื่อลดผลกระทบต่อประชาชน ด้านเศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคงมาตามลำดับ จึงให้บุคลากรในสังกัด มาปฏิบัติงาน ณ สถานที่ทำงาน เพื่อเตรียมความพร้อมรองรับเปิดสถานศึกษา โดยให้มาปฏิบัติงาน ณ สถานที่ทำงานตามปกติ ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย.63 เป็นต้นไป
นอกจากนี้ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้ออกประกาศฯ ให้ทุกหน่วยงานในสังกัดมาปฏิบัติงาน ณ สถานที่ทำงานตามปกติ
สบส.วางกฎเข้ม ร้านสปาจะต้องผ่านเกณฑ์ประเมินก่อน เปิดร้านพรุ่งนี้
การเตรียมความพร้อมมาตรการผ่อนคลายระยะที่ 3 ทันตแพทย์อาคม ประดิษฐสุวรรณ รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) เปิดเผยว่า ผู้ประกอบการจะต้องผ่านการประเมินความพร้อมของตนเอง (Self-Assessment) ในการจัดเตรียมสถานที่ อุปกรณ์ในการป้องกัน/ทำความสะอาด ได้แก่ จัดเตรียมหน้ากากผ้าหน้ากากอนามัย เจลแอลกอฮอล์สำหรับล้างมือ อุปกรณ์วัดไข้ น้ำยาฆ่าเชื้อเพื่อทำความสะอาดพื้นผิวจุดสัมผัสต่าง ๆ ภายในสถานบริการ รวมทั้งการจัดเก็บขยะมูลฝอยให้ถูกสุขลักษณะ
ในการให้บริการ ต้องมีพนักงานต้อนรับ สอบถามประวัติ บันทึกข้อมูลผู้รับบริการ ตลอดจนติดตามควบคุมดูแลการให้บริการ ให้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด โดยจัดระยะห่างของเก้าอี้นวดอย่างน้อย 1.5 เมตร ห้องบริการนวด 1 คนต่อห้อง ให้บริการได้ครั้งละไม่เกิน 1 ชั่วโมง สถานที่เก็บเสื้อผ้าและอุปกรณ์มิดชิด มีช่องทางชำระเงินที่ปลอดภัยเน้นผ่านระบบออนไลน์ จัดระบบระบายอากาศให้ไหลเวียนถ่ายเทได้ดี เมื่อเสร็จสิ้นการให้บริการแม่บ้านจะต้องเก็บผ้าปูเตียง ปลอกหมอน ผ้าขนหนู ด้วยการม้วนออกจากตนเองห้ามสะบัดเพื่อไม่ให้เกิดการฟุ้งกระจายของฝุ่นหรือละอองฝอยได้
สำหรับผู้รับบริการจะต้องผ่านการคัดกรองทุกครั้งที่เข้ารับบริการ ต้องไม่มีไข้ สวมใส่หน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัยตลอดเวลาที่รับบริการ ล้างมือด้วยสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์ทั้งก่อนและหลังรับบริการ ส่วนผู้ให้บริการ ต้องคัดกรองทุกวันก่อนเข้าทำงาน หากพบมีไข้ต้องหยุดปฏิบัติงานและไปพบแพทย์ ส่วนข้อห่วงใยเรื่องพนักงานนวดไทยที่กลับจากต่างประเทศนั้น ทุกคนจะต้องเข้ากระบวนการกักตัวสังเกตอาการตามที่รัฐกำหนด เมื่อครบ 14 วันตรวจไม่พบเชื้อโควิด-19 หากจะมาทำงานในสถานประกอบการจะต้องผ่านการตรวจสุขภาพตามข้อกำหนด สำหรับร้านนวดเพื่อสุขภาพ นวดเสริมความงาม และสปา ที่ขึ้นทะเบียนมีกว่า 10,500 แห่ง แยกเป็นร้านนวดเพื่อสุขภาพ 9,400 แห่ง นวดเสริมความงาม 200 แห่ง และสปาอีก 900 แห่ง
ด้าน ดร.สุวภรณ์ แนวจำปา ผู้อำนวยการสถานประกอบการเพื่อสุขภาพ กล่าวว่า ผู้ประกอบการร้านนวดและสปาต้องลงทะเบียนเพื่อเข้าสู่ระบบการประเมินตนเอง ของสถานประกอบการเพื่อสุขภาพในการป้องกันและควบคุมการระบาดของโควิด-19 ให้ครบทุกข้อ จากนั้นเจ้าหน้าที่จะตรวจสอบว่าผ่านตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดหรือไม่ เมื่อเป็นไปตามเกณฑ์แล้วจะถือว่าได้รับการอนุญาตให้เปิดบริการ โดยผู้ประกอบการต้องพิมพ์ใบรับรองการผ่านประเมิน (e-certificate) และพิมพ์ QR Code เพื่อให้ผู้รับบริการลงทะเบียนเพื่อประเมินการใช้งานด้วย รวมทั้งจะต้องลงทะเบียนในเว็บไซต์ไทยชนะ.คอมเพื่อติดตามการรับบริการของประชาชนต่อไป โดยทุกสัปดาห์สถานประกอบการแต่ละแห่งต้องส่งรายงานผลการปฏิบัติงานตามแบบฟอร์มออนไลน์ และจะมีการสุ่มตรวจจากเจ้าหน้าที่ สบส.และเจ้าหน้าที่จากสาธารณสุขจังหวัดเพื่อรักษามาตรฐานการให้บริการ
ขสมก.ปรับเวลาให้บริการ คาดผู้ใช้บริการเพิ่มขึ้นวันละ20,000-30,000 คน
นายสุระชัย เอี่ยมวชิรสกุล ผู้อำนวยการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) เปิดเผยว่า หลังมาตรการคลายล็อกกลุ่มกิจการและกิจกรรมระยะที่ 3 รวมถึงการลดช่วงเวลาเคอร์ฟิวอีก 1 ชั่วโมง จากเดิม 23.00 - 04.00 น. เป็น 23.00 - 03.00 น.
นอกจากนี้ได้อนุญาตให้กลุ่มกิจกรรม จำนวน 2 กลุ่ม คือ กิจกรรมด้านเศรษฐกิจและการดำเนินชีวิต อาทิ ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การแสดงสินค้า เปิดให้บริการได้ถึง 21.00 น. ส่วนกิจกรรมด้านการออกกำลังกาย การดูแลสุขภาพและสันทนาการ อาทิ สถานเสริมความงาม สปา และโรงภาพยนตร์ สามารถเปิดให้บริการได้ แต่ต้องปฏิบัติตามมาตรการที่กำหนด โดยคาดว่าเมื่อดำเนินการตามมาตรการคลายล็อกดังกล่าว จะส่งผลทำให้ มีผู้ใช้บริการเพิ่มขึ้นอีก วันละประมาณ 20,000 - 30,000 คน หรือวันละประมาณ 620,000 - 630,000 คน
ขสมก.จึงจัดแผนเดินรถโดยสาร ในช่วงมาตรการคลายล็อกระยะที่ 3 ดังนี้
1. จัดรถออกวิ่ง 95 % (2,855 คัน/วัน) หรือจัดรถออกวิ่งให้สอดคล้องกับความต้องการใช้บริการของประชาชนในแต่ละช่วงเวลา
2. ปรับเวลาการให้บริการเดินรถโดยสาร จากเวลา 05.00 - 22.00 น. (เวลา 22.00 น. คือเวลาที่รถโดยสารกลับถึงอู่จอดรถ) เป็นให้บริการ เวลา 04.00 - 22.00 น.(เวลา 22.00 น. คือเวลาที่รถโดยสารกลับถึงอู่จอดรถ) โดยเพิ่มความถี่ในการปล่อยรถ ช่วงเวลาเร่งด่วนเช้า (04.00 - 08.00 น.) และช่วงเวลาก่อนเคอร์ฟิว (21.00 - 22.00 น.) ให้มีระยะห่างกันไม่เกิน 5 - 10 นาที
3.ปล่อยรถโดยสารคันสุดท้าย ออกจากท่าปลายทางประมาณ 21.00 น. เพื่อให้พนักงานสามารถนำรถกลับเข้าอู่จอดรถได้ทันเวลา 22.00 น. โดยปรับเพิ่มความถี่ในช่วงการปล่อยรถ 3 คันสุดท้าย ให้มีระยะห่างกัน 5 - 10 นาที ซึ่งรถโดยสาร 3 คันสุดท้าย จะติดป้ายข้อความบ่งชี้บริเวณหน้ารถโดยสาร ดังนี้
3.1 เหลือรถ 2 คันสุดท้าย
3.2 เหลือรถ 1 คันสุดท้าย
3.3 รถคันสุดท้าย
ขอความร่วมมือผู้ใช้บริการปฏิบัติตามมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) อย่างเคร่งครัด ได้แก่ การสวมหน้ากากอนามัยทุกครั้งขณะใช้บริการรถโดยสาร การนั่งหรือยืนตามจุดที่กำหนด (รถโดยสาร 1 คัน อนุญาตให้ผู้ใช้บริการยืนได้ไม่เกิน 10 คน) กรณีผู้ใช้บริการเต็มจะต้องรอใช้บริการรถโดยสารคันถัดไป รวมทั้ง ขอความร่วมมือผู้ใช้บริการ เตรียมตัวกลับบ้านก่อนเวลา 19.00 น. เพื่อลดความแออัดของผู้ใช้บริการบนรถโดยสารในช่วงเวลาก่อนเคอร์ฟิว (21.00 - 22.00 น.) ซึ่งจะทำให้การดำเนินการตามมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคมบนรถโดยสารเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
อดีตประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการบินไทย ย้ำ บอร์ดลดเงินต่ออีก 1 เดือนมีปัญหาข้อกฎหมายแน่
สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 และอยู่ระหว่างการฟื้นฟูกิจการของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ล่าสุด การบินไทย ได้ออกประกาศเรื่องการจ่ายเงินเดือนรวมค่าตอบแทนรายเดือนระหว่างวันที่ 1 มิถุนายนถึงวันที่ 31 สิงหาคม 2563 เอกสารระบุว่า จากการประชุมบอร์ดนัดพิเศษเมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม ที่ประชุมได้มีมติอนุมัติการจ่ายเงินเดือนและค่าตอบแทนรายเดือน โดยให้พนักงานสมัครใจตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายนถึง 31 สิงหาคม หากเป็นพนักงานระดับผู้อำนวยการใหญ่หรือกรรมการผู้จัดการบริษัทจะจ่ายเงินเดือนและค่าตอบแทนรายเดือนให้ร้อยละ 60 ระดับรองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่บริษัทจ่ายเงินเดือนและค่าตอบแทนรายเดือนให้ร้อยละ 50 ส่วนพนักงานส่วนอื่น ๆ บริษัทจะจ่ายเงินเดือนและค่าตอบแทนรายเดือนในอัตราลดแบบขั้นบันไดตามประกาศของบริษัทฯ
นายนเรศ ผึ้งแย้ม อดีตประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการบินไทย เปิดเผยว่า การที่บอร์ดอนุมัติขยายเวลาการลดเงินเดือนต่อไปอีก 1 เดือน หากพิจารณาในประเด็นข้อกฎหมายอาจมีปัญหาตามมาอย่างแน่นอน การตั้งข้อสังเกตว่าเมื่อการบินไทยเป็นบริษัทเอกชนแล้วในวันนี้อำนาจของบอร์ดการบินไทยตามมาตรา 13(2) ตาม พ.ร.บ.แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ 2543 จะยังคงมีอยู่ต่อไปหรือไม่ และผู้ที่ลงนามในคำสั่งขอขยายเวลาปรับลดเงินเดือนมีความทับซ้อนในการปฏิบัติหน้าที่อยู่หลายตำแหน่ง เพราะเป็นตำแหน่งผู้บริหารสูงสุดตามโครงสร้างการบริหารงานตามระเบียบบริษัท และยังมีสถานะที่ถูกเสนอชื่อไปยังศาลล้มละลายกลางให้เป็นหนึ่งในผู้บริหารแผนฟื้นฟู รวมถึงยังมีสถานะเป็นรองปลัดกระทรวงการคลัง ซึ่งมีสถานะเป็นเจ้าหนี้ของการบินไทย
ผู้นำสหรัฐฯเลื่อนการประชุม G7เป็นเดือนกันยายนนี้
ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐฯจะเลื่อนการประชุมกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำ หรือ G7 ออกไปเป็นเดือนก.ย.จากเดิมที่กำหนดไว้ว่าจะจัดการประชุมในเดือนมิ.ย.รวมทั้งยังต้องการเชิญรัสเซีย เกาหลีใต้ อินเดีย และออสเตรเลีย เข้าร่วมการประชุมด้วย เพราะมองว่า กลุ่มประเทศสมาชิก G7 ในปัจจุบันนั้นเป็นกลุ่มประเทศที่ "ล้าสมัยมาก" ไม่สะท้อนสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในโลกนี้ได้อย่างเหมาะสม ส่วนจุดประสงค์ที่ต้องการเชิญพันธมิตรรายอื่นๆ มาเข้าร่วมการประชุมด้วยคือ เพื่อหารือเกี่ยวกับอนาคตของจีน
การประกาศเลื่อนจัด G7 ของนายทรัมป์มีขึ้น หลังจากที่ประสบปัญหาการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้นายกรัฐมนตรีอังเกลา แมร์เคิล ของเยอรมนี ปฏิเสธคำเชิญร่วมประชุม
จากเดิมแผนจัดประชุมผู้นำกลุ่ม G7 จะมีขึ้นในระหว่างวันที่ 10-12 มิ.ย.นี้ ที่แคมป์เดวิด ซึ่งเป็นสถานที่พักผ่อนของประธานาธิบดีสหรัฐฯ ใกล้กับกรุงวอชิงตัน แต่สถานการณ์การระบาดที่รุนแรงขึ้นเมื่อเดือนมี.ค.ทำให้ทำเนียบขาวประกาศจัดการประชุมในรูปแบบวีดิโอคอนเฟอเรนซ์แทน
คำประกาศของนายทรัมป์มีขึ้นในช่วงเวลาที่เกิดเหตุการณ์ประท้วงในหลายเมืองทั่วสหรัฐฯ สืบเนื่องจากกรณีตำรวจสังหารชายผิวสีในเมืองมินนีแอโพลิส เมื่อวันจันทร์
ยอดผู้ป่วยโควิด-19 ในรัสเซีย วันเดียวพุ่งกว่า 9,000คน
รัสเซียพบผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) เพิ่ม 9,268 คน ในช่วง 24 ชม. ส่งผลให้ยอดผู้ติดเชื้อสะสมอยู่ที่ 405,843 คน ส่วนยอดผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 138 ราย ทำให้ยอดผู้เสียชีวิตสะสมอยู่ที่ 4,693 ราย ส่วนผู้ที่ได้รับการรักษาหายอยู่ที่ 171,883 คน ซึ่งเพิ่มขึ้น 4,414 คนในรอบ 24 ชม.
กรุงมอสโก เป็นพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดมากที่สุดในประเทศ พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 2,595 คน ทำให้ยอดรวมผู้ติดเชื้อในกรุงมอสโกอยู่ที่ 180,791 คน