กรมสุขภาพจิต แนะใช้วัคซีนใจในครอบครัวแก้ปัญหาความเครียดจากโควิด-19

30 พฤษภาคม 2563, 15:41น.


          กรมสุขภาพจิตแนะนำ “วัคซีนใจในครอบครัว” เพื่อลดปัญหาจากสถานการณ์โรคโควิด-19 เพื่อปกป้องเยาวชนให้ห่างไกลความเครียดจากการกักตัว ความวิตกกังวลเกี่ยวกับการเรียน และความกลัวว่าจะติดเชื้อ



          พญ.มธุรดา สุวรรณโพธิ์ ผู้อำนวยการสถาบันราชานุกูล กล่าวว่า สถานการณ์โรคโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของทุกคน ทั้งผู้ใหญ่และเด็กที่ต้องเก็บตัวอยู่กับบ้าน นอกจากนี้การเปลี่ยนแปลงรูปแบบการเรียนยังสร้างความกังวลในหลายมิติ ซึ่งจากการสำรวจเด็กและครอบครัวจำนวน 6,000 ครอบครัวในสหรัฐอเมริกา และในยุโรป พบว่า เด็กร้อยละ 76 รู้สึกวิตกกังวล ทั้งความกังวลเกี่ยวกับการเรียน ความกลัวคนรอบข้างและตนเองจะติดเชื้อ นอกจากนี้การใช้การศึกษาออนไลน์มาเป็นทางเลือกของการจัดการเรียนการสอน ทำให้ขาดพัฒนาการทางสังคมตามช่วงวัย ซึ่งมีผลอย่างมากต่อเด็กในกลุ่มเปราะบาง และกลุ่มเด็กด้อยโอกาส



          จากการสำรวจที่ทำโดยองค์การยูนิเซฟ ร่วมกับสภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย ในโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ และกองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ เก็บข้อมูลผ่านแบบสอบถามออนไลน์วันที่ 27 มีนาคม ถึง 6 เมษายน จากเด็กและเยาวชนอายุ 6 ปี ถึง 25 ปี จำนวน 6,771 คนทั่วประเทศ พบว่ามีผลกระทบเกิดขึ้นกับเด็กทุกกลุ่ม แต่มีความรุนแรงเป็นพิเศษต่อนักเรียนในกลุ่มยากจน ครอบครัวเปราะบาง มีปัญหาความรุนแรง ยาเสพติด นักเรียนกลุ่มการศึกษาพิเศษ นักเรียนผู้พิการ ผู้มีความบกพร่องทางการเรียนรู้ในด้านต่างๆ ที่ต้องการการดูแลจากครูอย่างใกล้ชิด



          สาเหตุความวิตกกังวลในเด็กและเยาวชนไทยส่วนใหญ่มีสาเหตุมาจากเรื่องสถานะการเงินของครอบครัว โอกาสในการเรียน และกังวลเรื่องการติดเชื้อไวรัส อีกทั้งความเสี่ยงต่อการถูกทารุณกรรม ทำร้ายร่างกาย เนื่องจากครอบครัวได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจ ทำให้ผู้ปกครองมีความเครียดสูงขึ้น ร่วมกับการอยู่บ้านด้วยกันเป็นระยะเวลานาน ทำให้โอกาสที่ผู้ปกครองหรือผู้ใหญ่ในบ้านจะใช้อารมณ์ในการลงโทษเด็กอย่างรุนแรงเพิ่มสูงขึ้นได้



          อีกประการหนึ่งคือ เด็กๆจะเข้าสู่สังคมออนไลน์มากขึ้น มีความเสี่ยงในการถูกชักจูง ล่อลวงจากผู้ไม่หวังดีที่แฝงมาในสังคมออนไลน์ได้เพิ่มมากขึ้น



          พญ.มธุรดา กล่าวต่ออีกว่า การดูแลสุขภาพจิตเด็กและเยาวชนทำได้โดยใช้แนวทาง “วัคซีนใจในครอบครัว” เมื่อวัคซีนครอบครัวพร้อมก็จะเปรียบเสมือนร่างกายที่มีภูมิคุ้มกัน ถึงแม้จะเจอวิกฤต ซึ่งเปรียบเสมือนเชื้อโรค อาการจะไม่รุนแรงและกลับมาทำหน้าที่ได้อย่างเดิม ผลกระทบกับลูกหรือเด็กๆก็จะมีน้อยหรือไม่มีเลย วัคซีนใจในครอบครัว เริ่มต้นที่ ครอบครัวต้องมีพลังบวก ครอบครัวที่มองบวกจะมองเห็นทางออกในทุกปัญหา แม้ในภาวะวิกฤต เมื่อเห็นทางออกแล้วครอบครัวต้องอาศัย พลังยืดหยุ่นเพื่อให้สามารถปรับเปลี่ยนบทบาท ทำหน้าที่ทดแทนกัน ช่วยกันแบ่งเบาภาระที่เกิดขึ้นและนำไปสู่การปรับตัวภายใต้ชีวิตวิถีใหม่และพลังร่วมมือ ทำให้ครอบครัวปรองดองเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันในการฝ่าฟันอุปสรรคต่างๆไปได้ในที่สุด



....

ข่าวทั้งหมด

X