นพ.มานัส โพธาภรณ์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า องค์การอนามัยโลกได้กำหนดให้ วันที่ 31 พฤษภาคม ของทุกปี เป็นวันงดสูบบุหรี่โลก เนื่องจากการสูบบุหรี่ในปัจจุบันเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญ ทั่วโลกมีผู้สูบบุหรี่เพิ่มขึ้นจำนวนมากกว่า 1 พัน 6 ร้อย 80 ล้านคน อัตราการเสียชีวิตจากโรคที่เกี่ยวข้องกับบุหรี่เพิ่มขึ้นเป็น 10 ล้านคน นอกจากนี้ประเทศไทยและทั่วโลก กำลังมีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ผู้ที่มีประวัติการสูบบุหรี่จะมีอาการรุนแรงกว่าผู้ที่ไม่สูบบุหรี่ถึง 14 เท่า และอาจเสียชีวิตได้ เพราะการสูบบุหรี่เป็นการทำลายระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ทำให้กระบวนการกำจัดสิ่งแปลกปลอมและเชื้อโรคหลุดเข้ามาที่ปอดแย่ลง เมื่อมีการติดเชื้อ ปอดของผู้สูบบุหรี่จะเกิดการอักเสบที่รุนแรงกว่าผู้ที่ไม่สูบบุหรี่ การเลิกสูบบุหรี่จึงเป็นการช่วยลดการอักเสบและยับยั้งการถูกทำลายของเซลล์ปอด ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายดีขึ้น นอกจากนี้การเลิกสูบบุหรี่ยังเป็นการลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น และมีการกำหนดประเด็นการรณรงค์ว่า “ติดบุหรี่ ติดโควิด เสี่ยงตายสูง” #เลิกสูบลดเสี่ยง
นพ.สรายุทธ์ บุญชัยพานิชวัฒนา ผู้อำนวยการสถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี กล่าวเพิ่มเติมว่า สถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี (สบยช.) มีภารกิจหลักในการบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาและสารเสพติดทุกประเภท ซึ่งการเลิกบุหรี่มีหลายวิธีขึ้นอยู่กับระดับการติดนิโคตินและความตั้งใจที่จะเลิก มีทั้งการรักษาด้วยบุคลากรวิชาชีพสุขภาพ โดยให้คำปรึกษาเป็นรายบุคคลร่วมกับใช้ยาช่วยเลิกบุหรี่ เช่น หมากฝรั่งนิโคติน แผ่นแปะนิโคติน ยารับประทาน สมุนไพรและทางเลือกอื่นๆ ในส่วนผู้ที่ติดบุหรี่ที่มีระดับการติดนิโคตินต่ำ สามารถเลิกได้ด้วยตนเอง เช่น การหักดิบ ออกกำลังกาย ใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่น เช่น ดื่มน้ำ อมมะนาว เป็นต้น หากประสบปัญหาเกี่ยวกับการเลิกบุหรี่ สามารถขอรับคำปรึกษาได้ที่ สายด่วนยาเสพติด 1165 หรือที่สถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี กรมการแพทย์ จังหวัดปทุมธานี สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.pmindat.go.th
สถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี