คณะกรรมการกฤษฎีกา ชี้แจงรายละเอียด พ.ร.ก.กู้เงิน
การประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณาพระราชกำหนดกู้เงิน 3 ฉบับ วงเงิน1.9 ล้านล้านบาท นายปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ในฐานะคณะกรรมการกลั่นกรองโครงการตามพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากโรคโควิด-19 ชี้แจงข้อทักท้วงของส.ส.ที่มองว่าการตรา พ.ร.ก.กู้เงิน ต้องยึดกรอบ มาตรา 53 ของพระราชบัญญัติว่าด้วยวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561 และแจกแจงรายละเอียดตามที่พ.ร.บ.ดังกล่าวกำหนดว่าการตรา พ.ร.ก.กู้เงินอาศัยอำนาจของกฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลัง ตราขึ้นด้วยเหตุผลสำคัญคือ
-เป็นกรณีที่มีความจำเป็นเร่งด่วนและต้องทำต่อเนื่องเพื่อแก้วิกฤตของประเทศ
-ไม่สามารถตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีได้ทัน เพราะสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ถือเป็นโรคอุบัติใหม่ และมีผลกระทบไปทั่วโลก
-โรคโควิด-19 เกิดขึ้น ในระหว่างที่ไม่มีการประชุมสภาฯ
คลัง เร่งออกมาตรการเพิ่ม ช่วยเอสเอ็มอี ที่เข้าไม่ถึงแหล่งเงิน
นายอุตตม สาวนายน รมว.การคลัง ชี้แจงเรื่องการดูแลผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม(เอสเอ็มอี) ว่า ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี มีความหลากหลายทั้งในเรื่องธุรกิจที่ทำ โครงสร้างของธุรกิจ คือมีการจดทะเบียนแล้วและที่เพิ่งเริ่มไม่ว่าจะเป็นวิสาหกิจชุมชน หรือการเพิ่งเริ่มตั้งกลุ่ม ยังไม่ได้มีการจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล ก็ถือเป็นเอสเอ็มอี เช่นกัน เมื่อโรคโควิด-19 ส่งผลต่อเศรษฐกิจ ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ถูกกระทบรุนแรงโดยเฉพาะเรื่องเงินทุน ทำอย่างไรจะมีเงินทุนเพื่อสามารถอยู่ได้ในช่วงนี้ กระทรวงการคลังและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะเร่งกำหนดมาตรการออกมา โดยเฉพาะการช่วยเหลือกลุ่มเอสเอ็มอี ที่ยังเข้าไม่ถึงแหล่งเงินจากธนาคารพาณิชย์เต็มที่
ด้านนายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ชี้แจงเรื่องพ.ร.ก.ปล่อยสินเชื่อซอฟท์โลน 500,000 ล้านบาท ให้เอสเอ็มอี ว่าผู้ประกอบการรายย่อยที่ได้รับความช่วยเหลือแล้ว 35,217 ราย วงเงินอนุมัติเฉลี่ย 1.65 ล้านบาทต่อราย รวมวงเงิน 58,208 ล้านบาท โดยร้อยละ51 เป็นธุรกิจขนาดเล็ก ที่วงเงินไม่เกิน 5 ล้านบาท จากการตรวจสอบพบว่า ร้อยละ 70 เป็นลูกหนี้กลุ่มที่มีความเสี่ยงปานกลางและค่อนข้างสูง ร้อยละ 71 เป็นลูกหนี้ในต่างจังหวัด ขณะที่ ลูกค้าที่ไม่เคยกู้เงินกับสถาบันการเงินมาก่อน ธนาคารของรัฐ และธนาคารกรุงไทย มีโครงการสินเชื่อให้อีก 40 โครงการเพื่อช่วยเหลือ
ศบค. เตรียมตรวจกลุ่มเสี่ยงเพิ่ม หลังพบป่วยไม่มีอาการ
นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. แถลงว่า ผู้ป่วยโรคโควิด-19 ในไทยที่อายุน้อยที่สุดคือ 1 เดือน สูงที่สุดคือ 97 ปี มีอายุเฉลี่ย 39 ปี เป็นผู้ป่วยในสถานกักกันโรครวม 128 คน เป็นชายมากกว่าหญิง สัญชาติไทย ร้อยละ 98.44 สหรัฐฯ ร้อยละ 0.78 และอังกฤษ ร้อยละ 0.78
จำนวนผู้ป่วยสะสมทั้งหมด 3,065 คน แบ่งเป็นมีประวัติติดเชื้อจากต่างประเทศ 621 คน คิดเป็นร้อยละ 20.26 ติดเชื้อภายในประเทศ 2,444 คน คิดเป็นร้อยละ 79.74
นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า ที่ประชุม ศบค.หารือกรณีผู้ป่วยที่เดินทางมาจากต่างประเทศบางคนไม่มีอาการ ซึ่งการที่จะทำให้มั่นใจว่าไม่มีผู้ติดเชื้อในประเทศ จะต้องมีการตรวจเพิ่มเติม และค้นหาในประชาชนกลุ่มเสี่ยง ทั้งบุคลากรทางการแพทย์ ผู้ต้องขังแรกรับ กลุ่มอาชีพที่พบปะผู้คนจำนวนมาก และอื่น ๆ ตามที่คณะกรรมการตรวจสอบโรคจะพิจารณา เช่น เจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมือง คนในโรงงาน เจ้าหน้าที่เรือนจำและศูนย์พักพิง
ศาลอุทธรณ์ ตัดสินคดี ‘พีทแผงแตก’ ปรับ 62,000 บาท โทษจำคุก 2ปี 15 วัน ให้รอลงอาญา
การพิจารณาคดีของนายธนวรรน์ คำแหงพล อายุ 37 ปี พ่อค้าขายลอตเตอรี่ ที่เคยเป็นคดีดัง จากเหตุการณ์ “พีทลวงโลก หรือ พีทแผงแตก” ในชั้นศาลอุทธรณ์ ศาล จ.สมุทรสาคร ศาลชั้นต้น มีคำพิพากษาว่ามีความผิดใน 3 ข้อหา ประกอบด้วย
1. ขายสลากกินแบ่งรัฐบาล เกินราคา จำคุก 1 เดือน ปรับ 2,000 บาท แต่ให้การรับสารภาพ ศาลลดโทษจำคุกให้กึ่งหนึ่งเหลือ จำคุก 15 วัน ปรับ 2,000 บาท
2. ข้อหาปลอมและใช้เอกสารปลอม ศาลพิพากษาจำคุกข้อหาใช้เอกสารปลอม จำคุก 1 ปี
3. ความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ศาลจำคุก 1 ปี รวมเป็น 2 ปี 15 วัน
ยกฟ้องข้อหาฉ้อโกงประชาชน ผู้ต้องหาขอประกันตัว ออกมาสู้คดีในชั้นศาลอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์มีคำตัดสิน ยืนตามศาลชั้นต้น คือ มีโทษทั้งจำและปรับ สำหรับโทษปรับ ศาลอุทธรณ์พิจารณาแล้วได้สั่งปรับเป็นเงิน 62,000 บาท ส่วนโทษจำคุก 2 ปี 15 วัน ให้รอลงอาญาไว้ก่อน เนื่องจากศาลเห็นว่า จำเลยรับสารภาพโดยไม่มีใครบังคับให้เปิดเผยความจริง จึงเห็นสมควรว่าโทษจำให้รอลงอาญาไว้ก่อน แต่จำเลยต้องไปแสดงตนต่อสำนักงานคุมประพฤติจังหวัดสมุทรสาคร และให้บำเพ็ญประโยชน์ 8 ครั้ง ภายในเวลา 1 ปี
นายธนวรรน์ กล่าวว่า หลังจากฟังคำตัดสินของศาลอุทธรณ์แล้ว ตนเองและครอบครัวรู้สึกโล่งใจและดีใจเป็นอย่างมาก ซึ่งในส่วนของโทษปรับได้ดำเนินการเป็นที่เรียบร้อยแล้ว คงเหลือที่จะต้องไปรายงานตัวกับสำนักงานคุมประพฤติจังหวัดและบำเพ็ญประโยชน์ตามคำสั่งศาล หลังจากนี้ตนเองก็จะเดินหน้าขายสลากกินแบ่งรัฐบาลต่อไป โดยจะไม่หวนกลับไปสร้างเรื่องแบบที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วอย่างแน่นอน เหตุการณ์ครั้งนี้ถือเป็นบทเรียนราคาแพงของตนอย่างมาก โดยเฉพาะในเรื่องของการโพสต์สิ่งต่างๆลงโซเชียล
แฟ้มภาพ