ความเคลื่อนไหวเมืองไทยวันนี้ 12.30 น. วันพฤหัสบดีที่ 28 พฤษภาคม 2563

28 พฤษภาคม 2563, 13:50น.


สศช.คาดพิษโควิด-19 ทำคนไทยตกงานราว 2 ล้านคน



          นายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยรายงานภาวะสังคมไทย ไตรมาสหนึ่ง ปี 2563 จากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19



-ผลกระทบต่อการจ้างงาน คาดการณ์ว่า แรงงานมีความเสี่ยงที่จะถูกเลิกจ้าง 8.4 ล้านคน แบ่งเป็นแรงงาน 3 กลุ่ม คือแรงงานในภาคการท่องเที่ยวประมาณ 2.5 ล้านคน แรงงานภาคอุตสาหกรรม 1.5ล้านคน และแรงงานในภาคบริการอื่นๆที่ไม่ใช่ภาคการท่องเที่ยว 4.4 ล้านคน  คาดว่า ผลกระทบจากโรคโควิด-19 จะชัดเจนมากขึ้นช่วงครึ่งหลังของปี รวมตลอดทั้งปี จะมีผู้ว่างงาน ราว 2 ล้านคน  แต่เมื่อสถานการณ์ควบคุมได้ เริ่มผ่อนคลายมาตรการทำให้ระบบเศรษฐกิจบางประเภทเปิดดำเนินการได้ และรัฐบาลมีแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจ  รวมถึงพระราชกำหนด(พ.ร.ก.) เงินกู้ 4 แสนล้านบาท นำมาใช้จะช่วยจ้างงานคนกลุ่มนี้ได้มากขึ้น ราว 200,000 - 300,000 ตำแหน่ง ต้องกลับมาดูตัวเลขไตรมาส ต่อไป 



         ช่วงเดือนพ.ค.-ก.ค.คาดว่า จะมีแรงงานจบใหม่เข้าสู่ตลาดแรงงานประมาณ 520,000 คน ซึ่งอาจไม่มีตำแหน่งงานรองรับ จึงจำเป็นต้องมีมาตรการสร้างงานและจ้างงานเพื่อรองรับกลุ่มเสี่ยง แต่เชื่อว่ากลุ่มแรงงานจบใหม่มีทักษะด้านดิจิทัล จะสามารถทำให้หางานไม่ยาก เนื่องจากช่วงโควิด-19 ทำให้มีการปรับเปลี่ยนการทำงานผ่านออนไลน์และดิจิทัลมากขึ้น



-ขณะที่ พฤติกรรมการใช้จ่ายเงินของครัวเรือนไทย ยังพบครัวเรือนส่วนใหญ่ยังคงซื้อสินค้าที่จำเป็นต่อการอุปโภค-บริโภค แต่เมื่อเทียบกับกลุ่มจบใหม่ และเริ่มทำงาน พบว่า รายได้ไม่เพียงพอรายจ่าย เน้นจ่ายเงิน ไปกับการท่องเที่ยว ดูแลความสวยความงาม ดื่มและมีแนวโน้มคลั่งไคล้การช้อปปิ้ง ซึ่งเป็นจุดที่น่าเป็นห่วงเพราะส่วนใหญ่ฟุ่มเฟือย ไม่สนใจการออม พฤติกรรมก่อหนี้ซ้ำนำไปปิดบัญชีอื่น นำเงินกู้ไปใช้จ่ายไม่ตรงวัตถุประสงค์  ควรให้การศึกษาและการบริหารเงินเพิ่มขึ้นกับคนกลุ่มนี้



         การถอดบทเรียนจากวิกฤตโรคโควิด-19 ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจลดลง กระทบต่อการจ้างงาน วิถีชีวิตที่ต้องปรับเปลี่ยน ทุกอย่างเน้นการใช้ออนไลน์มากขึ้น ทั้งการซื้อของ การทำงาน แต่ข้อดี คือ การติดต่อที่รวดเร็วขึ้น การทำงานเร็วขึ้น แต่ก็ส่งผลต่อสุขภาพจิตและปัญหาครอบครัว เพราะรายได้ที่ลดลง การกักตัวอยู่บ้าน ส่วนคุณภาพสิ่งแวดล้อม หลายคนอาจจะเห็นสิ่งแวดล้อมถูกฟื้นฟูมากขึ้น แต่ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้น คือขยะทางการแพทย์ และขยะพลาสติกจากโฮมเดลิเวอรี่



         นอกจากนี้ที่น่าห่วงคือการออกนอกระบบการศึกษา ของกลุ่มเยาวชน 15-24 ปี ไม่ได้เรียนต่อและไม่มีงานทำจะเพิ่มสูงขึ้นถึง1.2 ล้านคน หวังว่าปัญหาเหล่านี้จะได้รับการแก้ไข และการออก พ.ร.ก.เงินกู้ 1ล้านล้านบาท จะมีช่วยสร้างงานให้คนกลุ่มนี้ด้วย



แฟ้มภาพ 



ยูนิเซฟ ห่วงเด็ก 86 ล้านคนทั่วโลก ลำบากมากขึ้น



         นางเฮนเรียตตา เอช. ฟอร์ กรรมการบริหารของกองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ(ยูนิเซฟ)เปิดเผยผลการศึกษาร่วมกันระหว่างองค์กรพิทักษ์เด็กของอังกฤษกับยูนิเซฟ ชี้ว่า ผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในปัจจุบันจะทำให้เด็ก 86 ล้านคนทั่วโลกมีสภาพความเป็นอยู่ที่ลำบากมากขึ้นในปลายปีนี้ ส่งผลให้ตัวเลขรวมของกลุ่มเด็กที่มีฐานะยากจนทั่วโลกจากเรื่องโควิด-19 และเรื่องอื่นๆเพิ่มขึ้นเป็น 672 ล้านคน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 15 จากปีก่อน ส่วนใหญ่อยู่ในแถบทะเลทรายซาฮาราในทวีปแอฟริกาและเอเชียใต้



         ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในปัจจุบันจะสร้างความเดือดร้อนทางการเงินสำหรับครัวเรือนทั่วโลกไปอีกหลายปี กระทบความพยายามของภาครัฐในการแก้ปัญหาความยากจนในช่วงหลายปีที่ผ่านมา และอาจจะส่งผลให้เด็กจำนวนมากไม่มีโอกาสไปโรงเรียน แต่ในระยะสั้น เด็กๆกลุ่มนี้จะประสบปัญหาเรื่องความอดยาก ซึ่งอาจจะมีผลกระทบต่ออนาคตของพวกเขาไปตลอดชีวิต ทั้งสององค์กรจึงขอให้ภาครัฐขยายระบบประกันสังคมให้กว้างมากขึ้น เพื่อให้ประชาชนจากทุกภาคส่วนของสังคมได้รับการช่วยเหลือจากภาครัฐ พร้อมเสนอแนะให้รัฐจัดโครงการเลี้ยงอาหารในโรงเรียน เพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อนทางเศรษฐกิจให้กับเด็กๆ การการศึกษาในครั้งนี้ใช้ข้อมูลการคาดการณ์ทางเศรษฐกิจจากธนาคารกลางโลกและกองทุนการเงินระหว่างประเทศ(ไอเอ็มเอฟ)และข้อมูลสํามะโนประชากรจากประเทศต่างๆ 100 แห่งทั่วโลก



เตือนทวีปอเมริกาศูนย์กลางแพร่เชื้อ



         นางแคริสสา เอเทียน ผู้อำนวยการขององค์การอนามัยโลก(WHO) ประจำทวีปอเมริกาและเป็นผู้อำนวยการขององค์การสาธารณสุขแพนอเมริกา กล่าวระหว่างประชุมผ่านวีดิโอคอนเฟอเรนซ์ว่า ขณะนี้ ไม่ใช่เวลาที่หลายประเทศจะผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ ทวีปอเมริกามีผู้ป่วยโรคโควิด-19 แล้วมากกว่า 2.4 ล้านคน และเสียชีวิตมากกว่า 143,000 คน ขณะที่ ลาตินอเมริกา แซงหน้ายุโรปและสหรัฐฯ ไปแล้วในจำนวนผู้ติดเชื้อรายวัน ภูมิภาคนี้ กลายเป็นศูนย์กลางการระบาดของโควิด-19 แห่งใหม่ พร้อมเตือนว่า ช่วงเวลาที่ยากลำบากอย่างมากต่อเนื่องอีกหลายสัปดาห์รออยู่ข้างหน้าสำหรับภูมิภาคนี้ และเฉพาะบราซิล หนทางยังอีกยาวไกลกว่าการระบาดของไวรัสจะสิ้นสุดลง นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ของ WHO ยังวิตกกังวลกับการระบาดที่กำลังรุนแรงในเปรู ชิลี เอลซัลวาดอร์ กัวเตมาลา และนิการากัวด้วย



สหรัฐฯ ตายสะสมทะลุแสนราย



         ยอดผู้เสียชีวิตจากไวรัสโควิด-19 ในสหรัฐฯ พุ่งเกิน 100,000 รายแล้ว หลังจากเมื่อวานนี้มีผู้เสียชีวิตเพิ่มอีก 774 ราย ทำให้ยอดรวมเพิ่มเป็น 100,572 ราย ขณะที่พบผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มอีกกว่า 19,000 คน ยอดสะสมอยู่ที่กว่า 1.7 ล้านคน ตัวเลขผู้เสียชีวิตที่พุ่งเกิน 100,000 ราย มากกว่าจำนวนผู้เสียชีวิตจากสงครามเวียดนามและสงครามเกาหลีรวมกัน และต่างจากที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐฯ เคยตั้งความหวังเอาไว้ว่าชาวอเมริกัน น่าจะเสียชีวิตจากโควิด-19 ไม่ถึง 100,000 ราย สถานการณ์ก็ยังไม่น่าไว้วางใจ เนื่องจากมีถึง 20 รัฐที่พบว่าจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มสูงขึ้นเมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่แล้ว แต่เวลานี้หลายรัฐได้เริ่มทยอยผ่อนปรนมาตรการควบคุมโรคเพื่อเปิดให้เศรษฐกิจเดินหน้าต่อไปได้ เช่นที่ รัฐฟลอริดา เปิดสวนสนุก รัฐเนวาดา เปิดคาสิโน เป็นต้น  



 

ข่าวทั้งหมด

X