อากาศไม่เป็นใจ นาซา-สเปซเอ็กซ์ เลื่อนส่งนักบินอวกาศ ขึ้นสถานีอวกาศนานาชาติ ครั้งแรกในรอบ 9 ปี

28 พฤษภาคม 2563, 05:30น.


          สเปซเอ็กซ์(SpaceX) ตัดสินใจยกเลิกการปล่อยจรวดส่งนักบินอวกาศขึ้นสู่วงโคจร จากช่วงเช้ามืดวันพฤหัสบดีที่ 28 พ.ค.เวลา 03.33 น. (ตามเวลาประเทศไทย) เนื่องจากสภาพอากาศเลวร้าย ท้องฟ้ามืดครึ้ม ไปเป็นวันเสาร์ที่ 30 พ.ค.นี้แทน และหากพลาดกำหนดการครั้งนี้อีก ก็จะเลื่อนไปเป็นวันอาทิตย์ เป็นการตัดสินใจเลื่อนก่อนถึงกำหนดเวลาปล่อยจรวดเพียง 16 นาทีเท่านั้น 





          เพจเฟซบุ๊ก NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ระบุว่า องค์การบริหารการบินอวกาศแห่งชาติสหรัฐฯ (นาซา) กับบริษัทสเปซเอ็กซ์ บริษัทเอกชนด้านเทคโนโลยีอวกาศของสหรัฐฯ ร่วมมือกันส่งนักบินอวกาศชุดแรกขึ้นสู่สถานีอวกาศนานาชาติ (ISS) ภารกิจนี้นับเป็นครั้งแรกที่ใช้จรวดและยานอวกาศจากภาคเอกชน แทนจรวดและยานจากองค์การอวกาศของรัฐบาล และเป็นครั้งแรกในรอบ 9 ปี ที่กลับมาส่งนักบินอวกาศอเมริกัน สู่สถานีอวกาศนานาชาติ หลังจากที่ นาซา ยุติโครงการกระสวยอวกาศตั้งแต่ปี 2554 ทำให้สหรัฐฯ ต้องพึ่งพาจรวดโซยุซ กับระบบแคปซูล ของรัสเซีย ในการส่งนักบินไปที่ ISS มาตลอด



          ภารกิจครั้งนี้มีชื่อว่า Demo-2 เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ Commercial Crew Program มีนักบินอวกาศชาวอเมริกัน 2 คน คือ โรเบิร์ต เบห์นเคิน และดักลาส เฮอร์ลีย์ ไปกับยาน Crew Dragon ที่ติดบนยอดจรวดฟัลคอน 9 (Falcon 9) นักบินอวกาศทั้งสองคนนี้จะขึ้นไปปฏิบัติภารกิจต่อในสถานีอวกาศนานาชาติ ร่วมกับทีมนักบินอวกาศชุด Expedition 63 ที่ประจำสถานีอวกาศแห่งนี้อยู่แล้ว คาดว่าจะเสร็จสิ้นภารกิจและกลับสู่พื้นโลกไม่เกินปลายเดือนก.ย. 2563



         ภารกิจ Demo-2 ช่วยปูพื้นฐานให้บริษัทสเปซเอ็กซ์ ทดสอบระบบการส่งมนุษย์ขึ้นสู่อวกาศ ตั้งแต่ฐานยิงจรวด ตัวจรวด ตัวยานบรรทุกนักบินอวกาศ และความสามารถในการปฏิบัติภารกิจในโครงการอวกาศ และเป็นครั้งแรกที่นักบินอวกาศของนาซาจะได้ทดสอบและฝึกใช้งานระบบยานอวกาศภาคเอกชน



 CR:CNN, NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ



 

ข่าวทั้งหมด

X