นายกฯ พร้อมครม.ประชุมสภาฯอภิปรายพ.ร.ก.กู้เงินฯ
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และ คณะรัฐมนตรี(ครม.) ร่วมประชุมสภาผู้แทนราษฎร พิจารณาพระราชกำหนด(พ.ร.ก.) กู้เงินเพื่อแก้ปัญหาเยียวยาจากโรคโควิด-19 จำนวน 3 ฉบับ มูลค่า 1.9 ล้านล้านบาท นายกฯ กล่าวว่า เป็นโอกาสที่ดีที่จะให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร(ส.ส.) อภิปรายอย่างเต็มที่ มีรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายดังกล่าว 16 คน รวมนายกฯ เป็น 17 คน ทุกคนพร้อมให้ข้อมูล
การประชุมสภาผู้แทนราษฎร วันที่ 27-31พ.ค. จะพิจารณาร่างกฎหมายกู้เงิน 3 ฉบับ คือ
1. พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ปัญหาเยียวยาจากโควิด-19
2.พ.ร.ก.การให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่วิสาหกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19
3.พ.ร.ก.รักษาเสถียรภาพของระบบการเงินและความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ พ.ศ. 2563
นายวิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล(วิปรัฐบาล) ชี้แจงกรอบเวลาในการอภิปรายว่า การประชุมทั้งหมด 5 วัน รวม 48 ชั่วโมง แบ่งเป็นฝ่ายค้าน และฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายละ 24 ชั่วโมง ในส่วนของรัฐบาล แบ่งเป็นครม. 11 ชั่วโมง ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล 11 ชั่วโมง ส่วน 2 ชั่วโมง ให้เป็นการชี้แจงประเด็นที่ฝ่ายค้านสงสัย
CR:facebook วิทยุรัฐสภา
ศาลล้มละลายกลาง นัดฟังคำสั่งเรื่องแผนฟื้นฟูกิจการการบินไทย
หลังจากศาลล้มละลายกลาง ได้รับคำร้องขอจัดทำแผนฟื้นฟูกิจการเพื่อเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูบริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) และมีคำสั่งว่าคดีนี้มีรายละเอียดที่จะต้องพิจารณาเเละมีผู้มีส่วนได้เสียจำนวนมาก จึงให้นัดฟังคำสั่งในวันนี้ว่าจะรับคำร้องขอทำแผนฟื้นฟูกิจการไว้พิจารณาหรือไม่
ข้อมูลจากเพจ “สื่อศาล” สำนักงานศาลยุติธรรม ลงบทความถึงกระบวนการ ภายหลังศาลล้มละลายกลางรับคําร้องขอและการนัดไต่สวนคําร้องขอ (มาตรา 90/9) โดย ดร.กนก จุลมนต์ ผู้พิพากษาศาลชั้นต้นประจำกอง ผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกาเเผนกคดีล้มละลายว่า ในทางปฏิบัติเมื่อศาลล้มละลายกลาง รับคําร้องขอแล้ว จะนัดไต่สวนประมาณ 1-2 เดือน นับตั้งแต่วันรับคําร้องขอ ขึ้นอยู่กับจํานวนเจ้าหนี้และภูมิลําเนาของเจ้าหนี้ เนื่องจากก่อนเริ่มกระบวนการไต่สวนคําร้องขอ ต้องส่งสําเนาคําร้องขอแก่เจ้าหนี้ทุกรายต้องชอบด้วยกฎหมาย มิเช่นนั้น ต้องเลื่อนการไต่สวน ปัจจัยสําคัญที่สุดที่จะช่วยย่นระยะเวลาในการนัดไต่สวนคําร้องขอ คือ รายชื่อและที่อยู่ของเจ้าหนี้ที่ชัดเจน
ศบค. เผยข่าวดี 65 จังหวัด ไม่มีผู้ป่วยโควิด-19
ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ ศบค แถลงว่า จำนวนผู้ป่วยสะสมโรคโควิด- 19 ในช่วง 4 สัปดาห์ล่าสุดถือว่าเป็นสีเขียวเกือบทั้งประเทศแล้ว อัตราผู้ป่วยที่เป็นศูนย์มี 65 จังหวัด และอัตราผู้ป่วย 0.1-1 คน มีประมาณ 10 จังหวัด
พื้นที่สีแดง ลดลงแล้ว เกิดจากความร่วมมือของทุกคน โดยรวมถือว่าสถานการณ์เราดีขึ้น ตอนนี้เรากำลังอยู่ในการผ่อนคลายระยะที่ 2 และเตรียมจะเข้าสู่ระยะที่ 3 คาดว่า กิจการและกิจกรรมต่างๆ ที่มีความเสี่ยงปานกลางไปทางสูงจะได้รับอนุญาตให้เริ่มต้นทำ
กรมควบคุมโรค ย้ำอย่าประมาท แค่ขาลงของเชื้อ
นพ.อนุพงศ์ สุจริยากุล ผู้ทรงคุณวุฒิ กรมควบคุมโรค กล่าวว่า แม้สถานการณ์แนวโน้มดีขึ้น เนื่องจากพบผู้ป่วยตัวเลขหลักเดียวมาต่อเนื่อง แต่ไม่ได้หมายความว่าเชื้อไวรัสโควิด -19 ในไทยจะหมดไป เพียงแต่ครั้งนี้เป็นแค่ขาลงของโรคและอยู่ในเวฟแรกของการระบาดเท่านั้น และไทยเพิ่งเริ่มผ่อนปรนมาตรการ เปิดกิจกรรมและกิจการต่างๆ เท่านั้น ยังต้องศึกษาบทเรียนจากต่างประเทศ มาเป็นแนวทาง ทำอย่างไร ไม่ให้ระบาดซ้ำหรือเผชิญการระบาดเวฟที่ 2 เร็ว โดยต้องศึกษาบทเรียนจากทั้งจีน เวียดนาม ญี่ปุ่น ให้ดีไม่ประมาท วิเคราะห์สถานการณ์ การ์ดอย่าตก ทั้งการสวมหน้ากากอนามัย หมั่นล้างมือ และไม่ใช้มือไปสัมผัสใบหน้า รวมถึงต้องคงคุณภาพการรักษา ซึ่งทุกอย่างจะสำเร็จได้ต้องอาศัยความร่วมมือจาก ทุกภาคส่วนประชาชนทุกคน
สมช.เล็งลดเคอร์ฟิว เสนอ ศบค. 29 พ.ค.
พล.อ.สมศักดิ์ รุ่งสิตา เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ในฐานะประธานคณะกรรมการเฉพาะกิจพิจารณาผ่อนคลายการบังคับใช้มาตรการในการป้องกันและยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคติดต่อเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) เปิดเผยว่า เวลา 13.30 น. จะมีการประชุม สมช.เพื่อพิจารณาผ่อนปรนกิจการต่างๆ รวมถึงข้อเสนอการปรับลดเวลาเคอร์ฟิวลง จากเวลา 23.00-04.00 น. เป็น เวลา 24.00-04.00 น. หรือ 23.00-03.00 น. เพื่อให้ประชาชน หาเช้ากินค่ำ และพ่อค้าแม่ค้าได้ประกอบอาชีพอย่างสะดวก ซึ่งรายละเอียดต่างๆ ขอให้รอวันนี้ จากนั้นจะเสนอให้ที่ประชุม ศบค.พิจารณาวันที่ 29 พ.ค.