กลุ่มสายการบินขนาดใหญ่ที่สุดในลาตินอเมริกายื่นล้มละลาย
กลุ่มสายการบินลาตัม กลุ่มทุนสายการบินขนาดใหญ่ที่สุดของลาตินอเมริกา ยื่นคำร้องต่อศาลที่นครนิวยอร์ค ขอพิทักษ์ทรัพย์ตามมาตรา 11 ของกฎหมายล้มละลายสหรัฐฯ จากผลกระทบของโรคโควิด-19 ทำให้สายการบินต้องยกเลิกเที่ยวบินจำนวนมากทั่วภูมิภาค มาตรา 11 ของกฎหมายล้มละลายสหรัฐฯอนุญาตให้กลุ่มสายการบินลาตัมดำเนินกิจการต่อไปได้ ขณะเดียวกัน สายการบิน ซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่กรุงซันติอาโก เมืองหลวงของชิลี อยู่ระหว่างการทำแผนชำระหนี้ให้กับเจ้าหน้าที่และแผนกู้ธุรกิจให้กลับมาพลิกฟื้นให้ได้
การยื่นล้มละลายครอบคลุมกิจการของสายการบินลาตัมในประเทศอื่นๆ ที่มีทรัพย์สินจดทะเบียน ยกเว้นในบราซิล ปารากวัย และอาร์เจนตินา ที่ยังไม่ได้รับผลกระทบจากการขอพิทักษ์ทรัพย์ ประมาณ 2-3 สัปดาห์ที่แล้ว กลุ่มสายการบินลาตัม ปลดพนักงานไปแล้วกว่า 1,850 ตำแหน่ง ในชิลี โคลอมเบีย เอกวาดอร์ และเปรู จากจำนวนพนักงานที่มีอยู่ทั่วโลกรวม 40,000 คน
CR:AFP
อูเบอร์ ลดพนักงาน 600 ตำแหน่งในอินเดีย ล็อกดาวน์กระทบธุรกิจ
อูเบอร์ เทคโนโลยีส์ อิงค์ ปรับลดพนักงานในอินเดียประมาณ 600 ตำแหน่ง ตามแผนปรับลดพนักงานทั่วโลกร้อยละ 23 หลังจากธุรกิจในอินเดียหยุดชะงักจากการใช้มาตรการล็อกดาวน์ ประธานอูเบอร์ อินเดียและเอเชียใต้ กล่าวว่า ผลกระทบจากโรคโควิด-19 ทำให้อูเบอร์อินเดียและเอเชียใต้ ไม่มีทางเลือก นอกจาก ลดพนักงานลง
ก่อนหน้านี้ อูเบอร์ เปิดเผยว่า บริษัทจะเปลี่ยนไปให้ความสำคัญกับธุรกิจหลัก ได้แก่ บริการเรียกรถผ่านแอปพลิเคชัน และ บริการส่งอาหาร เพื่อให้บริษัทกลับมามีกำไร ท่ามกลางการระบาดของโควิด-19
ขณะที่บริษัท Ola คู่แข่งของอูเบอร์ในอินเดีย ประกาศเมื่อสัปดาห์ก่อนเช่นกันว่าจะปรับลดพนักงาน 1,400 ตำแหน่ง เนื่องจาก รายได้ลดลงหายไปถึงร้อยละ 95 จากการใช้มาตรการล็อกดาวน์เช่นกัน
เศรษฐกิจสิงคโปร์ หดตัวรุนแรงที่สุด 7 % ในรอบกว่า 50 ปี
รัฐบาลสิงคโปร์ กล่าวว่า เศรษฐกิจสิงคโปร์ในปีนี้ชะลอตัวลงมากถึงร้อยละ 7 เป็นตัวเลขที่เลวร้ายที่สุดนับตั้งแต่สิงคโปร์ได้รับเอกราช เมื่อปี 1965 การปรับตัวเลขนี้เกิดขึ้นหลังจากที่มีการเปิดเผยข้อมูลอย่างเป็นทางการแสดงให้เห็นว่า เศรษฐกิจไตรมาสแรกของปีนี้ จะหดตัวลงร้อยละ 0.7 หลายประเทศที่เป็นตลาดขนาดใหญ่ เช่น สหรัฐฯ จีนและยุโรป ปิดประเทศ ทำให้การส่งออกลดลงและการระงับการเดินทางทางอากาศ ทำให้ภาคธุรกิจท่องเที่ยวที่มีความสำคัญต่อสิงคโปร์ได้รับความเสียหายไปด้วย
ไต้หวัน เตรียมแผนเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยว ต.ค.
ไต้หวัน นิวส์ สำนักข่าวของไต้หวัน รายงานว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมของไต้หวัน ประกาศร่างแผน 3 ขั้นตอน ผ่อนคลายข้อจำกัดในการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคในด้านการขนส่งและการเดินทาง รวมถึงการอนุญาตให้ชาวต่างชาติเข้ามาในประเทศได้ เนื่องจากไต้หวันคุมการระบาดของโรคโควิด-19 ได้แล้ว ไม่มีผู้ติดเชื้อรายใหม่นำเข้าจากต่างประเทศเป็นเวลา 13 วัน และไม่มีผู้ติดเชื้อจากในประเทศเป็นเวลา 38 วัน
ขั้นตอนที่ 1 ระหว่างวันที่ 27 พ.ค. – 31 มิ.ย. ผ่อนคลายข้อจำกัดด้านอาหารและการขายตั๋วรถไฟอนุญาตให้ผู้โดยสารรับประทานอาหารระหว่างการเดินทางบนรถไฟ รวมถึงการบริการอาหารบนรถไฟ ผู้โดยสาร ต้องสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลาทั้งก่อนและหลังรับประทานอาหาร ในช่วงวันหยุดเทศกาลเรือมังกรในไต้หวัน (25-28 มิ.ย.) รถไฟธรรมดาได้รับอนุญาตให้ขายตั๋วยืน ส่วนรถไฟความเร็วสูง ได้รับอนุญาตให้ขายตั๋วในที่นั่งที่ไม่ได้จองไว้ล่วงหน้า
ขั้นตอนที่ 2 ระหว่างวันที่ 1 ส.ค. – 31 ต.ค. สนับสนุนการท่องเที่ยวภายในประเทศ และยกเลิกการบังคับให้ใส่หน้ากากอนามัย ในขั้นตอนนี้จะมีการอุดหนุนเงินให้กับการท่องเที่ยวภายในประเทศ สำหรับกลุ่มทัวร์ ที่พักสำหรับนักท่องเที่ยวอิสระ ส่วนลดตั๋วเข้าสวนสนุก ค่าโดยสารรถบัสสองชั้น และส่วนลดอื่นๆ อาจยกเลิกบางมาตรการในการควบคุมการระบาด เช่น ไม่บังคับให้ใส่หน้ากากอนามัย
ขั้นตอนที่ 3 ระหว่างวันที่ 1 ต.ค. – 31 ธ.ค. เปิดให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาเที่ยวไต้หวันได้
เวียดนาม เตรียมลดภาษีให้กิจการขนาดเล็ก
เวียดนาม วางแผนลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับกิจการขนาดเล็กในปีนี้ มูลค่า 15.84 ล้านล้านด่อง หรือ 679 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ช่วยบรรเทาผลกระทบจากโรคโควิด-19 กระทรวงการคลังเวียดนาม ระบุว่า กระทรวงกำลังหาทางลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคลร้อยละ 30 สำหรับบริษัทที่มีรายได้ต่อปีน้อยกว่า 50,000 ล้านด่อง หรือ2.15 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และมีลูกจ้างน้อยกว่า 100 คน แผนดังกล่าวอยู่ระหว่างรอรัฐบาลอนุมัติ
ตามข้อมูลของกระทรวงการคลัง ระบุว่า ในประเทศมีบริษัท 760,000 แห่ง พบว่าร้อยละ 93 เป็นกิจการขนาดเล็กมาก นอกจากนี้ กระทรวงการคลัง กำลังรอการอนุมัติจากสภานิติบัญญัติเกี่ยวกับการยกเว้นภาษีสำหรับการใช้ที่ดินเพื่อการเกษตรในปี 2564-2568 มูลค่า 37.5 ล้านล้านด่อง หรือ 1,610 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
ปธน.ฟิลิปปินส์ ย้ำคัดค้านถึงที่สุด ไม่ให้เด็กไปเรียน ถ้ายังไม่มีวัคซีน
ประธานาธิบดีโรดริโก ดูเตร์เต ของฟิลิปปินส์ เปิดเผยระหว่างการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) ว่าตราบใดที่ยังไม่มีวัคซีนที่ได้รับการยืนยันจากผู้เชี่ยวชาญว่ามีประสิทธิภาพอย่างแท้จริง จะคัดค้านอย่างถึงที่สุดไม่ยอมให้เด็กกลับเข้าชั้นเรียนในวันที่ 24 ส.ค. ผู้นำฟิลิปปินส์ กล่าวว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในฟิลิปปินส์ ยังถือว่าวิกฤต
ขณะที่ นางเลโอนอร์ บริโอเนส รมว.กระทรวงศึกษาธิการของฟิลิปปินส์ กล่าวว่า กระทรวงศึกษาธิการ สนับสนุนการเรียนการสอนทางไกลแบบออนไลน์ ทั้งอินเทอร์เน็ต โทรทัศน์ และวิทยุ เพื่อให้เด็กๆปลอดภัย