ครม.เห็นชอบจ่ายเงินเยียวยา 3 กลุ่มเปราะบางรายละ 1 พันบาท 3 เดือน

26 พฤษภาคม 2563, 15:56น.


           ผลการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)  ที่ประชุมเห็นชอบมาตรการช่วยเหลือประชาชนกลุ่มต่าง ๆ เพิ่มเติม น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ครม.มีมติจ่ายเงินเยียวยากลุ่มเปราะบาง 3 กลุ่ม ประกอบด้วย



-กลุ่มเด็กแรกเกิด-อายุ 6 ปี



-กลุ่มผู้สูงอายุ อายุ 60 ปีขึ้นไป



-และกลุ่มผู้พิการ



          ทั้ง 3 กลุ่ม ครอบคลุมประชาชนราว 13,000,000 คน ทุกคนจะได้รับเงินเยียวยาคนละ 1,000 บาท โดยไม่เกี่ยวกับเงินอุดหนุนต่าง ๆ ที่ได้รับอยู่ก่อน โดยจะได้เป็นเวลา 3 เดือน ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม-กรกฎาคม 2563 สำหรับงวดเดือนพฤษภาคมจะจ่ายให้พร้อมกับเดือนมิถุนายน เป็นจ่ายครั้งเดียวพร้อมกัน 2 เดือน คาดว่าต้องใช้เงินทั้งหมด 39,000,000,000 ล้านบาท โดยนำเงินมาจากเงินกู้ 1 ล้านล้านบาท



          นอกจากนั้น ยังมีกลุ่มผู้ประกอบอาชีพประมงเป็นอีกกลุ่มที่ได้รับการช่วยเหลือเพิ่ม โดยครม.เห็นชอบให้เงินกู้เสริมสภาพคล่องที่แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม



-กลุ่มแรก ผู้ประกอบอาชีพประมงที่มีขนาดเรือมากกว่า 60 ตันกรอสขึ้นไป จะให้กู้สูงสุดไม่เกินรายละ 10 ล้านบาท โดยต้องกู้กับธนาคารออมสิน



-กลุ่มที่สอง ผู้ประกอบอาชีพประมงที่มีขนาดเรือน้อยกว่า 60 ตันกรอส ให้กู้มากสุดรายละ 5 ล้านบาท และต้องกู้กับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.)



          โดยการปล่อยกู้มีทั้งระยะสั้นและระยะยาว คิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 7 ต่อปี แต่ผู้ประกอบการออกเองร้อยละ 4 ที่เหลือร้อยละ 3 รัฐช่วยจ่ายให้ ผู้กู้ต้องชำระเงินคืนให้หมดภายใน 7 ปี นับแต่วันที่กู้ และเป็นครั้งแรกที่อนุญาตให้นำเรือประมงมาเป็นหลักค้ำประกันในการกู้ได้ คาดว่ามาตรการนี้จะช่วยผู้ประกอบอาชีพประมงได้ 2,800 คน ต้องใช้เงินจำนวน 10,300,000,000 บาท



          ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ยังอนุมัติวงเงิน 147,000,000 บาท มาช่วยประกันรายได้กลุ่มผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เพิ่ม หลังพบว่าเงินประกันรายได้ยังขาดอยู่ตามกรอบที่อนุมัติ พร้อมขยายเวลาประกันรายได้ออกไปอีก 1 เดือนด้วย คาดว่าจะช่วยกลุ่มผู้ประกอบอาชีพนี้ได้ 150,000 ครัวเรือน



          ด้านนางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เสริมว่า รัฐบาลเตรียมหามาตรการช่วยกลุ่มผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(เอสเอ็มอี)เพิ่มเติม หลังมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำที่ออกมาก่อนหน้านี้ ไม่ครอบคลุมและเข้าไม่ถึงกลุ่มเอสเอ็มอีทุกราย อยู่ระหว่างหามาตรการเสริมต่อไป



 

ข่าวทั้งหมด

X