พฤติกรรมคนไทยหลังผ่อนปรนมาตรการ ปรากฏว่า การ์ดเริ่มตก นพ.อนุพงศ์ สุจริยากุล ผู้ทรงคุณวุฒิกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) เปิดเผยผลสำรวจการปฏิบัติตามมาตรการสุขอนามัยของประชาชนหลังจากผ่อนปรนมาตรการแล้วพบว่าเริ่มย่อหย่อนลง ภาพรวมพฤติกรรมการป้องกันในช่วงหลังผ่อนปรนมาตรการ (8-14 พ.ค.2563) อยู่ที่ร้อยละ 72.5 ลดลงจากร้อยละ 77.6 ในช่วงก่อนผ่อนปรนมาตรการ (23-30 เม.ย.2563) แยกเป็น
-การสวมหน้ากากอยู่ที่ร้อยละ 91.0 ลดลงจากร้อยละ 91.2
-การล้างมืออยู่ที่ร้อยละ 83.4 ลดลงจาก ร้อยละ 87.2
-การกินร้อน/ช้อนกลางตัวเองอยู่ที่ร้อยละ 82.3 ลดลงจากร้อยละ 86.1
-การเว้นระยะห่างอยู่ที่ร้อยละ 60.7 ลดลงจากร้อยละ 65.3
-และการเอามือสัมผัสใบหน้าอยู่ที่ร้อยละ 52.9 ลดลงจากร้อยละ 62.9
นพ.อนุพงศ์ กล่าวย้ำว่า อยากเตือนประชาชน ถึงการใส่หน้ากากอนามัยเป็นเรื่องที่จำเป็นมาก อาจจะเรียกว่าเป็นปัจจัยที่ห้าในชีวิตประจำวัน ตราบใดที่ทำต่อเนื่อง โอกาสที่จะแพร่เชื้อ หรือติดเชื้อมีน้อยมาก
ส่วนการสอบสวนโรคของชายไทยวัย 72 ปี ที่เป็นผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อ ยังไม่สามารถชี้ชัดได้ว่าติดเชื้อมาจากสถานที่ไหน เพราะหากดูตามไทม์ไลน์แล้วพบว่า มีการเดินทางไปตรวจรักษาโรคที่โรงพยาบาลถึง 3 แห่ง อาจติดเชื้อมาจากผู้ป่วยที่ไม่แสดงอาการ ซึ่งขึ้นอยู่กับช่วงเวลาและจำนวนเชื้อโรคที่ได้รับในแต่ละครั้ง
สำหรับการนำกฎหมายมาบังคับใช้เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จำเป็นต้องใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ที่กระชับอำนาจจากกฎหมายที่เกี่ยวข้องมากถึง 40 ฉบับ นอกจากนี้ ยังรวมถึงการประกาศห้ามออกนอกเคหสถาน หรือ เคอร์ฟิว การควบคุมราคาสินค้า เพื่อให้การทำงานได้ผลดี เพราะการนำ พ.ร.บ.โรคติดต่อมาบังคับใช้เพียงฉบับเดียวจะไม่ครอบคลุม แต่หากสถานการณ์เข้าสู่ภาวะปกติแล้วพ.ร.ก.ฉุกเฉิน ก็ไม่มีความจำเป็นแล้ว
นพ.อนุพงศ์ กล่าวว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดในประเทศไทยที่มีจำนวนผู้ป่วยติดเชื้อลดลงในระลอกแรก โดยได้นำเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในต่างประเทศมาเป็นบทเรียน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดรุนแรงระลอกใหม่ กระทรวงสาธารณสุขไม่ประมาท ได้กำหนดมาตรการดูแลต่อเนื่องและต้องการความร่วมมือจากประชาชน