สมช.หารือเรื่องเคอร์ฟิว 27 พ.ค.คุมโควิด-19
พล.อ.สมศักดิ์ รุ่งสิตา เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เปิดเผยว่า ในวันนี้จะเสนอเรื่องการขยายระยะเวลาบังคับใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินจากที่จะสิ้นสุดในวันที่ 31 พ.ค.ออกไปอีก 1 เดือน คือสิ้นสุดในวันที่ 30 มิ.ย.ให้ที่ประชุมศูนย์บริการจัดการสถานการณ์ฉุกเฉินโควิด-19 (ศบค.) ชุดใหญ่พิจารณาในวันนี้ จากนั้นเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) พิจารณาวันนี้ 26 พ.ค. ถึงจะเป็นมติ
ส่วนเรื่องระยะเวลาบังคับใช้เคอร์ฟิว 23.00-04.00 น.จะพิจารณาในวันพุธที่ 27 พ.ค.ซึ่งจะนำข้อเสนอของประชาชนให้ขยายเวลาเคอร์ฟิวมาพิจารณาด้วย แต่การพิจารณาระยะเวลาเคอร์ฟิวต้องสอดคล้องกับมาตรการผ่อนปรนกิจการและกิจกรรมในระยะที่ 3 ด้วย พล.อ.สมศักดิ์ กล่าวว่า เข้าใจว่าเรื่องนี้กระทบชีวิตประชาชน อาจผ่อนคลายระยะเวลาที่เหมาะสม แต่ยังบอกไม่ได้ว่าจะปรับเหลือระยะเวลาเท่าไร มาตรการเคอร์ฟิว ทำให้การควบคุมการแพร่ระบาดดีขึ้น จำกัดความเคลื่อนไหวของคนบางประเภทที่ไม่ยอมใช้ชีวิตแบบสมถะ และทำให้การอยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ ทำได้ดีขึ้น ต้องดูอีกครั้งว่าการผ่อนคลายระยะที่ 3 อาจพิจารณาให้ช่วงเวลาลดน้อยลงหรือเท่าเดิม ขึ้นอยู่กับเหตุผลความจำเป็น
สตช.กำหนดแผนดูแลความเรียบร้อยให้สอดคล้องกับสถานการณ์
พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เปิดเผยว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติมีกำลังพลพอและพร้อมปฎิบัติตามนโยบาย และหากมีการเปลี่ยนแปลงข้อกำหนดในพระราชกำหนดฉุกเฉิน ก็ต้องมาดูอีกว่าตำรวจจะปรับแผนอย่างไรบ้าง เช่น หากมีการลดเวลาเคอร์ฟิว การปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจก็ไม่แตกต่างจากเดิม แต่หากมีการผ่อนคลายระยะ 3 ให้กับสถานประกอบการประเภทอื่นๆ สำนักงานตำรวจแห่งชาติก็จะต้องหารือเพื่อกำหนดแผนให้สอดคล้องกับสถานการณ์
การห้ามเรื่องเวลาและการห้ามมั่วสุมต่างๆ ทั้งการดื่มสุรา หรือ เล่นการพนัน สะท้อนให้เห็นชัดเจนว่า ช่วยทำให้กลุ่มเสี่ยงหรือคนที่เข้าข่ายเป็นกลุ่มเสี่ยงลดจำนวนลง จนทำให้เห็นตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 ลดจำนวนลงและไม่กระจัดกระจายไปตามกลุ่มต่างๆหรือพื้นที่ต่างๆ
เตรียมเลือกตั้งซ่อม ส.ส.ลำปาง 20 มิ.ย.เลือกตั้งมิติใหม่ กฎเข้มป้องโควิด
การทำแผนเตรียมจัดการเลือกตั้งซ่อม ส.ส.เขต 4 จ.ลำปาง ในวันที่ 20 มิ.ย. แทนนายอิทธิรัตน์ จันทรสุรินทร์ อดีต ส.ส.หลายสมัย พรรคเพื่อไทย (พท.) ที่เสียชีวิต แม้ว่าในเขตพื้นที่เลือกตั้งในเขตนี้เป็นพื้นที่ตอนใต้ของ จ.ลำปาง ได้แก่ อ.เสริมงาม อ.เกาะคา อ.สบปราบ อ.เถิน และ อ.แม่พริก ยังไม่เคยพบผู้ป่วยติดเชื้อโรคโควิด-19 แต่ความเข้มข้นของมาตรการป้องกันและควบคุมโรค จะไม่การ์ดตกแน่นอน
นายอิทธิพร บุญประคอง ประธานกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) พร้อมด้วย นพ.อัษฎางค์ รวยอาจิณ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ตรวจดูการจัดหน่วยเลือกตั้งจำลอง และการนับคะแนนจำลอง มีลักษณะการจัดหน่วยให้มีการเว้นระยะห่างในแต่ละจุดภายในหน่วยประมาณ 2 เมตร กรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง จะต้องสวมหน้ากากอนามัย หรือหน้ากากผ้า Face Shield และถุงมือยาง ตลอดเวลาของการปฏิบัติหน้าที่
ส่วนคนที่มาลงคะแนนจะต้องสวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้า และรอที่จุดพักคอย ที่จะมีการจัดเก้าอี้เว้นระยะห่างไว้ จากนั้นจึงเริ่มกระบวนการตรวจสอบรายชื่อ ตรวจวัดอุณหภูมิ ล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ โดยในจุดนี้จะมีเจ้าหน้าที่อาสาสมัครสาธารณสุข(อสม.) มาเป็นผู้ตรวจ หากพบว่ามีอุณหภูมิสูงเกิน 37.5 จะถูกแยกให้ไปใช้สิทธิ์ที่หน่วยเลือกตั้งพิเศษที่อยู่ใกล้เคียง
ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งที่ผ่านการตรวจอุณหภูมิ สามารถเข้าไปที่จุดตรวจสอบสิทธิ์เลือกตั้ง ที่จุดนี้ถือเป็นจุดสำคัญ เพราะนอกจากจะต้องแสดงบัตรประจำตัวประชาชนให้กรรมการประจำหน่วยตรวจสอบแล้ว จะต้องเปิดหน้ากากอนามัยเพื่อยืนยันตัวตนก่อนเซ็นชื่อรับบัตรเลือกตั้ง และเข้าคูหาใช้สิทธิ์ โดยจะต้องล้างมือด้วยแอลกอฮอล์ในทุกขั้นตอน ขณะที่ กรรมการประจำหน่วยก็จะต้องทำความสะอาดโต๊ะและอุปกรณ์ ทุก 15 นาที ตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุข เพราะในจุดนี้ผู้ใช้สิทธิ์จะต้องสัมผัสใบหน้าในระหว่างการเปิดหน้ากากอนามัยให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบ และเซ็นต์ชื่อ รวมทั้งหลังใช้สิทธิ์เลือกตั้งแล้วก็ต้องล้างมือก่อนออกจากคูหาเลือกตั้ง โดยทุก 1 ชั่วโมง กรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งจะต้องทำความสะอาดอุปกรณ์ภายในหน่วยเลือกตั้ง และเมื่อผู้ใช้สิทธิ์ใช้สิทธิ์ไปแล้ว 4-5 คน ต้องทำความสะอาดทันที
ประเมินว่าการใช้สิทธิ์ของประชาชนจากเดิมใช้เวลาประมาณไม่เกิน 4 นาทีต่อหนึ่งคน อาจต้องใช้เวลามากกว่าเดิมคือ 6-10 นาทีต่อคน แต่ได้มีการประสานให้กรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดไปประชาสัมพันธ์ให้ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งในแต่ละหมู่บ้านทยอยมาใช้สิทธิ์ในเวลาที่มีการขอความร่วมมือและจากการที่มีการเพิ่มหน่วยลงคะแนนจาก 321 หน่วย เป็น 400 หน่วย ทำให้แต่ละหน่วยมีผู้มาใช้สิทธิ์ไม่เกิน 400 คน เพื่อลดความแออัด ก็เชื่อว่าน่าจะทำให้การใช้สิทธิ์ไม่เกิดปัญหา
กกต.ประสานขอให้รัฐบาล ออกข้อกำหนดขยายเวลาเคอร์ฟิวในวันเลือกตั้ง
นายอิทธิพร กล่าวถึงการรับสมัครเลือกตั้งในวันนี้ว่าให้จัดพื้นที่รับสมัครไม่น้อยกว่า 7 ตารางเมตร ต่อ 5 คน โดยให้ผู้สมัครมีผู้ติดตามได้ไม่เกิน 5 คน หลังรับสมัครแล้ว ผู้สมัครรับเลือกตั้งสามารถหาเสียงได้ตามปกติโดยยึดตามกฎหมายเลือกตั้ง และระเบียบ กกต.ว่าด้วยการหาเสียง ส่วนการจัดเวทีปราศรัยสามารถทำได้ หากผู้สมัครมีสถานที่และสามารถดำเนินการหามาตรการป้องกันการแพร่ระบาดตามนโยบายของรัฐบาลได้ เช่น การเว้นระยะห่างระหว่างบุคคล สวมหน้ากากอนามัย และมีเจลแอลกอฮอล์ไว้ล้างมือ กกต.ประสานขอให้รัฐบาลออกข้อกำหนด เพื่อขยายเวลาเคอร์ฟิวในพื้นที่เขตเลือกตั้งในวันเลือกตั้ง เพื่อรองรับการปฎิบัติงานของเจ้าหน้าที่ และจะมีการประสานไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดว่าจะมีเจ้าหน้าที่ต้องปฏิบัติการเลือกตั้งจำนวนเท่าใดที่จะต้องทำงานเกินกว่าเวลาเคอร์ฟิว
ปธ.สภาฯ นัดวิปฝ่ายค้าน-รัฐบาล หาข้อยุติการประชุมสภาฯ 27พ.ค.
นายวิรัช รัตนเศรษฐ ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) เปิดเผยถึง การพิจารณาพระราชกำหนด (พ.ร.ก.)การกู้เงินในการฟื้นฟูประเทศจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ระหว่างวันที่ 27-29 พ.ค.ว่า นายกฯและรัฐมนตรีคนอื่นๆ จะมาชี้แจงรายละเอียดการเสนอพระราชกำหนดที่เกี่ยวกับการกู้เงินทั้ง 3 ฉบับ ต่อสภาผู้แทนราษฎร
วันนี้ นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ได้นัดผู้นำฝ่ายค้านฯ ,วิปรัฐบาล ,วิปฝ่ายค้าน หารือถึงการพิจารณาพระราชกำหนดทั้ง 3 ฉบับ นายชวน กล่าวว่า ในการประชุมสภาฯเพื่อพิจารณาพ.ร.ก. กู้เงิน ในวันที่ 27 พ.ค.นี้ จะต้องมีการปรับเปลี่ยนเวลาการอภิปรายจากเดิมเริ่มเวลา 09.30 น.เลิกเวลา 19.00 น. เมื่อเคอร์ฟิวเลื่อนออกไปเป็นเวลา 23.00น. ก็จะต้องมีการพิจารณากันใหม่ โดยอาจจะยืดออกไปในแต่ละวันให้จบใน 20.00น. ซึ่งในการประชุมวันนี้ จะได้ข้อยุติเรื่องกรอบเวลา
ก่อนหน้านี้ นายชวน พร้อม นพ.สุกิจ อัถโถปกรณ์ ที่ปรึกษา และนายสรศักดิ์ เพียรเวช เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ตรวจความพร้อมสถานที่เข้าออกห้องประชุมพระสุริยัน ซึ่งเป็นห้องประชุมสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งได้นำฉากกั้นพลาสติกตั้งไว้บนโต๊ะกั้นระหว่างที่นั่งส.ส.มาทดลองวาง หากเห็นด้วยพร้อมจะติดตั้งทุกที่นั่ง
นายชวน กล่าวว่า เท่าที่ดูฉากดังกล่าวไม่ค่อยช่วยป้องกันเท่าใด จึงเห็นว่ายังไม่มีความจำเป็นและจะเป็นการสิ้นเปลืองงบประมาณ สิ่งสำคัญคือมาตรการการป้องกันด้วยการคัดกรองตรวจเข้มผู้ที่เข้า-ออก บริเวณรัฐสภา ด้วยการตรวจวัดอุณหภูมิ เพราะถ้าคนที่ไม่มีเชื้อโควิด-19 อยู่ใกล้กันจะไม่มีปัญหา และสภายังปฏิบัติตามมาตรการเว้นระยะห่างระหว่างบุคคล โดยนั่งประชุม 1 ที่ เว้น 1 ที่ ยกเว้นเวลาลงมติที่ต้องใช้ที่นั่งเดิม แต่ถือว่ายังมีระยะห่าง เชื่อว่า สามารถป้องกันการแพร่ระบาดได้นอกจากนั้นยังมีการติดตั้งเครื่องเทอร์โมสแกน ลดคนในที่ประชุมคณะกรรมาธิการด้วย