กรมชลฯคาดปีนี้ฝนน้อยกว่าเกณฑ์5% ปรับแผนเน้นใช้น้ำฝน สำรองน้ำในอ่างเก็บน้ำช่วงฝนทิ้งช่วง

21 พฤษภาคม 2563, 14:25น.


         กรมชลประทาน เดินหน้ารับมือกับฤดูฝนปีนี้ นายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า กรมชลประทาน วางแผนรับมือในฤดูนี้ไว้ 2 แผน



-แผนที่ 1. แผนการใช้น้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภค การรักษาระบบนิเวศ การเกษตรทั้งการเกษตรต่อเนื่องและการเกษตรในฤดูฝน โดยเฉพาะการทำการเกษตรในพื้นที่กรมชลประทานทั่วประเทศกว่า 27 ล้านไร่ ประเมินไว้ว่าจะใช้พื้นที่ปลูกข้าวนาปี 16.79 ล้านไร่ สามารถดำเนินการได้เลยตามที่เคยประกาศไว้ แต่ขอย้ำว่าพื้นที่การเกษตรทั้งในเขตและนอกเขตชลประทานจะต้องใช้น้ำฝนเป็นสำคัญ ส่วนน้ำในอ่างเก็บน้ำจะใช้เพื่อเสริมน้ำฝน กรณีฝนทิ้งช่วง ซึ่งปีนี้ฝนจะทิ้งช่วงเดือนมิ.ย.-กลางเดือนก.ค.ส่วนอิทธิพลของพายุไซโคลนอำพัน ช่วยเติมน้ำเข้าเขื่อน 150 ล้านลูกบาศก์เมตร  



          กรมชลประทาน ระบุว่า เดือนพ.ค.-เดือนมิ.ย. มีฝนตกต่อเนื่อง แต่ปริมานน้ำจะไม่ได้ตามความต้องการ ประกอบกับฤดูฝนปีนี้จะมีปริมาณน้ำฝนต่ำกว่าค่าเฉลี่ยปกติร้อยละ 5 จึงต้องมีการปรับแผนการดูแลน้ำด้วยการใช้น้ำฝนให้มากที่สุดเพื่อสำรองน้ำในเขื่อนไว้ใช้ในช่วงฝนทิ้งช่วงกลางเดือนก.ค.-กลางเดือนต.ค. หลังจากนั้นต้องติดตามสถานการณ์ เนื่องจาก คาดว่าจะมีพายุเข้ามาถึง 2 ลูก ซึ่งจะนำไปสู่การเตรียมการในแผนที่ 2





-แผนที่ 2 การป้องกันอุทกภัย ด้วยการสำรวจจุดที่เป็นพื้นที่เสี่ยงภัยน้ำไหลล้นตลิ่งที่จะส่งผลกระทบต่อพื้นที่อยู่อาศัยและพื้นที่ทางการเกษตร รวมถึง การตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงของเขื่อน ตรวจสอบลำน้ำ ทางไหลของน้ำ รวมถึงสิ่งกีดขวางการไหลของน้ำ เช่น ผักตบชวาและวัชพืชอื่นๆ



         ความคืบหน้าการกำจัดผักตบชวา กรมชลประทาน ร่วมมือกับหลายหน่วยงาน และได้ใช้แผนที่ของสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ จิสด้า ได้ดำเนินการไปในหลายพื้นที่แล้ว ล่าสุด เมื่อวานนี้ กรมชลประทานร่วมกับจิสด้า สำรวจพบ 125 จุด ปริมาณผักตบชวา 110,000 ตัน อยู่ในเขตกรมชลประทาน 68 จุด กำลังให้สำรวจว่าจุดใดต้องเร่งดำเนินการก่อน แต่ทั้งหมดนี้จะมีการจัดการให้แล้วเสร็จภายในเดือนมิ.ย.นี้ และจะมีการจัดสรรเครื่องมือ เช่น เครื่องสูบน้ำ รถขุดต่างๆ ซึ่งกำหนดให้กระจายไว้ทั่วประเทศรวม 4,000 รายการ 



         ส่วนการแก้ปัญหาภัยแล้ง อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า การบริหารจัดการน้ำในฤดูแล้งเป็นไปตามแผน มีเพียงลุ่มน้ำเจ้าพระยาเท่านั้นที่ใช้น้ำเกินไปร้อยละ 2 โดยเฉพาะการรักษาระบบนิเวศ และแก้ไขปัญหาอย่างต่อเนื่องในพื้นที่ประสบภัยแล้งซ้ำทั้งการแก้ปัญหาเฉพาะจุดหรือในเชิงบูรณาการที่มีหลายพื้นที่ตามยุทธศาสตร์ และการจัดหาแหล่งน้ำเพิ่มทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ ที่จะเห็นผลในระยะต่อไปเพราะการดำเนินการต้องใช้เวลาและในทุกๆปี เชื่อว่า จะทำให้ปัญหาภัยแล้งลดลง



        นอกจากนี้ กรมชลประทาน ยังได้จัดจ้างแรงงานชลประทานทั่วประเทศ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกรและประชาชนทั่วไปที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้ง จนถึงขณะนี้ได้จ้างงานแล้วกว่า 48,080 คน เกษตรกรหรือประชาชนที่สนใจสามารถติดต่อสอบถามหรือสมัครเข้าร่วมโครงการที่โครงการชลประทานใกล้บ้าน หรือ โทรสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมที่สายด่วน กรมชลประทาน 1460



 

ข่าวทั้งหมด

X