แพทย์ เผยการนำพลาสมารักษาผู้ป่วยโควิด-19 ใช้ได้เฉพาะบางกรณี
รศ.นพ.ศรัญญู ชูศรี แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (มอ.) จ.สงขลา เปิดเผยขั้นตอนการนำพลาสมามารักษาอาการผู้ป่วยโควิด-19 ที่อาการหนักจนหายดีว่า ตั้งแต่ช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ ได้รักษาผู้ป่วยโควิด-19 ไปแล้ว 30 คน ส่วนใหญ่หรือเกือบทั้งหมดเป็นผู้ป่วยหรือคนไข้อาการวิกฤต
สำหรับการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ด้วยการใช้พลาสมาจากผู้ป่วยโรคโควิด-19 ที่หายเป็นปกติ และประสบความสำเร็จเป็นรายแรกของภาคใต้ ผู้ป่วยรายนี้เป็นเพศชาย เมื่อวันที่ 9 พ.ค.โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ ได้ส่งทีมแพทย์และพยาบาลเดินทางไปรับตัวมาจาก จ.นราธิวาส เนื่องจากมีอาการหนัก ปอดอักเสบรุนแรง ออกซิเจนในเลือดและค่าการหายใจแย่ลงทำให้อาการหายใจล้มเหลวและต้องใส่ท่อช่วยหายใจ หลังจากให้ยารักษาสูตรมาตรฐานหรือยาต้านไวรัสเป็นเวลา 3 วัน ผู้ป่วยก็ไม่ได้มีอาการดีขึ้น และเป็นเวลาเดียวกันกับที่โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ ได้รับบริจาคพลาสมา จากผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาโควิด-19 กับโรงพยาบาลและหายป่วยเป็นคนแรกไปแล้วกว่า 30 วัน ทีมแพทย์ จึงตัดสินใจในการใช้พลาสมาที่ได้รับบริจาคในครั้งนี้จำนวน 600 ซีซี มาทำการรักษาผู้ป่วยวิกฤตชาว จ.นราธิวาส
วิธีการรักษาผู้ป่วยด้วยการใช้พลาสมาเป็นวิธีการรักษาทางเลือก และใช้ในกรณีที่ผู้ป่วยไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยการใช้ยาตามสูตรมาตรฐานหรือยาต้านไวรัสเท่านั้น กรณีนี้แพทย์ได้ให้พลาสมาแก่ผู้ป่วยไปทั้งหมด 2 โดส หรือครั้งละ 200 ซีซี ติดต่อกันเป็นจำนวน 2 ครั้ง และผลปรากฏว่า ในระยะเวลา 3-4 วัน ผู้ป่วยก็มีอาการดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด และสามารถถอดเครื่องช่วยหายใจได้ในวันที่ 4 หลังได้รับพลาสมา และพักฟื้นจนหายเป็นปกติ และสามารถเดินทางกลับบ้านได้ตั้งแต่วันอังคาร และไม่ใช่ว่าผู้ป่วยโควิด-19 ทุกคนจะสามารถรักษาด้วยวิธีนี้แล้วจะหายเป็นปกติทุกราย
นพ.อนุพงศ์ สุจริยากุล ผู้ทรงคุณวุฒิกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ขอให้ผู้ที่หายป่วยจากโรคโควิด-19 บริจาคพลาสมา เนื่องจากคนที่หายป่วยแล้วสุขภาพกายแข็งแรงขึ้นภายใน 60 วัน สามารถไปที่สภากาชาดไทยหรือทุกที่เพื่อบริจาคเลือด เชื่อว่า เลือดจะมีภูมิคุ้มกันแต่ระดับภูมิคุ้มกันของแต่ละคนจะไม่เหมือนกัน ซึ่งแพทย์จะเป็นผู้พิจารณา
สถาบันบำราศนราดูร เป็นที่แรกที่ใช้พลาสมา โดยใช้เลือดจากคนขับแท็กซี่ที่หายป่วยจากโรคโควิด-19 ทั้งนี้ พลาสมา สามารถพัฒนาต่อให้ใกล้เคียงกับยา จึงเป็นเรื่องดีถ้าหากว่าสามารถที่จะรักษาผู้ป่วย ช่วยให้ตอบสนองต่อการดูแลรักษาพยาบาล ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการเก็บข้อมูลว่าโรงพยาบาลไหนมีความสำเร็จในการใช้พลาสมาเพื่อรักษาผู้ป่วย
ผู้เชี่ยวชาญ มองวิกฤตโควิด-19 หนักกว่าต้มยำกุ้ง
สถานการณ์เศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากโรคโควิด-19 นายอมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการ ผู้จัดการใหญ่ สำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย(CIMBT) ระบุว่า สำนักวิจัย คาดว่า GDP ไตรมาสที่สอง มีโอกาสหดตัวได้ถึงร้อยละ 14 และในช่วงที่เหลือของปีจะชะลอตัวลง คาดว่า เศรษฐกิจไทยช่วงครึ่งปีหลังอาจหดตัวราวร้อยละ 10 และเนื่องจากการหดตัวที่ลึกและลากยาวของเศรษฐกิจที่มากกว่าที่ประเมินไว้ก่อนหน้า โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวที่จะฟื้นตัวช้า จึงได้ปรับลดมุมมองการเติบโตทางเศรษฐกิจปีนี้ลงจาก ติดลบร้อยละ 6.4 เป็นติดลบร้อยละ 8.9 และที่ต้องเตือนคือ วิกฤตเศรษฐกิจรอบนี้อาจเลวร้ายที่สุดที่ประเทศไทยเคยเผชิญและรุนแรงกว่าวิกฤตต้มยำกุ้งที่เศรษฐกิจไทยเมื่อปี 2541 จีดีพีหดตัวร้อยละ 7.63 รอบนี้อาจได้เห็นเศรษฐกิจหดตัวเลขสองหลักอีกครั้งและลากยาวกว่าเดิม
นายอมรเทพ กล่าวว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มเป็นรูปแบบตัวเจ หรือ Reversed J คือเศรษฐกิจไทยอาจลงลึก ลากยาว ฟื้นต่ำ คล้ายๆ กับตัวยู U ขณะที่ นักลงทุน มองโลกในด้านบวก มองว่าเศรษฐกิจกำลังจะถึงจุดต่ำสุดในช่วงนี้ สถานการณ์กำลังคลี่คลายไปด้วยดี ไม่ว่าจะเปิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ การลดลงของจำนวนผู้ติดเชื้อ
หุ้นสหรัฐฯ ปิดบวกต่อเนื่อง ขานรับการเยียวยาธุรกิจขนาดเล็ก
สถานการณ์ในต่างประเทศ สภาผู้แทนราษฏรสหรัฐฯ มีแผนลงมติในสัปดาห์หน้า ขยายกรอบเวลาเยียวยาช่วยเหลือธุรกิจขนาดเล็กที่ได้รับผลกระทบจากโรคโควิด -19 ภายใต้โครงการให้สินเชื่อเพื่อคุ้มครองธุรกิจ (Paycheck Protection Program หรือ PPP) นักลงทุนคาดหมายว่าเศรษฐกิจอาจฟื้นตัวรวดเร็ว ขณะที่รัฐต่างๆทั่วสหรัฐฯทยอยผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์สกัดการแพร่ระบาดโควิด-19 โดยเฉพาะธุรกิจการบินซึ่งได้รับผลกระทบอย่างหนัก ด้วยซีอีโอของเดลตา แอร์ไลน์ส แสดงความเชื่อมั่นว่าการสัญจรทางอากาศจะกลับคืนมาในช่วง 12 เดือนถึง 18 เดือนข้างหน้า
ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปิดบวกเป็นวันที่ 4 ในรอบ 5 วัน นักลงทุนคาดหมายว่าเศรษฐกิจอาจฟื้นตัวรวดเร็ว หลังรัฐต่างๆผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ และความเป็นไปได้ที่เฟด จะกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม ดาวโจนส์ เพิ่มขึ้น 369.04 จุด (1.52 เปอร์เซ็นต์) ปิดที่ 24,575.90 จุด เอสแอนด์พี เพิ่มขึ้น 48.67 จุด (1.67 เปอร์เซ็นต์) ปิดที่ 2,971.61 จุด แนสแดค เพิ่มขึ้น 190.67 จุด (0.08 เปอร์เซ็นต์) ปิดที่ 9,375.78 จุด
ปัจจัยเรื่องของเฟด ทำให้ราคาทองคำตลาดโคเม็กซ์ งวดส่งมอบเดือนมิถุนายน เพิ่มขึ้น 6.50 ดอลลาร์ ปิดที่ 1,752.10 ดอลลาร์ต่อออนซ์
สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัส อินเตอร์มีเดียต หรือไลต์สวีตครูด งวดส่งมอบเดือนกรกฎาคม เพิ่มขึ้น 1.53 ดอลลาร์ ปิดที่ 33.49 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ขณะที่เบรนต์ทะเลเหนือลอนดอน งวดส่งมอบเดือนกรกฎาคม เพิ่มขึ้น 1.10 ดอลลาร์ ปิดที่ 35.75 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล สูงสุดนับตั้งแต่วันที่ 11 มีนาคม หลังจาก สำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานแห่งสหรัฐฯ(อีไอเอ) รายงานว่าคลังน้ำมันดิบสำรองของสหรัฐฯ ลดลง 5 ล้านบาร์เรลในสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 15 มี.ค.ถือเป็นการลดลง 2 สัปดาห์ติด สวนทางกับที่พวกนักวิเคราะห์คาดหมายว่าจะเพิ่มขึ้นราวๆ 2.4 ล้านบาร์เรล
คมนาคม เตรียม 30 รายชื่อ เสนอนายกฯ 25 พ.ค. จัดทำแผนฟื้นฟูการบินไทย
สถานการณ์ของบริษัทการบินไทย นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม ประชุมร่วมกับนายถาวร เสนเนียม รมช.คมนาคม คณะกรรมการ(บอร์ด) และผู้บริหารบริษัท การบินไทย จำกัด(มหาชน) รายงานข่าวจากกระทรวงคมนาคมระบุว่าได้หารือถึงขั้นตอนการดำเนินการต่างๆ ว่าหลังจากนี้การบินไทยจะต้องดำเนินการอย่างไรต่อไปบ้าง นอกจากนี้ยังได้หารือเรื่องการพิจารณาคัดเลือกผู้จัดทำแผนฟื้นฟู ซึ่ง นายศักดิ์สยาม มอบให้การบินไทยเป็นผู้คัดเลือก และเฟ้นหาผู้ที่มีความรู้ ความสามารถ และประสบการณ์ รวมทั้งมีความเป็นมืออาชีพ ได้รับการยอมรับทั้งในและต่างประเทศ ซื่อสัตย์ สุจริต และมีผลงานเป็นที่ประจักษ์ เบื้องต้น คาดว่า วันที่ 25พ.ค.กระทรวงคมนาคม พร้อมด้วยผู้บริหารบริษัทฯ จะสามารถนำรายชื่อ ซึ่งมีไม่น้อยกว่า30คน เสนอให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พิจารณาคัดเลือก ก่อนจะเสนอศาลล้มละลายต่อไป
ส่วนเรื่องการลดสัดส่วนหุ้นของกระทรวงการคลังในบริษัทการบินไทย เป็นเรื่องที่กระทรวงการคลัง และสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) กำลังพิจารณาแนวทางการขายหุ้นการบินไทย เบื้องต้นน่าจะลดสัดส่วนเหลืออยู่ที่ประมาณร้อยละ 47และขายหุ้นให้กับกองทุนวายุภักดิ์ประมาณร้อยละ 3 ซึ่งเรื่องนี้ต้องทำคู่ขนานกันไปกับในส่วนของกระทรวงคมนาคม และเป็นเรื่องที่ต้องเร่งดำเนินการเช่นกัน ในวันนี้มีการประชุมบอร์ดกองทุนวายุภักดิ์ หารือเรื่องดังกล่าว