ไซโคลนอำพันถล่มอินเดีย-บังกลาเทศ เสียชีวิต 16 ราย
ความเสียหายหลังจากที่พายุไซโคลนอำพันขึ้นฝั่งถล่มอ่าวเบงกอล ด้วยความเร็วลม 185 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ทำให้เกิดฝนตกหนักและลมแรงในรัฐเบงกอลตะวันตก และรัฐโอริสสา ทางตะวันออกของอินเดีย และ บางส่วนของบังกลาเทศ นางมามาตา บาเนอร์จี มุขมนตรีรัฐเบงกอลตะวันตก ที่ได้รับผลกระทบจากไซโคลนอำพันหนักที่สุด กล่าวว่า สถานการณ์ตอนนี้น่ากังวลกว่าการระบาดของโรคโควิด-19 ตอนนี้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 12 ราย ประชาชนอย่างน้อย 500,000 คน ต้องอพยพไปอยู่ที่ศูนย์พักพิง ส่วนที่เมืองโกลกาตา ลมกระโชกแรงจนรถยนต์พลิกคว่ำ ต้นไม้และเสาไฟฟ้าหักโค่น บางส่วนของเมืองอยู่ในความมืด
กระทรวงเคหะของรัฐบาลกลางอินเดีย เปิดเผยว่า รัฐเบงกอลตะวันตกและรัฐโอริสสา กำลังพยายามหาที่รองรับผู้อพยพหลายพันคน เนื่องจาก ศูนย์พักพิงใช้เป็นศูนย์กักกันโรคโควิด-19 ไปแล้ว และกำลังดัดแปลงตลาดขายส่งและอาคารของรัฐบาลมาใช้เป็นที่พักพิง โดยมีการเว้นระยะห่างทางสังคม และแจกจ่ายหน้ากากอนามัย
ขณะที่ในประเทศเพื่อนบ้านอย่างบังกลาเทศ มีรายงานผู้เสียชีวิตแล้ว 4 ราย ขณะที่หลายเขตไฟฟ้าถูกตัดขาด ประชาชนรวม 2.4 ล้านคนรวมทั้งผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาจำนวนหนึ่งที่อาศัยอยู่บนเกาะในอ่าวเบงกอล ต้องอพยพไปอาศัยตามศูนย์หลบภัยพายุมากกว่า 15,000 แห่ง ที่ทางการจัดไว้ให้
พื้นที่ระหว่างชายแดนอินเดียกับบังกลาเทศซึ่งกำลังถูกพายุเล่นงานเป็นแหล่งที่ตั้งของชุมชนหลายแห่งที่เสี่ยงต่อพายุมากที่สุดในเอเชียใต้ ได้แก่ ชุมชนประมงยากจนในพื้นที่ซุนเดอร์บัน ป่าชายเลนบนดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำในอ่าวเบงกอลฝั่งอินเดีย กับค่ายผู้อพยพโรฮิงญาที่ใหญ่ที่สุดในโลกในเขตค็อกซ์ บาซาร์ ของบังกลาเทศ
CR:CNN,India TV
14 จังหวัดของไทยได้รับผลกระทบจากพายุอำพัน
กรมอุตุนิยมวิทยา รายงานว่า เมื่อเวลา 04.00 น. พายุไซโคลนอำพัน อ่อนกำลังลงเป็นพายุโซนร้อนแล้ว โดยมีศูนย์กลางอยู่บริเวณประเทศบังกลาเทศ พายุนี้กำลังเคลื่อนตัวทางทิศเหนือค่อนตะวันออกเล็กน้อย และมีแนวโน้มจะอ่อนกำลังลงเป็นพายุดีเปรสชัน สำหรับ 14 จังหวัด ของไทยที่ได้รับผลกระทบ แบ่งเป็น
-ภาคเหนือ 4 จังหวัด ได้แก่ จ.น่าน แพร่ ลำปาง และลำพูน รวม 5 อำเภอ 5 ตำบล 15 หมู่บ้าน บ้านเรือนเสียหาย 106 หลัง
-ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 6 จังหวัด ได้แก่ จ.หนองบัวลำภู สกลนคร นครพนม กาฬสินธุ์ สุรินทร์ และอำนาจเจริญ รวม 13 อำเภอ 24 ตำบล 54 หมู่บ้าน บ้านเรือนเสียหาย 276 หลัง
-ภาคกลาง 4 จังหวัด ได้แก่ จ.นครสวรรค์ อุทัยธานี สิงห์บุรี และราชบุรี รวม 5 อำเภอ 5 ตำบล 11 หมู่บ้าน บ้านเรือนเสียหาย 82 หลัง ปัจจุบันสถานการณ์คลี่คลายแล้ว
นายกฯ สั่งเร่งเก็บกักน้ำ ให้มากสุดช่วงหน้าฝน
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ได้รับรายงานจากสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เรื่องสถานการณ์ภัยแล้งและเรื่องการบริหารจัดการน้ำเนื่องจากเข้าสู่ฤดูฝนอย่างเป็นทางการตามประกาศกรมอุตุนิยมวิทยาจึงสั่งการให้หน่วยงานต่างๆ เร่งเก็บกักน้ำในแหล่งน้ำให้มากที่สุดและเตรียมพร้อมตามมาตรการรับสถานการณ์น้ำช่วงฤดูฝน พร้อมกับคาดการณ์และวางแผนบริหารจัดการน้ำแหล่งน้ำต่างๆ ให้สอดคล้องกับการใช้น้ำและปริมาณน้ำต้นทุน มอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดการคุณภาพน้ำเพื่ออุปโภคบริโภค และติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิดโดยเฉพาะพื้นที่ภัยแล้งซ้ำซาก
สมช.ยึดหลักสธ.เป็นเกณฑ์พิจารณาว่าจะขยายพ.ร.ก.ฉุกเฉิน ต่อหรือไม่
พล.อ.สมศักดิ์ รุ่งสิตา เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เปิดเผยว่า การประชุมในวันนี้ได้เชิญตัวแทนจากสาธารณสุขและภาคเอกชนเข้าร่วมหารือด้วยว่าจะต่ออายุพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน(พ.ร.ก.ฉุกเฉิน) ต่อหรือไม่ เนื่องจาก จะสิ้นสุดในวันที่ 31 พ.ค. การพิจารณาของสมช.ไม่ได้ใช้โพลเป็นตัวตัดสิน แต่ใช้สถานการณ์โควิด-19 ด้านสาธารณสุข เป็นสำคัญ และพิจารณาผลหลังจากที่ใช้มาตรการผ่อนปรนระยะที่ 2 ด้วย พล.อ.สมศักดิ์ กล่าวว่า ต้องเข้าใจก่อนว่า สถานการณ์โควิด-19 ที่ดีขึ้นในวันนี้ เป็นผลมาจากมาตรการต่างๆ เมื่อเดือนที่แล้ว ดังนั้น สิ่งที่ดีขึ้นวันนี้เป็นผลจากช่วงที่ผ่านมา ถ้าเราจะตัดสินใจทำอะไรเพื่อทำให้อนาคตดีขึ้น ต้องดูสถานการณ์ดีหรือไม่ดีวันนี้เป็นตัวตัดสิน ผลการประชุมวันนี้เป็นแค่มติสมช.ต้องเข้าที่ประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือ ศบค.ก่อน จากนั้นเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)
เอกชน จี้รัฐออกมาตรการนั่งร้านอาหารให้ชัด-เสนอจัดโซนครอบครัว
นายนพพร วิฑูรชาติ ประธานสมาคมศูนย์การค้าไทย เปิดเผยว่า สมาคมอยากให้ภาครัฐออกมาตรการหรือกฎเกณฑ์ในการนั่งรับประทานอาหาร เพื่อเว้นระยะห่างและเน้นความปลอดภัยจากการติดเชื้อโควิด-19ให้ชัดเจน โดยเฉพาะการจำกัดพื้นที่หรือจำนวนการนั่งในแต่ละโต๊ะ เพราะที่ผ่านมาผู้ประกอบการร้านอาหารต่างคิดหาวิธีกันเอง ปัจจุบันร้านอาหารได้จัดให้นั่งโต๊ะละ1-2 คน ทำให้พื้นที่การให้บริการลดเหลือแค่ร้อยละ 50 กระทบต่อต้นทุนและยอดขายของผู้ประกอบการอย่างมาก อีกทั้งยังเกิดปัญหาในกรณีที่ลูกค้านั่งรถมาด้วยกันเป็นครอบครัวแล้วถูกจับให้นั่งแยกซึ่งขัดกับความเป็นจริง จึงเสนอให้จัดโซนครอบครัวเพื่อให้คนที่มาด้วยกันนั่งด้วยกัน
การคลายล็อกดาวน์ระยะ2 ให้เปิดบริการศูนย์การค้าและห้างสรรพสินค้า มองว่า ดีกว่าไม่เปิด เพราะจะช่วยให้ผู้ประกอบการอยู่รอดได้ แม้ยอดขายกำไรไม่เหมือนเดิม สมาคมศูนย์การค้าร่วมกับสมาคมผู้ค้าปลีกไทย ยื่นหนังสือขอให้รัฐบาล ขยายยับเวลาปิดให้บริการจากเวลา 20.00น.เป็นเวลา21.00น. เพื่อให้ร้านอาหารมีเวลาขายมากขึ้น เพราะขณะนี้ปิดบริการเวลา20.00น.ร้านต้องหยุดขายตั้งแต่เวลา19.00น. สำหรับเตรียมเก็บกวาดล้างก่อนกลับบ้าน
กองถ่าย เป็นแชมป์ หละหลวมไม่ทำตามมาตรการ
ผลตรวจกิจการและกิจกรรม ประจำวันที่ 19 พ.ค. รวม 17,588 กิจการและกิจกรรม พบว่า ไม่ปฏิบัติตามมาตรการ ประมาณ 5 กิจการและกิจกรรม ศบค.มีมาตรการ ตักเตือน แนะนำ ตรวจซ้ำ ถ้ายัง ไม่ปรับปรุงจะปิดกิจการ
ส่วนผู้ที่ปฏิบัติตามมาตรการแต่ไม่ครบ ประมาณ 1,863 กิจการและกิจกรรม ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องเว้นระยะห่างร้อยละ 45.6 รองลงมาคือ จำนวนผู้ใช้บริการร้อยละ 17.4 จุดล้างมือ และเจลแอลกอฮอล์ร้อยละ 15.2 สำหรับกิจการและกิจกรรมที่อยู่ในข่ายนี้มากที่สุดคือ โทรทัศน์ กองถ่าย ร้อยละ 20 สถานออกกำลังกาย ร้อยละ 16.5 ร้านตัดผม ร้อยละ 13.9 และ ห้องสมุด ร้อยละ 12.9