ทันสถานการณ์โลก 06.30 น. วันอังคารที่ 19 พฤษภาคม 2563

19 พฤษภาคม 2563, 06:55น.


อินเดีย อพยพคนหนี “ซูเปอร์ไซโคลนอำพัน”คาดขึ้นฝั่งพุธนี้  



          กรมอุตุนิยมวิทยา รายงานว่า เมื่อเวลา 04.00 น. พายุไซโคลน “อำพัน” บริเวณอ่าวเบงกอลตอนกลาง กำลังเคลื่อนตัวทางทิศเหนือด้วยความเร็วประมาณ 5 นอต หรือ 10 กม./ชม. ความเร็วสูงสุดใกล้ศูนย์กลางประมาณ 95 นอต หรือ 175 กม./ชม. มีแนวโน้มเคลื่อนตัวเข้าสู่อ่าวเบงกอลตอนบนและประเทศบังกลาเทศ ประเทศไทยได้รับผลกระทบจากอิทธิพลของพายุลูกนี้ในทางอ้อม แต่ก็ทำให้มีฝนตกครอบคลุมทุกภาค ระหว่างวันที่ 18-20 พ.ค.ลมตะวันตกเฉียงใต้พัดเข้าปกคลุมทะเลอันดามันและภาคใต้ ฝนตกหนักบางพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรี ราชบุรี ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฏร์ธานี และนครศรีธรรมราช ส่วนคลื่นลมในทะเลอันดามัน มีกำลังแรงขึ้น ตั้งแต่จังหวัดกระบี่ขึ้นมา ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองจะมีคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร



          สำนักข่าวต่างประเทศ รายงานว่า พายุไซโคลนอำพัน ทวีกำลังแรงขึ้นกลายเป็นซูเปอร์ไซโคลนแล้ว เคลื่อนตัวด้วยความเร็ว 240 กิโลเมตรต่อชั่วโมง พายุลูกนี้ ไทยเป็นคนตั้งชื่อ หมายถึง ยางไม้ที่แข็งเป็นก้อน สีเหลืองใสเป็นเงา



         สถานการณ์ในอินเดีย นายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดีของอินเดีย ประชุมเตรียมความพร้อม คาดว่าพายุจะขึ้นฝั่งวันพุธนี้  พร้อมทั้งเร่งอพยพประชาชนในรัฐโอริสสาและรัฐเบงกอลตะวันตก เจ้าหน้าที่กระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า ต้องอพยพคนในพื้นที่ลุ่มต่ำไปยังศูนย์พักพิง ขณะเดียวกันก็ต้องป้องกันไม่ให้ติดโรคโควิด-19 ด้วย เป็นภารกิจที่ไม่ง่ายนัก อินเดียมีผู้ป่วยโควิด-19 สะสม เมื่อเวลา 06.00น.จำนวน 100,340 คน เสียชีวิต 3,156 ราย



          ปกติแล้วฤดูไซโคลนมักเกิดขึ้นตั้งแต่เดือนเม.ย.ถึง ธ.ค. อินเดียและประเทศเพื่อนบ้านเช่นบังกลาเทศได้รับความเสียหายทั้งชีวิตและทรัพย์สิน อินเดียมีชายฝั่งยาวถึง 7,516 กิโลเมตร แต่ละปีถูกไซโคลนพัดกระหน่ำราว 1 ใน 10 ของโลก ส่วนใหญ่เกิดขึ้นรอบอ่าวเบงกอล ทางฝั่งตะวันออกของประเทศ



CR:CNN



เศรษฐกิจญี่ปุ่น เข้าสู่ภาวะถดถอยครั้งแรกในรอบ 4 ปีครึ่ง



          เศรษฐกิจญี่ปุ่น เข้าสู่ภาวะถดถอยครั้งแรกในรอบ 4 ปีครึ่ง เนื่องจากไตรมาส 4 ปีที่แล้ว เศรษฐกิจติดลบร้อยละ 1.9 เนื่องจากมาตรการขึ้นภาษีและผลกระทบจากไต้ฝุ่นหลายลูก และไตรมาส 1 ปีนี้ ตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ชะลอตัวลงร้อยละ 0.9 ผู้เชี่ยวชาญบางคน เช่น นายนาโอยะ โอชิคูโบะ นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสของซูมิ ทรัสต์ ทำนายว่า เศรษฐกิจญี่ปุ่น จะได้รับผลกระทบรุนแรงและชัดเจนขึ้นจากวิกฤตโควิด-19 ทำให้รัฐบาลต้องประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ประกอบกับได้รับผลกระทบต่อเนื่องจากระดับความรุนแรงของสถานการณ์โรคโควิด-19 ในประเทศตะวันตก แม้สถานการณ์การระบาดในญี่ปุ่นรุนแรงน้อยกว่าในประเทศชั้นนำอื่นๆ ด้วยจำนวนผู้ติดเชื้อสะสมเพียงกว่า 16,000 คน และผู้เสียชีวิต 750 ราย แต่รัฐบาล กังวลว่า จำนวนผู้ติดเชื้ออาจพุ่งขึ้น โดยเฉพาะในกรุงโตเกียวที่มีประชากรหนาแน่น



อุตสาหกรรมยานยนต์สหรัฐฯ เตรียมเปิดโรงงานผลิตอีกครั้ง



          อุตสาหกรรมยานยนต์ของสหรัฐฯ เริ่มกลับมาดำเนินการผลิตอีกครั้ง เพื่อฟื้นฟูภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากโรคโควิด-19 บริษัท เจนเนอรัล มอเตอร์ (GM) ฟอร์ด มอเตอร์ และเฟียต ไครสเลอร์ ออโตโมบิล ต่างเตรียมความพร้อมที่จะเปิดโรงงานในอเมริกาเหนืออีกครั้ง ขณะที่ ซัพพลายเออร์หลายแห่งได้เริ่มเปิดโรงงานผลิตตั้งแต่สัปดาห์ที่แล้วเพื่อลดผลกระทบด้านรายจ่ายที่เกิดจากภาวะล็อกดาวน์ ทั้งนี้ อุตสาหกรรมยานยนต์ของสหรัฐฯมีการจ้างงานเกือบ 1,000,000 ตำแหน่ง และคิดเป็นประมาณร้อยละ 6 ของกิจกรรมทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ



ฝรั่งเศส ปิดโรงเรียน 7 แห่ง พบเด็กป่วยโควิด 70 คน



          โรงเรียนประถม 7 แห่ง ในเมืองฮูเบของฝรั่งเศส ต้องปิดการเรียนการสอนอีกครั้ง เนื่องจากพบนักเรียนป่วยโควิด-19 อย่างน้อย 1 คน หลังจากที่สัปดาห์ที่แล้วกลับมาเปิดเรียน ด้านเจ้าหน้าที่ เตรียมแจ้งให้ครอบครัวเด็กคนอื่นๆ ที่สัมผัสใกล้ชิดกับเด็กคนที่ป่วยเฝ้าระวังอาการ รัฐมนตรีศึกษาธิการฝรั่งเศส เปิดเผยว่า ในภาพรวมพบเด็กนักเรียนติดเชื้อโควิด-19 จำนวน 70 คนจากโรงเรียน 40,000 แห่ง ทำให้สั่งปิดทุกโรงเรียนที่มีการระบาด



          ฝรั่งเศส ผ่อนปรนมาตรการล็อกดาวน์  โดยให้โรงเรียนกลับมาเปิดทำการได้ตามปกติ ท่ามกลางความกังวลจากผู้ปกครองที่วิตกว่าบุตรหลานจะติดเชื้อไวรัส



ผู้นำจีน สนับสนุนให้องค์การอนามัยโลก ตรวจสอบการรับมือโควิด-19



          ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน กล่าวปราศรัยทางวิดีโอต่อที่ประชุมประจำปีของสมัชชาอนามัยโลก ที่นครเจนีวา ของสวิตเซอร์แลนด์ เพื่อหารือกำหนดแนวทางและนโยบายขององค์การอนามัยโลก และครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่เป็นการประชุมแบบออนไลน์ เพื่อหลีกเลี่ยงการระบาดของโรคโควิด-19 ว่า จีนสนับสนุนให้องค์การอนามัยโลก เป็นแกนนำในการตรวจสอบการรับมือของการระบาดของโรโควิด-19 ของประเทศต่างๆ ทั่วโลก หลังจากที่สามารถควบคุมการระบาดของเชื้อไวรัสได้แล้ว ประธานาธิบดีสี ย้ำว่าจีนมีความโปร่งใส เปิดกว้าง และพร้อมรับผิดชอบร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการต่อสู้ยับยั้งโรคโควิด-19 ให้ข้อมูลกับองค์การอนามัยโลก และประเทศที่เกี่ยวข้อง แบ่งปันประสบการณ์ในการควบคุมและรักษาผู้ติดเชื้อ ทำทุกอย่างเพื่อสนับสนุนและช่วยเหลือประเทศที่ต้องการความช่วยเหลือ



          ทางการจีน อนุมัติงบประมาณ 2,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือกว่า 64,000 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือด้านเศรษฐกิจและการพัฒนาสังคมในประเทศที่ได้รับผลกระทบจากโรคโควิด-19 ในช่วง 2 ปีข้างหน้า นอกจากนี้ยังกล่าวว่า เมื่อจีนพัฒนาวัคซีนสำเร็จแล้ว จะเร่งผลิตออกสู่ระดับโลก และแจกให้ประเทศกำลังพัฒนา



สหรัฐฯ โต้จีนแค่เบี่ยงประเด็นรับผิดชอบโควิด-19



          โฆษกสภาความมั่นคงแห่งชาติของทำเนียบขาวสหรัฐฯ ระบุว่า เรื่องที่จีนสนับสนุนองค์การอนามัยโลกในเรื่องการสนับสนุนเงินบริจาคเป็นการทำเพื่อเบี่ยงความสนใจ ขณะที่ประเทศต่างๆ เรียกร้องให้รัฐบาลจีนแสดงความรับผิดชอบที่ไม่ได้ทำตามสัญญาและหน้าที่ที่ต้องบอกความจริงและแจ้งเตือนโลกเรื่องโควิด-19 แม้องค์การอนามัยโลก ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างดุเดือดจากสหรัฐฯ แต่การประชุมทางไกลของสมัชชาสุขภาพโลก องค์การอนามัยโลก กลับได้รับเสียงชื่นชมจากหลายประเทศ



 



 

ข่าวทั้งหมด

X