คลัง-พม.หาทางช่วยกลุ่มเปราะบาง-กลุ่มชายขอบ กว่า 10 ล้านคน
นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ตั้งแต่วันนี้ กระทรวงการคลัง ประสานกับธนาคารรัฐ เช่น ธนาคารกรุงไทย ธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ให้จัดพื้นที่สาขาทั่วประเทศ รับเรื่องร้องทุกข์การเยียวยา 5,000 บาท ต่อเนื่องจนถึงวันที่ 29 พ.ค.เพราะยังพบว่าคนที่มาร้องเรียนส่วนใหญ่มีปัญหาติดขัดเรื่องการลงทะเบียน ผูกบัญชีพร้อมเพย์ไม่เรียบร้อย ผู้ที่จะช่วยเหลือได้ดีที่สุดคือเจ้าหน้าที่ธนาคาร ต้องการให้ไปที่ธนาคารโดยตรง นอกจากนี้ นายกฯ สั่งให้ติดตามการเยียวยาผู้ที่เดือดร้อนจากโรคโควิด-19 มีการตั้งคณะทำงานเป็นปลัด 10 กระทรวงมาดูแล ต้องดูเรื่องงบประมาณด้วย
นอกจากนี้ กระทรวงการคลัง กำลังหารือกับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.)ช่วยเหลือกลุ่มที่ตกหล่น เช่น กลุ่มชายขอบ กลุ่มเปราะบาง มีจำนวนกว่า 10 ล้านคน ในภาพรวมรัฐบาลดูแลเยียวยาประชาชน 40-50 ล้านคน จะใช้งบประมาณราว 3.5 แสนล้านบาท จาก พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท ส่วนที่เหลือเก็บไว้เยียวยาผู้ประกอบการ
มาตรการใหม่ “อุ้มกลุ่มเปราะบาง” ลุ้นเพิ่มอีก1,000 บาท
นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยเรื่องการช่วยเหลือกลุ่มที่ยังเข้าไม่ถึงมาตรการรัฐและเตรียมช่วยเหลือเพิ่มเติมกลุ่มเปราะบาง เช่น เด็กแรกเกิด คนสูงอายุ คนพิการ มีประมาณ 13 ล้านคน พม.กำลังเสนอมาตรการช่วยเหลือ คาดว่า น่าจะได้ข้อสรุปเร็วๆนี้ ก่อนหน้านี้มีแนวคิดจะช่วยเพิ่มอีกคนละ 1,000 บาท เป็นเวลา 3 เดือน แต่ต้องเข้าคณะกรรมการกลั่นกรอง และ คณะรัฐมนตรี(ครม.) ก่อน
กลุ่มรายได้น้อยถือบัตรสวัสดิการ 14.6 ล้านคน พบว่ายังไม่ได้รับความช่วยเหลือ ประมาณ 2.4 ล้านคน กำลังดูว่าจะเติมเงินเพิ่มในบัตรหรือไม่ และกลุ่มได้รับผลกระทบจากสังคม กรณี พ.ร.ก.ฉุกเฉิน 1 ล้านคน ซึ่ง พม.จะเข้าไปช่วย กำลังดูแนวทางว่าจะช่วยอย่างไร
โควิด-19 เปลี่ยนการบริโภคอาหาร
นางอนงค์ ไพจิตรประภาภรณ์ ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ศูนย์อัจฉริยะเพื่ออุตสาหกรรมอาหาร จัดทำรายงานเกี่ยวกับพฤติกรรมผู้บริโภคและอุตสาหกรรมอาหารในเอเชียช่วงสถานการณ์โควิด-19 พบว่าผู้บริโภคในจีนร้อยละ 86 รับประทานอาหารที่บ้าน ชาวฮ่องกง ร้อยละ 77 และมาเลเซีย เวียดนาม เกาหลีใต้ ร้อยละ 62 ส่วนมูลค่าค้าปลีกอาหารในเอเชียมีอัตราการเจริญเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 20-25 ต่อสัปดาห์ตั้งแต่เดือนมกราคม เป็นต้นมา นอกจากนี้ผู้บริโภคมีความต้องการอาหารที่มีส่วนช่วยเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายให้แข็งแรง ซึ่งจะเป็นโอกาสของแบรนด์ต่างๆ ในการสร้างสินค้านวัตกรรมที่จะช่วยเสริมระบบภูมิคุ้มกันของโรคในอนาคต
ส่วนตลาดอาหารในเอเชีย พัฒนาการเปลี่ยนแปลงในช่วง 5 ปี ธุรกิจบริการจัดส่งอาหารเติบโตขึ้น และโควิด-19 ทำให้ผู้บริโภคซื้อกลับไปรับประทานที่บ้านและเกิดกิจกรรมการปรุงอาหารรับประทานเองมากขึ้น เช่น ในญี่ปุ่นและไทย พฤติกรรมนี้จะเป็นนิวนอร์มอล โดยเป็นการสั่งซื้อผ่านออนไลน์มากขึ้นด้วย ดังนั้นการเปลี่ยนแปลงทำให้ธุรกิจการให้บริการอาหาร ธุรกิจค้าปลีก และผู้ผลิตอาหารจำเป็นต้องปรับตัว สร้างช่องทางจำหน่ายแบบออนไลน์อย่างจริงจัง ต้องหาพันธมิตรมาช่วยเรื่องการจัดส่งสินค้า สร้างความเชื่อมั่นในแบรนด์
เฟด เผยโควิด-19 ฉุดเศรษฐกิจสหรัฐฯ ชะลอตัวยาวถึงปีหน้า
ในรายการ 60 นาที ทางสถานีโทรทัศน์ซีบีเอสของสหรัฐฯ ออกอากาศเทปบันทึกการสัมภาษณ์นายเจอโรม พาวเวลล์ ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) เกี่ยวกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯและเศรษฐกิจโลก ท่ามกลางวิกฤตโรคระบาดโควิด-19 ว่า โดยส่วนตัวเขายังคงเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจของสหรัฐฯจะฟื้นตัวได้บ้างช่วงครึ่งหลังของปีนี้ อย่างไรก็ตาม การฟื้นตัวอย่างสมบูรณ์แบบ ยังต้องใช้เวลาอีกนาน อาจล่วงเลยถึงปลายปีหน้า แต่ช่วงเวลาดีที่สุด คือเมื่อโลกมีวัคซีนมีประสิทธิภาพเพื่อป้องกันโรค นักวิทยาศาสตร์ คาดการณ์ว่า ต้องรอภายใน 12-18 เดือน
สถานการณ์ในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ เลวร้ายอย่างมาก ข้อมูลของกระทรวงแรงงานสหรัฐฯ ระบุว่า ตั้งแต่วันที่ 21 มี.ค. ชาวอเมริกันมากกว่า 36 ล้านคนขึ้นทะเบียนเป็นผู้ว่างงานเพื่อขอรับความช่วยเหลือจากรัฐ ส่งผลให้อัตราว่างงานเมื่อเดือนเม.ย.พุ่งขึ้นเป็นร้อยละ 14.7 มากที่สุดนับตั้งแต่ยุคเศรษฐกิจตกต่ำหลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง และหลายฝ่าย ยอมรับว่า อัตราการว่างงานในสหรัฐฯ ในปีนี้ อาจพุ่งขึ้นต่อไปอีกเป็นร้อยละ 20 ถึงร้อยละ 25 ในปีนี้
ประธานเฟด ย้ำว่า ไม่มีนโยบายใช้อัตราดอกเบี้ยติดลบ เพราะอัตราดอกเบี้ยนโยบายตอนนี้อยู่ที่ระหว่างร้อยละ 0 ถึงร้อยละ 0.25 ถือว่าต่ำมากแล้ว สวนทางกับการเรียกร้องของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐฯซึ่งต้องการให้เฟดกดดอกเบี้ยลงอีก และเพิ่มการทำมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (คิวอี ) สู้กับจีน