ศบค.จับตาโควิด-19 เชื่อมโยงเด็กป่วย อวัยวะหลายระบบอักเสบ
นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) เปิดเผยว่า จากข้อมูลในยุโรปและสหรัฐฯ พบเด็กป่วยด้วยอาการผิดปกติเกี่ยวกับภูมิต้านทานที่เชื่อมโยงกับโควิด-19 เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ทำให้ต้องศึกษาเพิ่มเติม เนื่องจาก พบเด็กป่วยในนิวยอร์ค 3 คน ในฝรั่งเศสและอังกฤษประเทศละ 1 คน องค์การอนามัยโลก อยู่ระหว่างการศึกษาความเชื่อมโยงของโรคโควิด-19 และโรคที่ทำให้เกิดการอักเสบในอวัยวะต่างๆ สอดคล้องกับที่ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลก เปิดเผยว่า เด็กที่มีอวัยวะภายในอักเสบทำให้อาการรุนแรงถึงขั้นเข้าไอซียู และอาการหลายอย่างคล้ายโรคคาวาซากิ ทำให้มีเด็กป่วยหนักและเสียชีวิต
พยาบาลจ.ภูเก็ต โหมงานหนัก เส้นเลือดในสมองแตก
นพ.บัญชา ค้าของ รองอธิบดีกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยถึงกรณีของนางรัชนีกร ถิรตันตยาภรณ์ พยาบาลวิชาชีพชำนาญการพิเศษ โรงพยาบาลถลาง จ.ภูเก็ต ซึ่งเป็นหัวหน้ากลุ่มงานบริการด้านปฐมภูมิและองค์รวม ที่ทำงานร่วมกับอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ที่มีอาการเครียดและเกิดอาการเส้นเลือดในสมองแตกว่าได้ส่งตัวจาก จ.ภูเก็ต มารักษาตัวที่โรงพยาบาลในกรุงเทพฯแล้ว อาการในตอนนี้อยู่ในเกณฑ์ที่ยังรู้สึกตัวดี แต่มีอาการปวดหัวอย่างหนัก นางรัชนีกร ทำงานหนัก พักผ่อนไม่พอ เนื่องจาก จ.ภูเก็ต เป็นพื้นที่ที่มีการระบาดของโรคโควิด-19 สูง นางรัชนีกร ทำหน้าที่คัดกรองและค้นหาผู้ติดเชื้อรายใหม่ในพื้นที่ ต.บางเทา อ.ถลาง พร้อมกับรณรงค์ป้องกันโรคดังกล่าวและยังเป็นแกนนำหลักในการตั้งศูนย์กักกันโรคในชุมชนบางเทา
รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า กรณีของนางรัชนีกร เป็นตัวแทนของบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข ที่ทำงานในพื้นที่อย่างมุ่งมั่น ต้องขอขอบคุณและชื่นชมบุคลากรเหล่านี้ ขอวิงวอนประชาชนว่า ถ้าทุกคนอยู่บ้านเท่ากับว่าช่วยแพทย์ ถ้าเรามีกำลังแพทย์และพยาบาลดี จะช่วยเราไม่ให้เป็นโรคโควิด-19 วันนี้ เข้าสู่วันที่ 128 หรือประมาณ 4 เดือนครึ่ง ของช่วงเวลาแห่งการต่อสู้กับโรคโควิด-19 สถานการณ์ในประเทศไทยตอนนี้อย่าเพิ่งเรียกว่าสำเร็จ เพราะสงครามยังไม่จบ ต้องขอความร่วมมือประชาชนทุกคน แต่ประเทศเราถือว่าเป็นประเทศหนึ่งที่ประสิทธิภาพของประชาชนมีสูงมาก ส่งผลให้การควบคุมโรคนี้อยู่ในระดับที่น่าพอใจ
Cr. ปชส.ภูเก็ต /สทท.ภูเก็ต
ผู้ทรงคุณวุฒิกรมควบคุมโรค สธ. เตือนไทยเลี่ยงไม่ได้ ระบาดรอบ 2
นพ.อนุพงศ์ สุจริยากุล ผู้ทรงคุณวุฒิกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า แม้ตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 จะลดลง แต่ทุกคนต้องไม่ประมาท ขอให้นึกถึงตอนพบผู้ป่วยโรคโควิด-19 มากที่สุด 188 คน จากนั้นทุกคนปฏิบัติตามข้อปฏิบัติของกระทรวงสาธารณสุข จนมีการปลดล็อก 2 ระยะ สำหรับการคาดการณ์จำนวนผู้ป่วยรายใหม่ การป้องกันมี 2 ฝ่าย
1.ไม่ให้เชื้อเข้าประเทศ
2.ป้องกันการติดเชื้อในพื้นที่หรือในประเทศ เป็นเรื่องสำคัญมาก ส่วนการแพร่ระบาดรอบ 2 เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะประชาชนยังมีการเดินทาง และการผ่อนปรนบางส่วน ส่งผลให้มีโอกาสจะเกิดการแพร่ระบาดอีกครั้ง
กทม.เดินหน้าตรวจกลุ่มเสี่ยงกว่า 15,000 คน ไม่แสดงอาการ
พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร(กทม.) ขอความร่วมมือประชาชนไม่ต้องเดินทางไปห้างสรรพสินค้ากันมากจนแออัด เพราะห้างสรรพสินค้ายังเปิดตลอดตั้งแต่เวลา 10.00 - 20.00 น. ห้างสรรพสินค้าต้องจำกัดจำนวนคนเข้า ส่วนร้านอาหารต้องเว้นระยะห่างหรือมีฉากกั้น เน้นย้ำห้ามดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในร้าน หากไม่ดำเนินการจะสั่งปิดร้านทันทีไม่มีการตักเตือน ส่วนห้างก็ต้องช่วยด้วย หากห้างไม่ดูแลก็ต้องปิดเหมือนกัน
ด้าน ร.ต.อ.พงศ์กร ขวัญเมือง โฆษก กทม. กล่าวว่า กทม. จะดำเนินนโยบายเชิงรุกสุ่มตรวจโรคเพื่อเฝ้าระวังกลุ่มเสี่ยงให้เพิ่มมากขึ้น จะตรวจทั้งหมดกว่า 15,000 คน โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงที่ไม่แสดงอาการ
CR:กรุงเทพมหานคร
หมอชี้เข้าหน้าฝนห่วง 'ไข้เลือดออก'
นพ.ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า หน้าฝนจะมีโรคไข้หวัดใหญ่ และโรคไข้เลือดออก ขอให้ช่วยกันป้องกันเพื่อไม่ให้เกิดความสับสนกับโรคโควิด-19
โรคไข้เลือดออก จะมีอาการไข้เป็นหลัก ขณะที่โควิด-19 จะมีอาการทั้งไข้และอาการของโรคระบบทางเดินหายใจ เช่น ไอ เจ็บคอ มีน้ำมูก ที่สำคัญที่สุดคือการป้องกันโรคไข้เลือดออก เพื่อไม่ให้มีจำนวนผู้ป่วยเข้าโรงพยาบาลเพิ่มมากขึ้น ปีนี้เป็นปีที่จะต้องช่วยกัน ถ้าเกิดอาการโรคไข้เลือดออก ผู้ป่วยบางคนก็จะมีอาการช็อก มักจะเกิดขึ้นในวันที่เริ่มมีอาการไข้ลดลง โดยจะมีไข้สูงประมาณวันที่ 2-7 วันแรก และช่วงที่มีอาการไข้ลดลงผู้ป่วยอาจจะมีอาการช็อก โดยทั่วไป ถ้าได้รับการรักษาอย่างดี ประคับประคองดี ก็จะหาย
ส่วนโรคไข้หวัดใหญ่ มีอาการป่วยคล้ายคลึงกัน อยากเชิญชวนให้กลุ่มที่สามารถได้รับวัคซีนฟรี รีบไปรับวัคซีนโดยด่วน เนื่องจาก สามารถจัดหาวัคซีนได้เพียงประมาณ 4 ล้านเข็ม สำหรับคนประมาณ 4 ล้านคน กลุ่มที่สามารถรับฟรี ได้แก่
1.หญิงมีครรภ์ อายุครรภ์ 4 เดือนขึ้นไป
2.เด็กอายุ 6 เดือนถึง 2 ปี
3.ผู้ที่มีโรคเรื้อรัง ได้แก่ ปอดอุดกั้นเรื้อรัง หัวใจ หอบหืด ไตวาย หลอดเลือดสมอง ผู้ป่วยมะเร็ง ที่อยู่ระหว่างการให้เคมีบำบัดและเบาหวาน
4.ผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไป
5.ผู้พิการทางสมอง ช่วยเหลือตนเองไม่ได้
6.ผู้ป่วยโรคธาลัสซีเมียและคนที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง (รวมผู้ติดเชื้อ HIV ที่มีอาการ)
7.คนที่มีน้ำหนักตั้งแต่ 100 กิโลกรัม
อีกกลุ่มที่สามารถรับวัคซีนได้ฟรี คือกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ ส่วนที่มีข่าวว่าการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่จะทำให้มีโอกาสติดเชื้อโควิด-19 มากขึ้น ชี้แจงว่า ไม่เป็นความจริง สามารถรับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ได้เพื่อป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ และป้องกันความรุนแรงของโรคที่อาจจะเกิดขึ้น