ก่อนการเข้าให้ความเห็นและเสนอแนวทางการยกร่างรัฐธรรมนูญต่อคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญของพรรคเพื่อไทย ที่นำโดย นาย โภคิน พลกุล ที่ปรึกษากฎหมายพรรคเพื่อไทย ในฐานะตัวแทนพรรค นายโภคิน ระบุว่า การยกร่างรัฐธรรมนูญควรยึดรัฐธรรมนูญปี 2540 เป็นหลักในการร่าง เพราะเป็นรัฐธรรมนูญที่ดีที่สุดของประเทศไทย โดยเฉพาะการกำหนดให้นายกรัฐมนตรีต้องมาจากพรรคการเมือง พร้อมระบุว่าบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญต้องมีเนื้อหาที่ทำให้ประชาชนเข้าใจได้ง่าย ควรยึดหลักพื้นฐานประชาธิปไตย และคำนึงถึงผลประโยชน์ของประชาชนเป็นหลัก ส่วนการทำประชามติ มองว่าไม่ใช่ประเด็นสำคัญ เพราะในอดีตที่มีการทำประชามติ รัฐธรรมนูญก็ถูกฉีกทิ้งมาแล้ว
ส่วนการนิรโทษกรรม มองว่า ในรัฐธรรมนูญควรบัญญัติไว้ว่าไม่สามารถทำได้ โดยระบุว่าความเห็นต่างในสังคมเป็นเรื่องปกติ แต่การนำความเห็นต่างที่เกิดจากความไม่พอใจของบุคคลบางกลุ่มหรือความเห็นต่างจากการกระทำของบางกลุ่มมาทำให้เกิดการแก้ไขรัฐธรรมนูญตามความต้องการของอีกฝ่าย ถือว่าเป็นเรื่องที่ไม่สมควร เช่นเดียวกับควรบัญญัติในรัฐธรรมนูญว่าไม่ให้นิรโทษกรรมคณะรัฐประหาร เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย พร้อมระบุว่าการปฎิรูปครั้งนี้ต้องนำประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมให้มากที่สุด เพื่อให้เป็นที่ยอมรับจากประชาชน และเป็นการปฎิรูปเพื่อประชาชนอย่างแท้จริง
นายโภคิน ยังระบุว่า หากต้องการสร้างความปรองดอง และปราบการทุจริตให้ได้ องค์กรอิสระต่างๆก็ควรได้รับการตรวจสอบจากศาล และต้องแสดงรายการบัญชีทรัพย์สินหนี้สินของตัวเองต่อสาธารณะเพื่อให้เกิดความโปร่งใสด้วย
หลังจากพรรคเพื่อไทยเข้าให้ข้อเสนอต่อคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญแล้ว คณะกรรมาธิการยกร่างก็มีวาระพิจารณาผลการดำเนินงานของคณะอนุกรรมาธิการพิจารณากรอบการจัดทำรัฐธรรมนูญ คณะที่ 3 ภาค 2 หมวด 1 ว่าด้วยระบบผู้แทนที่ดีและผู้นำการเมืองที่ดี หมวด 2 แนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ หมวด 3 รัฐสภา และหมวด 4 คณะรัฐมนตรี ที่มีนาย สุจิต บุญบงการ เป็นประธานคณะอนุกรรมาธิการด้วย