ทันสถานการณ์โลก 06.30น.ประจำวันศุกร์ที่ 15 พฤษภาคม 2563

15 พฤษภาคม 2563, 06:45น.


ทันสถานการณ์โลก 06.30น.ประจำวันศุกร์ที่ 15 พฤษภาคม 2563



ยอดผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา ยังพุ่งไม่หยุด รัสเซียรั้งอันดับ 2 



          มหาวิทยาลัยจอห์น ฮอปกินส์ รายงานว่า วันนี้ (05.50 น.) ทั่วโลกมีผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 อยู่ที่ 4,426,937 คน และมีผู้เสียชีวิต 301,370 ราย



          สหรัฐฯมีผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตมากที่สุดในโลก โดยมีผู้ติดเชื้อ 1,413,012 คน และมีผู้เสียชีวิต 85,851 ราย รัฐนิวยอร์กเป็นศูนย์กลางการแพร่ระบาดจากจำนวนผู้ติดเชื้อที่สูงถึง 340,661 คนและมีผู้เสียชีวิตสูงสุดในสหรัฐฯคือ 27,607 ราย

          สำหรับประเทศที่มีผู้ติดเชื้อมากเป็นอันดับรองลงมาคือ รัสเซีย (252,245), สหราชอาณาจักร (230,985), สเปน (228,691),  อิตาลี (222,104)



          ส่วนประเทศที่มีผู้เสียชีวิตรองจากสหรัฐฯ คือ สหราชอาณาจักร (33,693), อิตาลี (31,698), ฝรั่งเศส (27,428) แซงหน้าสเปน ขึ้นมาเป็นอันดับที่  4 สเปนเป็นอันดับ 5 มีผู้เสียชีวิต 27,321 ราย



          ที่น่าตกใจมากกว่านั้นคือ บราซิล มียอดผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นมาเป็นอันดับ 6 ของโลกอยู่ที่ 197,838 คน เสียชีวิต 13,930 ราย



อียูเตือน วัคซีนป้องกันโควิด-19 เป็นสินค้าสาธารณะต้องกระจายให้ครบ



          สหภาพยุโรป หรือ อียู ยืนยันว่า วัคซีนป้องกันโควิด-19 ไม่ว่าจะพัฒนาขึ้นโดยฝ่ายใดก็ตาม จะต้องมีการแจกจ่ายอย่างเป็นธรรมสำหรับทุกประเทศ ซึ่งเป็นคำประกาศหลังจากที่นายพอล ฮัดสัน หัวหน้าผู้บริหารของซาโนฟี่ (Sanofi) เปิดเผยว่าซาโนฟี่และแกล็กโซสมิทไคลน์ (GSK) ทำข้อตกลงในการร่วมกันผลิตวัคซีนโควิด-19 โดยจะมีการทดสอบทางคลินิคในครึ่งหลังของปีนี้ ซึ่งหากประสบความสำเร็จ ก็จะมีการผลิตภายในครึ่งหลังของปีหน้า และชาวอเมริกันจะได้รับวัคซีนเป็นกลุ่มแรก เพราะสหรัฐฯ ให้ทุนสนับสนุนการวิจัย ซึ่งเป็นคำกล่าวที่ทำให้ทางการฝรั่งเศสแสดงความไม่พอใจเป็นอย่างมาก



          นายสเตฟาน เดอ คีส์เมคเกอร์ โฆษกคณะกรรมาธิการยุโรป กล่าวว่า วัคซีนป้องกันโควิด-19 ควรเป็นสินค้าสาธารณะของทั่วโลก การเข้าถึงจึงต้องมีความเป็นธรรมและเป็นสากล อย่างไรก็ตามในเวลานี้มีบริษัทเวชภัณฑ์ และนักวิจัยจำนวนมากได้พัฒนาวัคซีนป้องกันโควิด-19 ซึ่งในเดือนนี้สหภาพยุโรปยังมีโครงการระดมทุนทั่วโลกสำหรับการวิจัยวัคซีนซึ่งมีมูลค่าประมาณ 8,000ล้านเหรียญสหรัฐฯ แต่สหรัฐอเมริกาปฏิเสธที่จะเข้าร่วมโครงการ 



กลุ่มสิทธิมนุษยชนในอินเดีย เตือน แอปพลิเคชั่นเตือนโควิด-19 ละเมิดข้อมูลส่วนบุคคล



          หลังทางการอินเดียใช้มาตรการบังคับให้ประชาชนดาวโหลดแอปพลิเคชั่นอโรคยาเซตู (Aarogya Setu : Health Bridge) บนสมาร์ทโฟน ก่อนใช้บริการรถไฟ รถโดยสาร และเครื่องบิน ทำให้มีชาวอินเดียดาวโหลดแอปพลิเคชั่นนี้มากถึง 100 ล้านคนแล้ว หลังจากที่ไม่ประสบความสำเร็จในการโน้มน้าวให้ประชาชนดาวโหลดโดยสมัครใจ เพื่อร่วมกันป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่กลุ่มสิทธิมนุษยชนเตือนว่า แอปอโรคยาเซตู ละเมิดความเป็นส่วนตัวเพราะไม่ได้แค่ตรวจสอบจีพีเอส แล้วแจ้งเตือนผู้ใช้งานว่า ผู้ที่ติดเชื้อโควิด-19 อยู่ใกล้ ๆ แต่จะรวบรวมข้อมูลของผู้ใช้งานเข้าฐานข้อมูลกลาง เพื่อลำดับสุขภาพของผู้ใช้งานด้วย



          มูลนิธิเสรีภาพอินเทอร์เน็ต ระบุว่า ศูนย์ข่าวสารแห่งชาติที่พัฒนาแอปอโรคยาเซตูมีการแบ่งปันข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้ให้กับหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อสร้างฐานข้อมูลถาวร ที่ไม่ใช่เพื่อรับมือกับวิกฤตสาธารณสุขเท่านั้น แต่เพื่อนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ด้านอื่นด้วย ซึ่งไม่มีประเทศใดทำเช่นนี้



          นายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี แห่งอินเดีย ยืนยันว่า แอปพลิเคชั่นอโรคยาเซตู คือกุญแจสำคัญในการต่อสู้กับโควิด-19 ซึ่งในขณะนี้อินเดียมีผู้ติดเชื้อแล้วมากกว่า 70,000 คน ซึ่งกระทรวงเทคโนโลยี ระบุก่อนหน้านี้ว่าแอปพลิเคชั่นสามารถช่วยให้เจ้าหน้าที่ระบุจุดศูนย์กลางของโรคระบาด เพื่อกำหนดเป้าหมายได้อย่างชัดเจน และจะเป็นเพียงมาตรการชั่วคราวสำหรับการแก้ไขปัญหาเท่านั้น



เริ่มพบเด็กในนิวยอร์กป่วย เชื่อมโยงโควิด-19



         นายแอนดรูว์ คูโอโม ผู้ว่าการรัฐนิวยอร์ก เปิดเผยว่า สาธารณสุขของนิวยอร์กกำลังมีการตรวจสอบผู้ป่วยเด็ก 102 คนที่ได้รับการวินิจฉัยว่ามีกลุ่มอาการอักเสบหายากซึ่งอาจเกี่ยวข้องกับโควิด-19

          ก่อนหน้านี้มีเด็กชายอายุ 5 ขวบจากนิวยอร์ก ซิตี้  เด็กวัย 7 ขวบในเทศมณฑลเวสต์เชสเตอร์ และวัยรุ่นรายหนึ่งในเทศมณฑลซัฟฟอล์กเสียชีวิตด้วยกลุ่มอาการนี้ ซึ่งรวมถึงการมีไข้เรื้อรัง ปวดท้องรุนแรง ตาแดงก่ำ และผื่นที่ผิวหนัง

         นายบิล เดอ บลาซิโอ นายกเทศมนตรีมหานครนิวยอร์ก เปิดเผยว่า ในกลุ่ม 102 คนมีอยู่ 82 คนที่อยู่ในมหานครนิวยอร์ก ซึ่งในกลุ่ม 82 คนนี้ มีอยู่ 53 คนที่มีผลการทดสอบโควิด-19 เป็นลบ ซึ่งนายคูโอโมเพิ่มเติมว่าร้อยละ 71 ของผู้ป่วยกลุ่มอาการนี้ต้องเข้ารับการรักษาในแผนกผู้ป่วยหนัก ร้อยละ 19 ต้องใส่เครื่องช่วยหายใจ และร้อยละ 43 ยังคงรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล เขากล่าวว่า รัฐนิวยอร์กกำลังมีการสอบสวนผู้ป่วยกลุ่มนี้อย่างจริงจัง เพื่อผลักดันให้เป็นวาระระดับชาติ



ผอ.องค์การการค้าโลก ลาออก หลังวิกฤตเศรษฐกิจของโควิด-19ระบาด



           โรแบร์โต อาเซเวโด ผู้อำนวยการองค์การการค้าโลก( WTO) จะลาออกจากตำแหน่งในเดือนสิงหาคม เร็วกว่าแผนที่วางเอาไว้ 1 ปี หลังอยู่ในตำแหน่ง ตั้งแต่ปี 2013 และจะครบวาระการดำรงตำแหน่งสมัย 2 ในช่วงสิ้นเดือนสิงหาคม ปีหน้า (ค.ศ.2021) โดยเหตุผลที่ลาออกเป็นเรื่องส่วนตัวหลังพูดคุยกับครอบครัว และความเคลื่อนไหวครั้งนี้ไม่เกี่ยวข้องกับปัญหาสุขภาพหรือทางการเมือง



          WTO กำลังเผชิญหน้ากับหลายปัญหา ในฐานะผู้คลี่คลายข้อพิพาททางการค้า

ที่มีความขัดแย้ง กระทบต่อการบริหารงานในเดือนธันวาคมนี้ หลังสหรัฐฯขัดขวางการแต่งตั้งคณะผู้พิพากษา รวมทั้งจะถอนตัวออกจากองค์การการค้าโลก หากยังไม่ปรับเปลี่ยนโครงสร้างการทำงาน ส่งผลกระทบต่อการทำงานของ WTO ในฐานะผู้ควบคุมกฎเกณฑ์การค้าโลกและแก้ไขข้อขัดแย้งทางการค้าระหว่างประเทศ



ดีดกลับ ราคาน้ำมันโลกปรับตัวสูงขึ้น



          ราคาน้ำมันขยับขึ้นในวันพฤหัสบดี(14พ.ค.) หลังทบวงพลังงานสากล(ไอเออีเอ) ลดคาดการณ์สต๊อกปิโตรเลียมโลกในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2020 หลังหลายชาติผ่อนปรนล็อกดาวน์  สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัส อินเตอร์มีเดียต หรือไลต์สวีตครูด งวดส่งมอบเดือนมิถุนายน เพิ่มขึ้น 2.27 ดอลลาร์ ปิดที่ 27.56 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ส่วนเบรนต์ทะเลเหนือลอนดอน งวดส่งมอบเดือนกรกฎาคม เพิ่มขึ้น 1.94 ดอลลาร์ ปิดที่ 31.13 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล

          ด้านตลาดหุ้นสหรัฐฯในวันพฤหัสบดี(14พ.ค.) ฟื้นตัว ดัชนีอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดเพิ่มขึ้น 377.37 จุด ปิดที่ 23,625.34 จุด  กระทรวงแรงงานสหรัฐฯเปิดเผยว่ามีผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกจำนวน 2,981,000 คน ในสัปดาห์ที่แล้ว สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 2,500,000 ราย ส่วนตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานโดยรวมพุ่งขึ้นเกือบ 36 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วนราว 1 ใน 4 ของประชากรในวัยทำงานทั้งหมดของสหรัฐฯ นับตั้งแต่สหรัฐฯประกาศล็อกดาวน์ในรัฐต่างๆในช่วงครึ่งหลังของเดือนมีนาคม เพื่อสกัดการแพร่ระบาดของโควิด-19



          ส่วนราคาทองคำในวันพฤหัสบดี(14พ.ค.) พุ่งแรง ปิดสูงสุดในรอบ 3 สัปดาห์ นักลงทุนแห่ถือครองสินทรัพย์เสี่ยงต่ำ หลังกังวลตัวเลขภาคแรงงานสหรัฐฯ ซึ่งตอกย้ำถึงความท้าทายทางเศรษฐกิจที่ต้องเผชิญท่ามกลางวิกฤตโควิด-19 โดยราคาทองคำตลาดโคเม็กซ์ ส่งมอบเดือนมิถุนายน เพิ่มขึ้น 24.50 ดอลลาร์ ปิดที่ 1,740.90 ดอลลาร์ต่อออนซ์

ข่าวทั้งหมด

X