แพทย์ไทยยอมรับ การรักษาโควิด-19 อยู่ที่ระยะเวลาเข้ารักษา-ใช้ยาฟาวิพิราเวียร์ได้ผล

11 พฤษภาคม 2563, 16:39น.


          การรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ของประเทศไทยซึ่งปัจจุบันมีผู้ป่วยหายดีและกลับบ้านไปแล้วขณะนี้รวม 2,796 คน ซึ่งผู้ป่วยส่วนหนึ่งได้รับการรักษาโดยโรงพยาบาลในสังกัดกรมการแพทย์ นพ.พจน์ อินทลาภาพร หัวหน้างานโรคติดต่อ โรงพยาบาลราชวิถี ที่อยู่ในสังกัดกรมการแพทย์ ได้เล่าถึงวิธีรักษาและตัวอย่างผู้ป่วยของโรงพยาบาล โดยยกตัวอย่างผู้ป่วย 3 คน ที่เป็นกรณีที่น่าศึกษาและทำให้โรงพยาบาลสามารถสร้างบรรทัดฐานในการรักษาผู้ป่วยรายอื่น ๆ ได้



-กรณีแรก เป็นผู้ป่วยหญิงไทย อายุ 31 ปี ซึ่งเป็นผู้ป่วยคนแรกที่มีการทดลองให้ยาฟาวิพิราเวียร์ในการรักษา หลังให้ยานี้ไป 3 วัน ก็ไม่พบเชื้อไวรัสโรคโควิด-19 อยู่ในร่างกายผู้ป่วยแล้ว แพทย์จึงตรวจติดตามอาการต่อเนื่องจบครบ 28 วันหลังให้ยาก็ไม่พบเชื้อแล้วเช่นกัน แพทย์จึงเสนอยาฟาวิพิราเวียร์มาเป็นหนึ่งในยามาตรฐานที่รักษาผู้ป่วยโรคนี้



-ส่วนกรณีที่สองและสาม ทั้งคู่ต่างเป็นผู้ป่วยโรคโควิด-19 ที่มีลักษณะต่าง ๆ เหมือนกัน คือ



  -อายุเกิน 50 ปี



  -ไม่มีโรคประจำตัว



  -และได้รับยาฟาวิพิราเวียร์และยาอื่น ๆ เหมือนกันทั้งหมดในการรักษา



          แต่ผลการรักษากลับต่างกัน โดยผู้ป่วยรายหนึ่งที่เป็นชายไทย อายุ 55 ปี ป่วยมาแล้ว 13 วันก่อนจะมารักษาที่โรงพยาบาล จึงทำให้แพทย์รักษาไม่ทันและเสียชีวิตในเวลาต่อมา ต่างจากผู้ป่วยหญิงไทย อายุ 57 ปีอีกราย ที่เข้ารับการรักษาตั้งแต่เริ่มป่วยได้ 4 วัน ทำให้แพทย์สามารถรักษาได้ทันจนหายดี





          กรณีผู้ป่วยสองคนนี้แพทย์จึงพบว่าระยะเวลาการเข้ารับการรักษามีผลต่อการรักษาและความเสี่ยงการเสียชีวิต หรือกล่าวคือยิ่งเข้ารักษาได้เร็วเท่าใด โอกาสการเสียชีวิตก็ยิ่งน้อยลง จึงเตือนประชาชนว่าหากมีอาการเข้าข่ายเป็นโรคโควิด-19 ให้รีบมารักษาและต้องบอกข้อมูลตามความเป็นจริง ซึ่งจะช่วยป้องกันความเสี่ยงการเสียชีวิตได้



          สำหรับโรงพยาบาลราชวิถีได้รักษาผู้ป่วยโควิด-19 ไปแล้ว 69 คน



-รักษาหายแล้ว 64 คน



-อยู่ระหว่างรักษา 1 คน



-และเสียชีวิต 4 ราย



          โดยใน 69 คนนี้ส่วนมากไม่มีอาการ และมีอยู่ 33 คนที่มีอาการภาวะปอดอักเสบ และมี 10 คนที่มีภาวะปอดอักเสบรุนแรง แต่ส่วนใหญ่สามารถรักษาจนหายได้ และยังมีผู้ป่วยราว 1 ใน 3 ที่มีอาการไม่ได้กลิ่น แต่ก็ย้ำว่าการไม่ได้กลิ่นต้องดูปัจจัยอื่นประกอบด้วย ไม่จำเป็นเสมอไปว่าอาการไม่ได้กลิ่นเป็นอาการของโรคโควิด-19



         ด้านพญ.เปี่ยมลาภ แสงสายัณฑ์ หัวหน้ากลุ่มงานอายุรกรรมโรคปอด สถาบันโรคทรวงอก เสริมถึงการรักษาผู้ป่วยโรคโควิด-19 ของสถาบันว่า สถาบันได้ใช้ยากดปฏิกิริยาการอักเสบในกลุ่มตัวยา Tocillizumab ในการรักษาผู้ป่วยที่มีภาวะปอดอักเสบรุนแรงควบคู่กับการให้ยาฟาวิพิราเวียร์ รวมถึงการให้ผู้ป่วยที่มีอาการปอดอักเสบ 2 ข้าง และนอนคว่ำเพื่อให้ออกซิเจนไหลเวียนได้ดีขึ้น ทั้งนี้ พบว่าผู้ป่วยโรคโควิด-19 ส่วนใหญ่มักมีอาการปอดอักเสบรุนแรงช่วง 2 สัปดาห์แรก

ข่าวทั้งหมด

X