นายกฯ ให้ กอ.รมน.ทำโพล ควรยกเลิกพ.ร.ก.ฉุกเฉินหรือไม่
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ในฐานะหัวหน้าศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 (ศบค.) ให้กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) เตรียมจัดทำโพลสำรวจความคิดเห็นประชาชน หลังจากมีการประกาศใช้พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 มากกว่า 1 เดือน เพื่อดูว่ามีผลกระทบต่อชีวิตประจำวันของประชาชนอย่างไรบ้าง รวมถึงขอความคิดเห็นว่าเห็นควรให้คง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน หรือยกเลิก เพื่อเป็นแนวทางให้ ศบค.ตัดสินใจต่อไป เนื่องจากขณะนี้พบว่ามีเสียงสะท้อนมาจากสังคมหลายความคิดเห็น เช่น
-ต้องการให้ยกเลิกพ.ร.ก.ฉุกเฉิน เนื่องจากกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันและเศรษฐกิจของประเทศ ยอดผู้ติดเชื้อโรคโควิด-19 ลดลงตามลำดับ และอยู่ในความสามารถของเจ้าหน้าที่ที่จะควบคุมได้
-ต้องการให้ยกเลิกพ.ร.ก.ฉุกเฉิน แต่ยังไม่อยากให้นักท่องเที่ยวหรือชาวต่างชาติเดินทางเข้ามาในประเทศไทย
-คงพ.ร.ก.ฉุกเฉินเอาไว้ก่อน เพราะห่วงจะมีการระบาดของไวรัสโควิด-19 อีกรอบ แต่ขอให้ผ่อนคลาย เช่น ยกเลิกประกาศเคอร์ฟิว หรือ ขยายเวลาเคอร์ฟิว จากเดิม 22.00 - 04.00น. อาจจะเป็น 23.00 - 04.00น.
กรมควบคุมโรค สำรวจเชิงลึก กทม.ไม่พบผู้ติดเชื้อโควิด-19
นพ.เอนก มุ่งอ้อมกลาง ผู้อำนวยการสถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า จากการลงพื้นที่ตรวจค้นหาผู้ป่วยโรคโควิด-19 ในพื้นที่ชุมชน เปราะบาง ในกรุงเทพฯ โดยเลือก 2 เขต ได้แก่ เขตคลองเตย เป็นพื้นที่มีจำนวนประชากรในพื้นที่และประชากรแฝง มากถึง 120,000 คน มีทั้งชุมชนขนาดใหญ่และเล็ก รวม 45 ชุมชน ตรวจค้นหาไปแล้ว 9,500 คน จาก 16 ชุมชน พบผู้ป่วยเข้าข่ายเกณฑ์สอบสวนโรค PUI จำนวน 275 คน แต่ไม่พบผู้ป่วยโรคโควิด-19 ส่วนอีกพื้นที่ คือบางเขน เป็นพื้นที่ของการแพร่ระบาดเป็นกลุ่มก้อน ได้แก่ สนามมวย ไม่พบผู้ป่วยติดเชื้อโควิดเช่นกัน
+++นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่เตรียมออกค้นหากลุ่มอื่นๆ เพิ่มเติม
-ผู้ป่วยติดเตียง
-ผู้ป่วยในพื้นที่ บ้านจัดสรร คอนโดมิเนียม ใน กทม.6 โซนเพื่อให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตของคนเมืองและในอนาคตหากมีการผ่อนปรนมาตรการ การตรวจค้นหายังต้องคงอยู่แต่จะเพิ่มเติมในกลุ่มผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่เป็นกลุ่มก้อน เพื่อเฝ้าระวังสถานการณ์โควิด-19
-การตรวจในพื้นที่แคมป์คนงานก่อสร้าง
‘หมอเฉลิมชัย’อธิบายอาการโรคคาวาซากิ อาการแทรกซ้อนทำเด็กติดเชื้อโควิด-19 เสียชีวิต
นพ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ รองประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา กล่าวว่า ขอแนะนำให้คนไทยทำความรู้จักกับโรคคาวาซากิ ที่อาจพบในผู้ป่วยเด็กที่ติดเชื้อโควิด-19 มีรายงานข่าว เด็กอายุ 5 ขวบ จากนิวยอร์ก สหรัฐฯเสียชีวิตจากโรคคาวาซากิร่วมกับการตรวจพบเชื้อโควิด-19 รวมทั้งก่อนหน้านี้ มีรายงานเด็กที่ติดเชื้อโควิด-19 มีอาการทำนองเดียวกันจากอังกฤษ อิตาลี และสเปน ทำให้เราต้องให้ความสนใจผู้ป่วยเด็กที่ติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มมากขึ้น จากเดิมที่เคยเชื่อกันว่าเด็กจะมีอันตรายจากโควิด-19 น้อยกว่าผู้ใหญ่
กุมารแพทย์ชาวญี่ปุ่น นามว่า โทมิซาคุ คาวาซากิ ค้นพบโรคคาวาซากิ เมื่อค.ศ.1976 หรือ พ.ศ.2519 เป็นโรคที่พบในเด็กอายุน้อย ส่วนใหญ่จะพบในเด็กอายุน้อยกว่า 5 ขวบ (ประมาณร้อยละ 80) มักมีอาการสำคัญ คือ มีไข้สูงมากกว่า 38 องศาเซลเซียสต่อเนื่องกันอย่างน้อย 5 วัน ริมฝีปากแห้งแตก บวมแดง ลิ้นสีแดงที่เรียกว่าลิ้นสตรอว์เบอร์รี่ (Strawberry Tongue) รวมถึงมีตาแดง แต่ไม่มีขี้ตา มือเท้าบวม และมักมีผิวหนังที่ฝ่ามือฝ่าเท้าลอก ผื่นแดงตามลำตัว และต่อมน้ำเหลืองโตที่ลำคอ ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดว่าเกิดจากสาเหตุใด แต่มักจะพบว่าเด็กที่มีอาการมักจะมีการติดเชื้อจากไวรัสหรือแบคทีเรียนำมาก่อน
นพ.เฉลิมชัย กล่าวว่า อาการมี 3 ระยะ คือ ไข้สูงเป็นระยะเวลา 1-2 สัปดาห์ มีผื่นลอกและอาจมีภาวะแทรกซ้อนทางหลอดเลือดหัวใจเป็นระยะเวลา 2 สัปดาห์ และระยะพักฟื้นประมาณ 4 สัปดาห์ ภาวะแทรกซ้อนที่สำคัญ คือ มีการโป่งพองของหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจ (Coronary Artery Aneurysm) ซึ่งถ้าผนังหลอดเลือดบางลงและแตกออกก็ทำให้เสียชีวิตได้ ซึ่งการรักษาจะประคับประคองตามอาการ รวมถึงให้ภูมิคุ้มกันทางหลอดเลือดดำ (Immunoglobulin)(IV IG) เพื่อลดการอักเสบของหลอดเลือด
ก.คลัง ปิดทบทวนสิทธิเงินเยียวยาแล้ว
การเยียวยาเงิน 5,000 บาท ตามโครงการเราไม่ทิ้งกัน ช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 สำหรับผู้ที่ต้องการขอทบทวนสิทธิ เว็บไซต์ www.เราไม่ทิ้งกัน.com ปิดรับการลงทะเบียนไปแล้วเมื่อเวลาเที่ยงคืน 10 พฤษภาคม นายธนกร วังบุญคงชนะ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถึง เรื่องการจ่ายเงินเยียวยา 5,000 บาทว่ากระทรวงการคลังจะจ่ายเงินเยียวยาให้กับประชาชนที่ผ่านเกณฑ์จำนวน 13.4 ล้านคน ส่วนการพิจารณาทบทวนสิทธิจะให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 17 พฤษภาคม นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เรียกประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อติดตามความคืบหน้าทุกสัปดาห์ เพราะต้องการให้เงินเยียวยาถึงมือประชาชนโดยเร็วที่สุด ซึ่งขณะนี้ได้มีการจ่ายเงินเยียวยาไปแล้วกว่า 11 ล้านคน
นายธนกร กล่าวถึง การเปิดรับเรื่องร้องทุกข์จากประชาชน กรณีเงินเยียวยา 5,000 บาท ว่าจะเปิดให้คำแนะนำที่กรมประชาสัมพันธ์ จนถึงวันที่ 15 พฤษภาคมนี้ ซึ่งจะลงไปติดตามช่วยเหลือประชาชนทุกวัน ตามที่นายอุตตม มอบหมาย