ป.ป.ส.ดำเนินคดีบุคคลที่นำบัตรเจ้าพนักงาน ป.ป.ส.ไปแอบอ้าง
2937
https://www.js100.com/en/site/news/view/87055
COPY
10 พฤษภาคม 2563, 11:27น.
นายนิยม เติมศรีสุข เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) กล่าวถึงกรณีมีผู้ลงข้อความในสื่อออนไลน์ ที่แสดงถึงว่าตนขับรถเร็วเกินกว่ากฎหมายกำหนด และเมื่อถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจเรียกตรวจ ได้แสดงบัตรเจ้าพนักงาน ป.ป.ส. ซึ่งเป็นของบิดาจึงไม่ถูกจับข้อความว่า “เมื่อกี้เจอด่านตรวจความเร็ว วิ่งเกินไป 139 มีบัตรพ่อช่วยเอาไว้” พร้อมลงภาพบัตรเจ้าพนักงาน ป.ป.ส. ของเจ้าหน้าที่ตำรวจนายหนึ่งไว้
เลขาฯ ป.ป.ส. ระบุว่า สำนักงาน ป.ป.ส. ได้ตรวจสอบแล้ว บัตรเจ้าพนักงาน ป.ป.ส. ดังกล่าว เป็นของข้าราชการตำรวจนายหนึ่งจริง แต่ได้ถูกยกเลิกการแต่งตั้งเป็นเจ้าพนักงาน ป.ป.ส. ด้วยเหตุเกษียณอายุราชการแล้วตั้งแต่วันที่ 31 ตุลาคม 2561 ซึ่งสำนักงาน ป.ป.ส. ได้มีหนังสือแจ้งต้นสังกัดให้เรียกคืนบัตรประจำตัวและซองใส่บัตรประจำตัวเพื่อส่งคืนสำนักงาน ป.ป.ส. ไปแล้วก่อนหน้านี้เพื่อนำมาทำลายตามระเบียบ บัตรเจ้าพนักงาน ป.ป.ส. เป็นเอกสารแสดงตนต่อผู้เกี่ยวข้องเมื่อจะใช้อำนาจตามที่ได้รับแต่งตั้งตาม พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามยาเสพติด พ.ศ. 2519 โดยจะมีตัวบัตรที่จะมีรายละเอียดเลขประจำตัวเจ้าพนักงาน ป.ป.ส. ชื่อ นามสกุล ตำแหน่ง สังกัด และอำนาจหน้าที่ตามพระราชบัญญัติ ภาพถ่ายของเจ้าพนักงาน ป.ป.ส. และวันสิ้นอายุบัตร ส่วนด้านหลังจะระบุถึงอำนาจของเจ้าพนักงาน ป.ป.ส. ทั้งนี้สำนักงาน ป.ป.ส. ได้จัดทำซองใส่บัตรดังกล่าวที่ด้านหน้าจะมีตราของสำนักงาน ป.ป.ส. ระยะหลังพบได้มีผู้จัดทำเลียนแบบ หรือทำปลอมบัตรแสดงตนว่าเป็นเจ้าพนักงาน ป.ป.ส. รวมทั้งซองใส่บัตรนำไปใช้ในทางที่ไม่ชอบบ่อยครั้ง โดยได้มีการตรวจพบและดำเนินคดีไปแล้วหลายราย ซึ่งขณะนี้สำนักงาน ป.ป.ส. กำลังพิจารณาจัดทำขึ้นใหม่เพื่อไม่ให้สามารถเลียนแบบหรือปลอมขึ้นได้
นายนิยม กล่าวว่า การแต่งตั้งเจ้าพนักงาน ป.ป.ส.จะมีคณะอนุกรรมการพิจารณาอนุมัติการแต่งตั้งเจ้าพนักงานตามกฏหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดเป็นกลไกพิจารณา โดยจะมีการพิจารณากลั่นกรองหลายขั้นตอนเพื่อให้มั่นใจว่าผู้ที่จะเป็นเจ้าพนักงาน ป.ป.ส. จะต้องเป็นผู้ที่มีคุณสมบัติที่เหมาะสม ซึ่งขณะนี้ (ปี 2563) ทั่วประเทศมีข้าราชการหลายสังกัด เช่น สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงกลาโหม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการคลัง สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน และกรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าพนักงาน ป.ป.ส. รวม 13,357 นาย มีการยกเลิกการแต่งตั้งเป็นเจ้าพนักงาน ป.ป.ส. รวม 3,960 นาย ซึ่งการยกเลิก เพราะการพ้นจากหน้าที่ในการปราบปรามยาเสพติดด้วยเหตุที่มาจากการโยกย้ายเปลี่ยนหน้าที่ และเกษียณอายุราชการ และในจำนวนดังกล่าวถูกยกเลิกด้วยเหตุไปกระทำความผิดในคดีอาญาอื่น ตามระเบียบผู้ที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าพนักงาน ป.ป.ส. จะต้องรายงานการใช้อำนาจทุกครั้งมายังสำนักงาน ป.ป.ส. และสำนักงาน ป.ป.ส. จะรวบรวมรายงานการปฏิบัติงานของเจ้าพนักงาน ป.ป.ส. ประจำปีให้แก่รัฐสภา เพื่อเป็นหลักประกันว่าจะไม่มีการใช้อำนาจเกินขอบเขต ดังนั้น เจ้าพนักงาน ป.ป.ส. จึงไม่สามารถใช้อำนาจเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด หรือกระทำละเมิดกฎหมายอื่นใดได้
กรณีที่เกิดขึ้นเท่ากับผู้กระทำนำบัตรประจำตัวเจ้าพนักงาน ป.ป.ส. ของบุคคลอื่นไปแอบอ้าง ซึ่งหากเจตนาแสดงตนเป็นเจ้าพนักงาน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 145 ผู้ใดแสดงตนเป็นเจ้าพนักงานและกระทำการเป็นเจ้าพนักงาน อาจเข้าข่ายการกระทำความผิด โดยตนเองมิได้เป็นเจ้าพนักงานที่มีอำนาจกระทำการนั้น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และ พ.ร.บ.เครื่องหมายราชการ พ.ศ. 2482 ห้ามมิให้บุคคลใดใช้เครื่องหมายราชการ เว้นแต่หน่วยราชการที่กำหนดเครื่องหมายนั้นจะได้อนุญาต ผู้ฝ่าฝืน มีความผิดต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี และปรับไม่เกิน 2,000 บาท โดยกรณีนี้ได้สั่งการให้ สำนักงาน ป.ป.ส. ภาค 1 ประสานไปยังเจ้าหน้าที่ตำรวจในพื้นที่เพื่อดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป และหากประชาชนสงสัยว่าบุคคลที่แสดงตัวว่าเป็นเจ้าพนักงาน ป.ป.ส. จริงหรือไม่ สามารถตรวจสอบได้ที่สายด่วน 1386 ตลอด 24 ชั่วโมง
Cr:สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด
ข่าวทั้งหมด