กรณีที่มีความกังวลว่าสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯกับจีนอาจกลับเพิ่มความรุนแรงขึ้นอีกครั้ง หลังจากที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐฯ เปิดเผยว่า อาจยกเลิกข้อตกลงการค้าเฟสแรก หากจีนไม่ทำตามข้อตกลงการซื้อสินค้าและบริการจากสหรัฐฯเพิ่มขึ้นเป็นมูลค่า 200,000ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ภายใน 2 ปี คือระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2563–31 ธันวาคม 2564
น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กล่าวว่า การที่สหรัฐฯเร่งผลักดันให้จีนซื้อสินค้าอาจเกิดจากความกังวลว่าเศรษฐกิจจีนหดตัวครั้งแรกในรอบ 33 ปี จะเป็นอุปสรรคต่อการนำเข้าสินค้าสหรัฐฯตามที่จีนตกลงไว้ นอกจากนี้ กลุ่มผู้ผลิตน้ำมันของสหรัฐฯ ยังได้รับผลกระทบจากอุปสงค์ที่ลดลง จึงต้องการให้ฝ่ายบริหารกดดันให้จีนซื้อสินค้าพลังงานจากสหรัฐฯเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม นับตั้งแต่วันลงนามข้อตกลงฯ 15 มกราคม 2563 จีนได้ดำเนินการตามข้อเรียกร้องของสหรัฐฯแล้ว โดยมูลค่าการค้าระหว่างสหรัฐฯกับจีนในไตรมาสแรกของปีนี้ จีนนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ แล้ว 19,995 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 3.1 เทียบกับไตรมาสแรกของปีก่อน
จากสงครามการค้าในปีที่แล้วการส่งออกจากไทยไปจีนจะหดตัวร้อยละ 3.8 แต่การส่งออกไปสหรัฐฯยังขยายตัวดีที่ร้อยละ 11.8 และไทยยังมีโอกาสในทั้ง 2 ตลาด ด้วยความสามารถในการทดแทนสินค้าที่สหรัฐฯและจีนขึ้นภาษีระหว่างกัน โดยปี 2562 ไทยมีส่วนแบ่งในตลาดสหรัฐฯเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 1.35 จากร้อยละ 1.26 ในปี 2561 ส่วนการส่งออกในปีนี้ พบว่าสินค้าที่เคยได้รับผลกระทบจากสงครามการค้า อย่างสินค้าอิเล็กทรอนิกส์กลับมาขยายตัวตั้งแต่เดือนมกราคม แต่ยังต้องประเมินแนวโน้มการทดแทนอีกสักระยะว่าประเทศผู้นำเข้าจะใช้ไทยเป็นแหล่งทางเลือกของสินค้าทดแทนจีน เพื่อกระจายความเสี่ยงอย่างถาวรหรือไม่
ทั้งนี้ ในภาพรวมถือว่าผู้ประกอบการไทยสามารถปรับตัวรองรับสงครามการค้าได้ในระดับหนึ่ง แต่ยังต้องติดตามสถานการณ์และท่าทีระหว่างสหรัฐฯและจีนอย่างใกล้ชิด
...