รัฐบาล เพิ่มงบฯวิจัยวัคซีนในอาเซียน-ลงนาม MOU ร่วมมือกับจีน
การพัฒนาวัคซีนต้านโควิด-19 นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 (ศบค.) เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พูดถึงเรื่องการลงทุนเพื่อศึกษาวัคซีนร่วมกันในกลุ่มอาเซียน เพื่อให้ได้ประโยชน์ร่วมกัน
ด้านนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข เปิดเผยความคืบหน้าการศึกษาและพัฒนาวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ที่พัฒนาโดยคนไทยว่าได้ให้สถาบันวัคซีนแห่งชาติไปหารือมหาวิทยาลัยต่างๆและได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจ (เอ็มโอยู) กับมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในประเทศจีน ในการศึกษาและวิจัยร่วมกัน เน้นย้ำว่าการทำเอ็มโอยู เราต้องไม่เสียเปรียบ จึงขอให้ศึกษาข้อกฎหมายให้ดีทั้ง 2 ฝ่าย และได้รับความยุติธรรมเท่ากัน
ปลัดสธ.เสนอคงมาตรการเข้มข้น หวั่นคนติดเชื้อกลับจากต่างประเทศ
นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะหัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉิน ด้านการแพทย์และสาธารณสุข รายงานว่า ในต่างประเทศยังมีการระบาดทำให้ยังมีคนไทยที่กลับเข้าไทยติดเชื้อมาด้วย ขณะเดียวกัน บางประเทศที่ได้ผ่อนปรนมาตรการ เนื่องจาก การแพร่ระบาดลดลง ปรากฏว่าตอนนี้กลับพบการระบาดเพิ่มอีกครั้ง ส่วนการแพร่ระบาดในไทยพบคนติดเชื้อทั้งผู้ที่กลับจากต่างประเทศและผู้สัมผัสคนที่กลับจากต่างประเทศ รวมถึงมีปัจจัยที่เกี่ยวข้อง ทั้งการเคลื่อนย้ายของประชากรในพื้นที่ต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรุงเทพฯ ปริมณฑล และ จ.ภูเก็ต และการมั่วสุมกันดื่มสุราที่ทำให้เกิดการติดเชื้อ ดังนั้น ศูนย์ปฏิบัติการฯ จึงมีข้อเสนอว่าให้คงมาตรการในประเทศอย่างเข้มข้น พร้อมกับตรึงมาตรการสกัดการนำเชื้อจากต่างประเทศเข้าไทยให้ได้ ถ้าสามารถทำสิ่งเหล่านี้ได้จะช่วยให้สถานการณ์ในไทยมีจำนวนผู้ป่วยรายใหม่เป็นตัวเลขหลักเดียว หรือสภาพโดยรวมดีขึ้นเรื่อยๆ
กรมควบคุมโรค ขยายผลลุยตรวจกลุ่มเสี่ยง-อาชีพเสี่ยง
นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค เสนอต่อที่ประชุม ศบค. เรื่องการตรวจเพื่อเฝ้าระวังและการค้นหาประชากรกลุ่มเสี่ยงหรือกลุ่มในสถานที่เสี่ยงด้วยการตรวจจากสารคัดหลั่งในโพรงจมูก โดยตั้งเป้าว่าต้องตรวจให้ได้ 6,000 ราย ต่อ 1 ล้านประชากร ถือว่าไม่มากหรือน้อยเกินไปคิดเป็นประมาณ 400,000 ราย ในไทย ตอนนี้ดำเนินการตรวจแล้วประมาณ 230,000 ราย เหลือประมาณ 170,000 ราย การตรวจในส่วนนี้ยังได้ขยายเกณฑ์การตรวจสอบสวนโรคแล้ว และจะเข้าไปตรวจเจาะจงกลุ่มเสี่ยงทั่วประเทศ ได้แก่ บุคลากรทางการแพทย์ ผู้ต้องขังแรกรับ ผู้ประกอบอาชีพเสี่ยง เช่น คนขับรถโดยสารสาธารณะ พนักงานส่งของ พนักงานไปรษณีย์ และผู้ต้องกัก เช่น คนต่างด้าวที่เข้าเมืองผิดกฎหมาย เพื่อจะได้นำผู้ป่วยจากส่วนนี้มาสู่ระบบรับการรักษา โดยจะได้ผลดีกว่าทฤษฎีการหว่านแหหรือปูพรม ถือเป็นการใช้งบประมาณอย่างถูกต้อง
โฆษกกองทัพเรือ เผยผลตรวจ รพ.จุฬาฯ กำลังพลไม่ติดโควิด-19
พล.ร.ท.ประชาชาติ ศิริสวัสดิ์ รองเสนาธิการทหารเรือ และ โฆษกกองทัพเรือ ชี้แจงว่า กำลังพลของกองทัพเรือไม่ได้ติดโควิด-19 ผลตรวจครั้งที่ 3 จาก รพ.จุฬาฯ ยืนยันอย่างเป็นทางการแล้วไม่พบเชื้อโควิด-19 ทั้งในการตรวจเชื้อจากลำคอ ตามวิธีปกติ และการตรวจเชื้อวิธีเพิ่มเติม ด้วยการตรวจหาจากผลเลือด สาเหตุที่ต้องตรวจถึง 3 ครั้ง และขอความร่วมมือจาก รพ.จุฬาฯ ร่วมยืนยันผลตรวจด้วย เนื่องจาก การตรวจโรคโดยวิธีปกติ ด้วยการตรวจเชื้อในลำคอ ที่ Lap ของ รพ.ปิ่นเกล้าในครั้งที่ 1 และ 2 มีผลขัดแย้ง ตามหลักการวินิจฉัยจึงจำเป็นต้องทดลองนำเชื้อในลำคอไปตรวจที่ Lap รพ.ที่สอง เพื่อเทียบเคียงผล (Second opinion) และเพื่อให้ได้ผลยุติจึงมีการตรวจเพิ่มเติมอีกวิธีหนึ่ง ด้วยการนำเลือดของคนไข้ไปตรวจด้วยว่าในกระแสเลือดคนไข้เคยมีการติดเชื้อโควิด-19 มาก่อนหรือไม่
แฟ้มภาพ