สธ.เผยข่าวดี “หนู"รับวัคซีนกระตุ้นภูมิคุ้มกันโควิด-19 ได้
นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึง ความคืบหน้าการพัฒนาวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ที่พัฒนาโดยคนไทย ว่า ขณะนี้นักวิทยาศาสตร์ นักวิจัยทั่วโลกกำลังเร่งค้นคว้าวิจัยและพัฒนาวัคซีนเพื่อนำไปสู่การใช้ ซึ่งจะเป็นเครื่องมือสำคัญในการป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 เช่นเดียวกับประเทศไทยซึ่งนักวิทยาศาสตร์ไทยก็ได้มีความร่วมมือกันในหลายหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน
ความคืบหน้า จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พัฒนาวัคซีนต้นแบบ ได้ฉีดให้กับหนูทดลองไปแล้วและส่งตัวอย่างเลือดมาตรวจหาภูมิคุ้มกันที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ผลออกมาแล้วพบว่ามีหนูมีภูมิคุ้มกันค่อนข้างดีในระดับที่น่าพอใจ จากนี้จุฬาฯ จะมีการทดลองให้วัคซีนในหลายๆ รูปแบบกับหนูทดลอง เช่น ให้ 1 เข็ม 2 เข็ม เปรียบเทียบกันเพื่อหาระดับภูมิคุ้มกันอีกครั้ง หากได้ผลดีก็จะให้วัคซีนในสัตว์ทดลองที่มีขนาดใหญ่ เช่น ลิง และถ้าได้ผลดีถึงจะมีการทดลองในมนุษย์ เพื่อหาว่าสามารถป้องกันโรคโควิด -19 ได้จริงหรือไม่ ถึงแม้ว่าการพัฒนาของเราอาจจะยังไม่ทันกับหลายประเทศ แต่ก็เป็นอีกแนวทางหนึ่งที่เราต้องพยายามพัฒนา หวังว่าจะประสบความสำเร็จต่อไป ตอนนี้ก็น่าจะเป็นข่าวดีเป็นก้อนเล็กๆ และเชื่อว่าเราจะสามารถพัฒนาวัคซีนให้สำเร็จได้เป็นเครื่องมือสำคัญที่ทำให้ไทยมีศักยภาพในการต่อสู้กับโรคโควิด-19 ได้
‘หมอยง’ เผยต้องปรับการดำรงชีวิตให้สมดุล ประคองอย่าให้มีผู้ป่วยเพิ่ม
ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยา คลินิกภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊ก Yong Poovorawan เรื่อง โควิด-19 อัตราการเพิ่มขึ้นของผู้ป่วย ผู้ป่วยที่ติดเชื้อแล้ว รายงานเข้าสู่ระบบทั่วโลกจะมีอัตราการเพิ่มขึ้น ตั้งแต่มีผู้ป่วยได้ 1 ล้านคน อัตราการเพิ่มขึ้นจะเป็น 1 ล้านคนทุก 12 วัน เพิ่มเป็น 2 ล้านคน 3 ล้านคนและจะเป็น 4 ล้านคนภายในวันที่ 10 พฤษภาคมนี้ อัตราการเพิ่มขึ้นของทั่วโลกที่เป็นแบบนี้เปรียบเสมือนลดน้อยลง ไม่ได้เพิ่มแบบก้าวกระโดด และในอนาคตถ้าควบคุมได้แบบนี้ก็จะมีแนวโน้มลดลง
สิ่งที่เป็นห่วงอย่างยิ่งคือการระบาดเข้าสู่ประเทศกำลังพัฒนาในอเมริกาใต้และแอฟริกา รวมทั้งอินเดีย ที่จะทำให้เกิดการก้าวกระโดด และจะมีตัวเลขที่ไม่ได้รายงานอีกเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ตัวเลขที่เห็น ยกตัวอย่าง เช่น มหานครนิวยอร์ก มีการศึกษาทาง serology มีผู้ติดเชื้อไปแล้วประมาณร้อยละ 20 แสดงว่ามีผู้ป่วยที่รายงานเป็น 1 ใน 10 ของจำนวนผู้ติดเชื้อเท่านั้น เช่นเดียวกับอีกหลายที่ โดยเฉพาะในยุโรป ตัวเลขที่รายงานจำนวนผู้ป่วย จะต่ำกว่าจำนวนที่ติดเชื้อจริงอย่างมาก เพราะผู้ป่วยส่วนใหญ่จะให้อยู่ที่บ้าน นอกจากมีอาการมากจึงจะรับมารักษาที่โรงพยาบาล มีผู้ป่วยจำนวนมากถึงมีอาการ ก็ไม่ได้รับการวินิจฉัย เพราะนอนอยู่ที่บ้าน
ประชากรไทยค่อนข้างโชคดี เพราะผู้ติดเชื้อทุกคน ได้รับการดูแลอย่างดีในโรงพยาบาล ไม่ใช่ให้นอนที่บ้าน ภาพรวมของผู้เสียชีวิตในประเทศไทย จึงค่อนข้างต่ำกว่าประเทศทางตะวันตก ในความเป็นจริงอัตราการเสียชีวิตของโรคนี้ ถ้าถูกนับรวมทั้งหมด รวมผู้ป่วยที่อยู่ที่บ้านของประเทศทางตะวันตกแล้ว น่าจะต่ำกว่าตัวเลขที่ทางตะวันตก รายงานเป็นทางการ จะเห็นว่าทางตะวันตกไม่ว่ายุโรปหรือสหรัฐฯ อัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยค่อนข้างสูงมากเช่นใน อังกฤษ อิตาลีและสเปน อยู่ที่ประมาณร้อยละ 10 ในสหรัฐฯ จากตัวเลขอัตราการเสียชีวิตอยู่ที่ประมาณร้อยละ 6 มากกว่าการเสียชีวิตในสงครามเวียดนาม รบกันนานกว่า 10 ปี ประเทศไทย อัตราการเสียชีวิตขณะนี้ อยู่ที่ร้อยละ 1.8 นับว่าต่ำกว่าประเทศทางตะวันตกมาก ทั้งที่มีเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ดีมาก เพราะเกิดจากที่ทุกคนช่วยกัน
สิ่งที่สำคัญนับแต่นี้ไป เราจะต้องปรับตัวให้สมดุล ในการดำรงชีวิต ให้ทุกคนอยู่อย่างพอเพียง ประเทศไทยอุดมสมบูรณ์ไปด้วยอาหาร ถ้ามีการแบ่งปันกัน และประคับประคองไม่ให้มีผู้ป่วยเกินกว่าระบบสาธารณสุขจะรองรับได้ รอเวลาให้วิกฤตผ่านพ้นไป น่าจะใช้เวลา 1 ปี เราก็จะมียารักษาที่ดีขึ้น มีวัคซีนในการป้องกัน ก็จะกลับคืนมาสู่ชีวิตที่ปกติเหมือนเดิม
เอกชน พร้อมกลับมาเปิดธุรกิจ รอรัฐบาลผ่อนปรนล็อต 2
นายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ในฐานะคณะทำงานภาคเอกชน ที่ปรึกษาศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 เปิดเผยว่า ขณะนี้ธุรกิจภาคเอกชน ได้มีการประชุมหารือกันต่อเนื่อง เพื่อทำความเข้าใจและเตรียมความพร้อมในการกลับมาเปิดธุรกิจ เน้นวิธีการทำงาน ทั้งในเรื่องการดูแล และป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทั้งผู้ใช้บริการ และพนักงาน รวมถึงสถานที่ และอุปกรณ์เครื่องดื่ม โดยขณะนี้ธุรกิจยืนยันได้มีการเตรียมพร้อมแล้ว และเชื่อว่ารัฐจะปลดล็อกล็อต 2 เดือนพ.ค.
อย่างไรก็ตาม หากสถานการณ์โควิด-19 ในไทยไม่รุนแรงเพิ่ม ตามกรอบเดิมกำหนดให้มีการปลดล็อกธุรกิจเปิดเพิ่มทุก 14 วัน ซึ่งล็อตแรกเปิด 3 พ.ค. ซึ่งหากเห็นว่าสถานการณ์น่าพอใจ ทั้งผู้ให้บริการและผู้ใช้บริการต่างป้องกัน คาดว่า ธุรกิจอีกจำนวนหนึ่ง น่าจะได้การเห็นชอบกลับมาเปิดประมาณ 17 พ.ค. ซึ่งล็อตนี้จะเป็นกลุ่มค้าปลีก ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า และร้านค้าภายในศูนย์การค้า
รีบหน่อย ! คลัง ปิดรับยื่นทบทวนสิทธิ 5,000 บาท 10 พ.ค.
นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า กระทรวงการคลัง จะปิดรับยื่นทบทวนสิทธิในวันที่ 10 พ.ค. เวลา 24.00 น. ดังนั้น ขอให้ผู้ที่ไม่ได้รับสิทธิ ที่ไม่เห็นด้วยกับผลการตรวจสอบ สามารถแจ้งขอทบทวนสิทธิได้ตามเวลาที่กำหนด ผ่านเว็บไซต์ www.เราไม่ทิ้งกัน.com โดยกดปุ่มสีม่วงทบทวนสิทธิ และจากนั้นระบบจะมีการตรวจสอบข้อมูล หรือให้ผู้พิทักษ์สิทธิลงพื้นที่ตรวจสอบสิทธิข้อมูลโดยเร็วที่สุด
ความคืบหน้ามาตรการเยียวยา 5,000 บาท ล่าสุดมีผู้ผ่านเกณฑ์แล้ว 12.8 ล้านราย แบ่งเป็นผู้ที่ผ่านเกณฑ์การคัดกรองรอบแรก 4.4 ล้านราย กลุ่มที่ขอข้อมูลประกอบอาชีพเพิ่มเติม 5 ล้านราย และกลุ่มที่ขอทบทวนสิทธิผ่านเกณฑ์ 3.3 ล้านราย คลังจะโอนเงินเยียวยาให้ผู้ได้รับสิทธิ โดยเฉพาะวันที่ 7-8 พ.ค.นี้ จะมีการโอนเงินให้ได้เพิ่มอีกวันละ 1 ล้านคน รวมเป็น 11 ล้านคน คนที่ได้รับเงินครั้งแรกจะได้รับเงินเบิ้ล 2 เดือน ทั้งยอดเดือนเม.ย. และพ.ค.รวมเป็น 10,000 บาท ส่วนที่เหลือ 1.8 ล้านราย จะโอนให้เสร็จในสัปดาห์หน้า
นายลวรณ กล่าวว่า ปัญหาการรับเรื่องร้องเรียนจากประชาชนพบ 2 กลุ่มหลัก ได้แก่
-ผู้ที่ลงทะเบียนไม่สำเร็จ เนื่องจาก ข้อมูลบัตรประชาชนไม่ถูกต้อง ซึ่งคลังกำลังพิจารณาให้ความช่วยเหลือต่อไป
-กลุ่มที่ได้รับสิทธิแต่ชื่อบัญชีไม่ตรงกับชื่อและนามสกุลที่ลงทะเบียนไว้ ขอให้แก้ไขบัญชีให้ถูกต้องได้ในเว็บไซต์เราไม่ทิ้งกัน
ส่วนกลุ่มที่ขอข้อมูลการประกอบอาชีพเพิ่มเติมที่ยังไม่มาให้ข้อมูลอีก 6 แสนรายมาให้ข้อมูลเพิ่มเติมโดยด่วน รวมถึงแนะนำให้ตรวจสอบสถานะล่าสุดด้วยตนเองได้ผ่านเว็บไซต์ www.เราไม่ทิ้งกัน.com ปุ่มสีเทา ซึ่งจะอัพเดทข้อมูลทุกวัน
ตลาดแรงงานสหรัฐฯ ทรุดจากพิษโควิด-19 ฉุดหุ้นดาวโจนส์ร่วง 218.45จุด
สถานการณ์การลงทุนในตลาดโลก หุ้นดาวโจนส์ ปิดร่วง 218.45 จุด กังวลตลาดแรงงานสหรัฐฯทรุดจากพิษโควิด-19 ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ ร่วงลง 218.45 จุด ปิดที่ 23,664.64 จุด ดัชนีเอสแอนด์ พี500 ปิดที่ 2,848.42 จุด ลดลง 20.02 จุด ดัชนีแนสแดค เพิ่มขึ้น 45.27 จุด ปิดที่ 8,854.39 จุด ดัชนีดาวโจนส์ ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดลบเมื่อวันที่ 6 พ.ค. หลังจากมีรายงานว่าตัวเลขจ้างงานของภาคเอกชนสหรัฐฯร่วงลงกว่า 20 ล้านตำแหน่งในเดือนเม.ย. ทำให้นักลงทุนวิตกกังวลเกี่ยวกับการทรุดตัวของตลาดแรงงาน เนื่องจาก ผลกระทบของไวรัสโควิด-19 ที่แพร่ระบาดอย่างหนัก
สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัส อินเตอร์มีเดียต หรือไลต์สวีตครูด งวดส่งมอบเดือนมิถุนายน ลดลง 57 เซนต์ ปิดที่ 23.99 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ส่วนเบรนต์ทะเลเหนือลอนดอน งวดส่งมอบเดือนกรกฎาคม ลดลง 1.25 ดอลลาร์ ปิดที่ 29.72 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล
ราคาทองคำตลาดโคเม็กซ์ งวดส่งมอบเดือนมิถุนายน ลดลง 22.10 ดอลลาร์ ปิดที่ 1,688.50 ดอลลาร์ต่อออนซ์