หลังพบมีแรงงานต่างด้าวที่ถูกกักตัวในสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองสะเดา จ.สงขลา ติดเชื้อไวรัสโคโรนา หรือ โควิด-19 เพิ่มขึ้นอีก 18 คน จากเดิมที่พบติดเชื้อ 42 คน
พล.ต.ท.สมพงษ์ ชิงดวง ผู้บัญชาการสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง เปิดเผยว่า ขณะนี้มีผู้ต้องกักติดเชื้อรวม60คน ส่งตัวรักษาที่โรงพยาบาล 6 คน รักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลภาคสนาม 54 คน ซึ่งกักตัวอยู่ในอาคาร1ของสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองสะเดา จ.สงขลาหลังจากนี้จะใช้ปฏิบัติการเชิงรุก เพื่อตรวจหาเชื้อผู้ต้องกักตัวในอาคาร 2 ต่อไป เบื้องต้นทราบว่า ทุกคนยังแข็งแรงดี ไม่มีอาการป่วย
สำหรับการดูแลผู้ต้องกักตัวรายใหม่ จะคัดแยกออกมาเพื่อทำการกักตัว 14 วันก่อน และขอความร่วมมือผ่านล่ามภาษาให้ผู้ต้องกักตัวรักษาความสะอาด ดูแลตัวเองไม่ให้ติดเชื้อ เข้มงวดผู้ที่จะเข้าไปยังพื้นที่
ส่วนการทำงานของเจ้าหน้าที่ ได้จัดอุปกรณ์ป้องกันและจะใช้ชุดเดิม เพื่อจำกัดจำนวนเจ้าหน้าที่ที่มีความเสี่ยงพร้อมกับกำชับเจ้าหน้าที่ให้เลี่ยงพบปะบุคคลภายนอกและจัดทำประกันชีวิตให้เพื่อจะสร้างขวัญกำลังใจ โดยจะมีการพิจารณาเลื่อนขั้นเป็นกรณีพิเศษ เนื่องจากเป็นผู้เสียสละ
กรณีผู้ต้องกักชาวเมียนมา 13 คน หลบหนีออกจากรถคุมขัง ระหว่างเตรียมผลักดันกลับประเทศต้นทาง เหตุเกิดเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม ที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดตาก พล.ต.ท.สมพงษ์ กล่าวว่า ขณะนี้สามารถติดตามจับกุมกลับมาได้แล้ว 12 คน แบ่งเป็นจับกุมในไทย 11 คน และทางการเมียนมา แจ้งว่าจับกุมได้แล้ว 1 คน ยังหลบหนี 1 คน ยืนยันว่า ผู้ต้องกักตัวที่หลบหนีทั้งหมดไม่มีใครติดเชื้อ เพราะผ่านการกักตัวเกิน 14 วันแล้ว สาเหตุเบื้องต้น อาจจะเกิดจากความเครียด บางคนต้องการกลับบ้านไปเยี่ยมพ่อแม่ที่กำลังป่วย แต่การหลบหนีระหว่างกักตัวถือเป็นความผิด จะต้องดำเนินคดีต่อไป
ก่อนหน้านี้ สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง มีมาตรการผลักดันแรงงานต่างด้าวกลับประเทศต้นทางอย่างต่อเนื่อง แต่เนื่องจากประเทศต้นทางปิดด่านพรมแดน ปฏิเสธรับผู้ต้องกักตัว ทำให้ทางการไทยต้องดูแลตามหลักมนุษยธรรม แต่ก็ได้กำชับให้เร่งประสานประเทศต้นทางเพื่อรับกลับ เพราะไม่ต้องการให้คนกลุ่มนี้อยู่รวมกัน อาจเสี่ยงต่อการติดเชื้อ หากด่านพรมแดนเปิด ก็พร้อมผลักดันออกนอกประเทศทันที
ด้านพล.ต.ท.ปิยะ อุทาโย โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เปิดเผยถึงสถิติตำรวจทั่วประเทศติดเชื้อโควิด-19 ว่า ก่อนหน้านี้มีตำรวจติดเชื้อ 60 คน รักษาหายและกลับบ้านแล้ว 48 คน เหลือ 12 คน แบ่งเป็นตำรวจสังกัดสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง 6 คน , กองบัญชาการตำรวจนครบาล 3 คน , กองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 9 , สอบสวนกลางและโรงพยาบาลตำรวจ สังกัดละ 1 คน ส่วนตำรวจกลุ่มเสี่ยงที่ต้องเฝ้าติดตามอาการ 14 วัน มีจำนวน 241 คน โดยเป็นตำรวจสังกัดสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองมากที่สุด 163 คน