ความเคลื่อนไหวเมืองไทยวันนี้ 08.30 น.วันอังคาร 5 พฤษภาคม 2563

05 พฤษภาคม 2563, 09:10น.


15 พ.ค. ธ.ก.ส.โอนเงินช่วยเหลือเกษตรกร



          นายอภิรมย์ สุขประเสริฐ ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 28 เม.ย. 2563 เห็นชอบให้ดำเนินมาตรการช่วยเหลือเยียวยาเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยจ่ายเงินให้ครัวเรือนเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกรกับหน่วยงานของรัฐรายละ 5,000 บาท เป็นระยะเวลา 3 เดือนตั้งแต่ (พ.ค.-ก.ค.2563) จำนวน 10 ล้านราย วงเงินงบประมาณจำนวน 150,000 ล้านบาท



          ขั้นตอนการจ่ายเงิน ธ.ก.ส.จะรับข้อมูลผู้ขึ้นทะเบียนที่ผ่านการตรวจสอบแล้วจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และดำเนินการโอนเงินเข้าบัญชีเกษตรกรโดยตรง กรณีเกษตรกรมีบัญชีเงินฝากกับ ธ.ก.ส. สามารถใช้บัญชีเงินฝากเดิมได้ ไม่ต้องเปิดบัญชีใหม่ ส่วนเกษตรกรที่ไม่มีบัญชีเงินฝากกับ ธ.ก.ส.สามารถแจ้งบัญชีเงินฝากที่มีอยู่กับธนาคารใดก็ได้ ผ่านเว็บไซต์ของ ธ.ก.ส.ตั้งแต่วันที่ 7 พ.ค. 2563 เป็นต้นไป หลังจากนั้นระบบจะประมวลข้อมูลและตรวจสอบบัญชีเงินฝากของเกษตรกรที่ได้รับสิทธิ์ตามมาตรการ ซึ่งจะต้องไม่ซ้ำซ้อนกับความช่วยเหลือในมาตรการ "เราไม่ทิ้งกัน" เมื่อ ธ.ก.ส.ได้รับเงินจากกระทรวงการคลัง จะรีบดำเนินการโอนเงินเข้าบัญชีเกษตรกรต่อไปโดยจะกระจายการโอนให้ครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ ประมาณวันละ 1 ล้านราย คาดว่าเริ่มทยอยโอนเงินได้ตั้งแต่วันที่ 15 พ.ค.2563 เป็นต้นไป



มท.กำชับสถานที่ผ่อนปรน ไม่ทำตาม!อาจผิดกม.-สั่งปิด



          นายฉัตรชัย พรหมเลิศ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ระบุว่า หลังการผ่อนคลายการบังคับใช้มาตรการในการป้องกันและการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 มีประชาชนใช้บริการในสถานประกอบการ สถานที่ที่ได้รับการผ่อนคลาย ให้ดำเนินการหรือทำกิจกรรมพร้อมกันเป็นจำนวนมาก โดยไม่ได้ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคที่ทางราชการกำหนด เช่น การรับประทานอาหารในร้านอาหาร การซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เป็นต้น จึงขอให้จังหวัดดำเนินการ 



1.จัดระเบียบแนวทางการปฏิบัติของสถานประกอบการ สถานที่ที่ได้รับการผ่อนคลาย กำชับผู้ประกอบการผู้จัดการสถานที่ ปฏิบัติให้เป็นไปตามมาตรการป้องกันโรคที่ทางราชการกำหนดโดยเคร่งครัด หากพบว่าไม่ปฏิบัติตาม อาจถูกสั่งปิดสถานประกอบการ สถานที่ดังกล่าว



2.ขอความร่วมมือจากประชาชนที่เข้าใช้บริการสถานประกอบการ สถานที่ ให้ปฎิบัติตามมาตรการป้องกันโรคอย่างเคร่งครัด



3.กำชับเจ้าหน้าที่บังคับใช้มาตรการ ด้วยการจัดชุดเคลื่อนที่ไปสุ่มตรวจเป็นระยะ



ศปก.ตร.เผยตัวเลขคนรวมตัวมั่วสุมกินเหล้าสูงขึ้น 60%



          ศูนย์ปฏิบัติการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศปก.ตร.) สรุปยอดผู้ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม เวลา 22.00 น. ถึง วันที่ 4 พฤษภาคม เวลา 04.00 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจ ตรวจค้นบุคคล รวม 25,029 ราย และยานพาหนะ รวม 19,138 คัน จับกุมผู้ฝ่าฝืนได้ รวม 795 คน ประกอบด้วย



-ผู้ออกนอกเคหสถาน ไม่มีเหตุอันควร 666 ราย อันดับ 1 ร้อยละ 33 ออกมาทำธุระ ร้อยละ 23 เดินทางกลับที่พัก มีผู้ถูกตักเตือน 24 คน ถูกดำเนินคดี 666 คน 



-รวมตัวมั่วสุมในเคหะสถานเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อ รวม 129 ราย อันดับ 1 ร้อยละ 60  ดื่มสุรา ลักลอบเล่นการพนัน ร้อยละ 21 และเสพยาเสพติด ร้อยละ 11 มีผู้ถูกดำเนินคดี 129 คน



          จังหวัดที่มีสถิติการจับกุมผู้ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ กรณีออกนอกเคหสถาน สูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ กรุงเทพฯ 70 คน จ.ปทุมธานี 64 คน  และ จ.ภูเก็ต 53 คน สำหรับผู้ฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุก ไม่เกิน 2 ปี หรือ ปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือ ทั้งจำทั้งปรับ ตามมาตรา 18 แห่ง พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548



'ศบค.' เตือน 14 วันจากนี้ หากยอดผู้ติดเชื้อเพิ่มจะทบทวนมาตรการผ่อนปรน



          ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. แสดงความเป็นห่วงเหตุการณ์ประชาชนแห่ซื้อเหล้า-เบียร์ โดยไม่รักษาระยะห่าง จะส่งผลกระทบกับการทบทวนมาตรการคลายล็อกต่าง ๆ เพราะถือเป็นตัวอย่างและข้อเตือนใจในช่วงเปลี่ยนผ่านที่เพิ่งเกิด 1-2 วัน จึงขอให้ทุกคนปรับเปลี่ยนพฤติกรรมต่าง ๆ เพื่อให้ตัวเองปลอดภัย อีกทั้งข้อกำหนดต่าง ๆ ก็ยังไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม แต่เป็นสิ่งที่เคยทำมาและทุกคนให้ความร่วมมืออย่างดี ทำให้พบผู้ติดเชื้อตัวเลขหลักเดียว  อย่างไรก็ตาม หากพบว่าเมื่อผ่อนปรนแล้ว ภายใน 14 วันนี้ ถ้าตัวเลขการติดเชื้อยังเท่าเดิม หรือลดลงมาตรการการผ่อนปรนก็จะถูกขยับต่อไปอีก แต่ในทางกลับกัน หากพบว่าตัวเลขผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นก็ต้องทบทวนการให้หยุดหรือกลับไปเป็นการบังคับแบบเดิม หรือมีข้อจำกัดต่างๆมากขึ้น



CR:ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร

ข่าวทั้งหมด

X