รองอธิบดีกรมอนามัย ห่วงช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ หลังผ่อนปรนกิจการ
นพ.บัญชา ค้าของ รองอธิบดีกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า เป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของประเทศไทยที่มีการผ่อนปรนให้เปิดกิจการได้บางประเภท เพราะขณะนี้ระดับการระบาดของไทยต่ำมากอยู่ที่ 0.31 แต่หลังเปิด 6 กิจการแล้ว 14 วัน ยังห่วงว่าระดับการระบาดจะเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะจากการสัมผัสใกล้ชิดกันซึ่งพบมากถึงร้อยละ 41.53
พบปรากฏการณ์คนเดินทางออกต่างจังหวัดไปเจอกันสัมผัสกันจะเสี่ยงติดจากตรงนี้ได้ จากชุดข้อมูลการแพร่โรคในพื้นที่ ของกรมควบคุมโรค พบว่า เช่น จ.นนทบุรี 1 คนมีความสามารถในการแพร่โรคไปได้อีก 1 คน ส่วนภูเก็ต สงขลา ชลบุรี เชียงใหม่ 1 คน สามารถแพร่โรคได้มากกว่า 1 คน ดังนั้นทุกจังหวัดสามารถมีการแพร่เชื้อได้ ถือว่าน่าเป็นห่วงจึงต้องเข้าระบบการรายงานและกักตัว
ตรวจซ้ำผู้ป่วย 40 คน ที่ จ.ยะลา
นพ.อนุพงศ์ สุจริยากุล ผู้ทรงคุณวุฒิกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า คนที่เดินทางกลับภูมิลำเนาในช่วงเวลานี้ ยังถือว่ามีความเสี่ยงสูงที่จะนำเชื้อไปติดให้กับคนที่ภูมิลำเนาหรือคนใกล้ชิด ภาพรวมของประเทศ ผู้ติดเชื้อสูงสุดจากการสัมผัสในครอบครัว การประกอบอาชีพเสี่ยง และการเดินทางกลับจากต่างประเทศ สะท้อนให้เห็นว่าประชาชนบางส่วนยังไม่ปฏิบัติตามมาตรการรักษาระยะห่างภายในบ้านอย่างเคร่งครัดเพียงพอ
การรวมกลุ่มสังสรรค์ ตั้งวงเหล้า หรือตั้งวงกินหมูกระทะ ยังคงเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดความเสี่ยงในการแพร่เชื้อระหว่างกันได้โดยง่าย ขอให้ประชาชนอดทนอีกระยะหนึ่ง การผ่อนปรนมาตรการบังคับใช้ไม่ได้หมายความว่าทุกคนจะผ่อนคลายหรือกลับไปใช้ชีวิตอย่างเดิมได้ ต้องมีวินัย ป้องกันตัวเองอย่างเต็มที่
กรณีที่นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดยะลา หรือ นพ.สสจ.ยะลา ระบุว่า พบผู้ติดเชื้อ 40 คน จากการค้นหาเชิงรุกใน 8 อำเภอ ที่ จ.ยะลา ผู้ทรงคุณวุฒิกรมควบคุมโรค กล่าวว่า อยู่ระหว่างการตรวจเชื้อซ้ำเพื่อให้ทราบผลที่ชัดเจน เพราะส่วนหนึ่ง จ.ยะลาเพิ่งเซตแล็บใหม่ อาจจะมีความผิดพลาดอะไรหรือไม่ ส่วนทั้ง 40 คน แพทย์ดูแลอยู่
จ.ยะลา เป็น 1 จังหวัดที่พบผู้ป่วยต่อเนื่อง จากข้อมูลเบื้องต้นพบว่ากลุ่มที่พบผลบวกรอบนี้ มีความเชื่อมโยงกับผู้ป่วยเดิมที่กลับมาจากประกอบพิธีทางศาสนาที่ประเทศอินโดนีเซีย จากข้อมูลย้อนหลัง 14 วัน ยังพบว่ามีการพบปะสัมผัสตัวกัน อย่างไรก็ตามผลการสอบสวนโรคอย่างเป็นทางการยังไม่แล้วเสร็จ
ผบ.ทสส. ส่งชุดตรวจร้านค้า พบผิดซ้ำ สั่งปิด
พล.อ.พรพิพัฒน์ เบญญศรี ผู้บัญชาการทหารสูงสุด (ผบ.ทสส.) ในฐานะหัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคง (ศปม.) ส่งชุดตรวจของฝ่ายความมั่นคงลงพื้นที่ไปตรวจสอบ หากพบว่าสถานประกอบการไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดหลัก
-ต้องตักเตือน
-ถ้าทำอีกจะปิด
ผบ.ทสส. ชี้แจงว่า การสั่งปิด เนื่องจากเป็นความรับผิดชอบในภาพรวม ไม่ได้ประสงค์กลั่นแกล้ง เพื่อให้ทุกคนที่ไปใช้บริการเกิดความมั่นใจว่าสถานที่ที่เข้าไปนั้นปลอดภัยพอเพียง นี่คือความยืดหยุ่นผ่อนคลาย ขอย้ำเป็นการผ่อนคลายมาตรการ เพื่อให้กิจการบางประเภทกลับมาเปิดได้ แต่ไม่ใช่เราผ่อนคลายตัวเอง ขอให้การเดินทางไปที่ใดก็ตามของทุกคน คงเป็นไปตามคำแนะนำของรัฐบาล ต้องคงวินัยตัวเองอย่างนี้ตลอดไป ยังไม่ถึงเวลาผ่อนคลาย ดังนั้นถ้าใครเดินทางไปแล้วต้องยอมรับมาตรการที่จะมีการตรวจสอบในการเดินทางขากลับ ขอให้ทำงานอยู่กับบ้าน ทำงานเหลื่อมเวลา ขอให้ยึดหลักเดิมไว้ เพื่อประคองตัวเลขผู้ติดเชื้อใหม่ให้น้อย
ผู้ว่าฯหลายจังหวัด มีคำสั่งงดขายเหล้า
ภายหลังการออกมาตรการผ่อนคลาย จังหวัดพิษณุโลก มีการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดพิษณุโลก มีมติคำสั่งเพื่อควบคุมโรคโควิด-19 ลงนามโดยนายพิพัฒน์ เอกภาพันธุ์ ผู้ว่าฯ พิษณุโลก จำนวน 5 ข้อ ประกอบด้วย
1.ห้ามบุคคลออกนอกเคหสถานระหว่างเวลา 22.00-04.00 น. วันรุ่งขึ้น
2. ห้ามผู้ใดทำกิจกรรมบางอย่างดังต่อไปนี้ คือ 1) ห้ามใช้อาคารสถานที่ของโรงแรมและสถาบันการศึกษาทุกประเภทเพื่อจัดการเรียนการสอน การสอบ การฝึกอบรม หรือจัดกิจกรรมใดที่มีผู้เข้าร่วมประชุมจำนวนมาก 2.ห้ามจัดกิจกรรมที่มีผู้เข้าร่วมจำนวนมากในลักษณะมั่วสุมประชุมกัน
3. ห้ามร้านค้าหรือสถานประกอบการขายสุรา
4.ห้ามผู้ใดใช้ท่าอากาศยานพิษณุโลกเพื่อการขึ้นลงของอากาศยาน
5.ให้ผู้ซึ่งพนักงานควบคุมโรคติดต่อหรือพนักงานเจ้าหน้าที่สั่งหรือกำหนดเป็นเงื่อนไขในการเดินทางเข้ามาในเขตพิษณุโลกให้แยกกักกันหรือคลุมไว้เอกเทศ หรือที่ราชการกำหนดไว้ มติดังกล่าวมีผลไปจนถึงวันที่ 31 พ.ค.2563 ทั้ง 5 มาตรการ ยังต้องควบคุมต่อไปอีก 1 เดือน โดยเฉพาะการห้ามจำหน่ายสุรา มีเหตุผลเนื่องจากยังมีผู้ที่เดินทางเข้า-ออก จังหวัดพิษณุโลกที่มาจากจังหวัดกลุ่มเสี่ยง
ขณะที่ คณะกรรมการป้องกันโรคติดต่อบุรีรัมย์ มีมติห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ออกไปอีกโดยไม่มีกำหนด
จ.ปทุมธานี ยังไม่อนุญาตให้ขายเหล้าเบียร์เช่นกัน คงยึดตามคำสั่งเดิมที่นายพินิจ บุญเลิศ ผู้ว่าฯ ปทุมธานี ออกไว้จนกว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลง
นอกจากนี้ จ.นครพนม ยังห้ามขายเหล้าเช่นกัน นายสยาม ศิริมงคล ผู้ว่าฯ นครพนม มีคำสั่งห้ามจำหน่ายสุรา เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิดไปจนถึงวันที่ 15 พ.ค.
เช่นเดียวกับ จ.เพชรบุรี ที่ยังคงงดขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
CR:Facebook สำนักงานสาธารณสุข จ.ยะลา