องค์การอนามัยโลก กังวลผลกระทบของโควิด-19 ต่อประเทศที่มีระบบสาธารณสุขอ่อนแอ

02 พฤษภาคม 2563, 07:28น.


          นายทีโดรส อัดฮานอม กีบรีเยซุส ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลก กล่าวปกป้องการทำงานขององค์การอนามัยโลกว่าไม่ได้มีการทำงานที่ล่าช้า เพราะมีการรายงานเกี่ยวกับไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่มาเป็นระยะ และมีการออกประกาศเตือนโควิด-19 อย่างเป็นทางการตั้งแต่วันที่ 30 มกราคม ปีนี้ ซึ่งถือว่ามีเวลาเพียงพอสำหรับคนทั่วโลกในการออกมาตรการป้องกันและตอบโต้  เนื่องจากเวลานั้นมีผู้ติดเชื้อเพียง 82 คนและไม่มีผู้เสียชีวิตนอกประเทศจีน และมีการส่งเจ้าหน้าที่เดินทางไปประเทศจีนเพื่อศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับไวรัสตัวใหม่



          นอกจากนี้ นายทีโดรส ยังกล่าวเกี่ยวกับความสัมพันธ์กับสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นผู้บริจาครายใหญ่ที่สุด แต่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐฯ ได้ประกาศระงับการให้เงินทุนและวิพากษ์วิจารณ์การทำงานขององค์การอนามัยโลก ในการจัดการโรคระบาด โดยกล่าวว่า แท้จริงแล้วยังมีการติดต่อกันอย่างต่อเนื่อง และมีการทำงานร่วมกัน ซึ่งเขายืนยันว่าการระบาดใหญ่ของโควิด-19 ยังคงเป็นเหตุฉุกเฉินด้านสุขภาพระดับโลกอย่างแน่นอน แต่มีความกังวลอย่างมากเกี่ยวกับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น โดยเฉพาะการที่สถานการณ์ของโรคเพิ่มความรวดเร็วมากขึ้นในประเทศที่มีระบบสุขภาพอ่อนแอ ดังนั้น องค์การอนามัยโลก จึงจะมีการทำงานร่วมกับประเทศต่าง ๆ เพื่อเปิดการเดินทางเพื่อตอบสนองต่อการระบาดใหญ่ มีการบรรเทาทุกข์ด้านมนุษยธรรม และขนส่งความช่วยเหลือไปยังประเทศต่างๆ



          นายไมค์ ไรอัน หัวหน้าหน่วยงานฉุกเฉินขององค์การอนามัยโลก กล่าวว่าหน่วยงานกำลังมีความกังวลที่เพิ่มขึ้นในกรณีของโควิด-19 ในเฮติ โซมาเลีย ซูดาน ซูดานใต้ เยเมน ซีเรีย อัฟกานิสถาน เซียร์ราลีโอน และไนจีเรียตอนเหนือ ทั้งกล่าวเตือนกลุ่มประเทศที่มีการผ่อนปรนมาตรการลดความเสี่ยง ว่าขอให้ระวังการติดเชื้ออย่างต่อเนื่องและควรเตรียมมาตรการบางอย่างให้พร้อมหากจำเป็น



...

ข่าวทั้งหมด

X