ความเคลื่อนไหวเมืองไทยวันนี้ 08.30 น.ประจำวันศุกร์ที่ 1 พฤษภาคม 2563

01 พฤษภาคม 2563, 08:19น.


ความเคลื่อนไหวเมืองไทยวันนี้ 08.30 น.ประจำวันศุกร์ที่ 1 พฤษภาคม 2563



รัฐบาลอัดฉีด 400,000ล้านฟื้นชนบท



          นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ได้มอบนโยบายให้ สศช.รีบดำเนินการวางเงื่อนไข หลักเกณฑ์และตัวดัชนีชี้วัดผลงาน หรือความสำเร็จของงาน (เคพีไอ) ของการใช้เงินในส่วนที่จะนำมาฟื้นฟูเศรษฐกิจ 400,000 ล้านบาท เข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา หลังจากนั้นจะเปิดรับพิจารณาโครงการจากส่วนราชการ และองค์กรต่างๆได้ทันที เพื่อให้เกิดการลงทุนในเดือน มิ.ย. และให้เกิดความต่อเนื่องกับเงินเยียวยา 600,000 ล้านบาท ที่รัฐบาลให้ลูกจ้างนอกระบบ ผู้ประกอบอาชีพอิสระที่ได้รับความเดือดร้อนจากโควิด-19 เดือนละ 5,000 บาท เป็นเวลา 3 เดือน ซึ่งได้เริ่มจ่ายเงินไปแล้วตั้งแต่เดือน เม.ย.และจะสิ้นสุดในเดือน มิ.ย.นี้



          ดังนั้น นโยบายของรัฐบาลต้องเน้นการสร้างกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่จะช่วยให้เกิดการสร้างงานและสร้างรายได้ให้คนในต่างจังหวัด เน้นเรื่องความเข้มแข็งของเศรษฐกิจไทยทั้งภายในและภายนอก ในแต่ละปีมีจำนวนนักศึกษาจบใหม่ ต้องการงานทำนับแสนคน และเมื่อรวมแรงงานที่ว่างงานเนื่องจากได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ยอดจะเพิ่มมากขึ้น จึงจำเป็นต้องมีมาตรการรองรับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในอนาคตด้วย



ธ.ก.ส.พักชำระหนี้ 1 ปี



          นายอภิรมย์ สุขประเสริฐ ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ธ.ก.ส. จึงได้เพิ่มมาตรการช่วยเหลือให้ลูกค้า ธ.ก.ส.ให้ครอบคลุมทุกกลุ่ม โดยการพักชำระหนี้ต้นเงินและดอกเบี้ยเงินกู้ที่ถึงกำหนดชำระตั้งแต่งวดเดือน เม.ย.2563-งวดเดือน มี.ค.2564 เป็นเวลา 1 ปี โดยอัตโนมัติ และยังคงชั้นหนี้เดิมของลูกค้าก่อนเข้าโครงการ ซึ่งมาตรการดังกล่าวครอบคลุมลูกค้าทุกกลุ่ม ทั้งที่เป็นเกษตรกรรายบุคคล ผู้ประกอบการ (นิติบุคคล) กลุ่มเกษตรกร สหกรณ์ กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง รวมผู้ที่ได้รับประโยชน์จำนวน 3.34 ล้านราย คิดเป็นต้นเงินกู้จำนวน 1.26 ล้านล้านบาท



       เตรียมออกมาตรการในการฟื้นฟูเพื่อช่วยเหลือให้เกษตรกรลูกค้ากลับมาพัฒนาอาชีพที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตและชุมชน มีรายได้ควบคู่กับการร่วมดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมของชุมชนอย่างยั่งยืน โดยน้อมนำความรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในการดำเนินชีวิต หวังว่าสามารถช่วยผู้ที่ได้รับผลกระทบ จำนวนกว่า 1,000,000ราย



ไอแอลโอเตือนแรงงานครึ่งโลก 'ตกงาน-ชีวิตเปลี่ยน'จากโควิด



          องค์กรแรงงานสากล (ไอแอลโอ)ระบุว่า แรงงานทั่วโลก 16,000ล้านคนอาจสูญเสียวิถีชีวิตที่เคยเป็น หลังจากสูญเสียชั่วโมงทำงานเพราะการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 หรือคิดเป็นสัดส่วนเกือบ ร้อยละ 50  ของแรงงานทั่วโลก อยู่ในฐานะเสี่ยงที่จะตกงาน ซึ่งรายงานเตือนฉบับนี้ของไอแอลโอ ถือเป็นสัญญาณเตือนที่ส่งถึงรัฐบาลทุกประเทศ หลังจากที่กิจกรรมทางธุรกิจและเศรษฐกิจของทุกประเทศทั่วโลกต่างหยุดชะงัก เพราะการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และถือเป็นสถานการณ์ยากลำบากที่สุดในตลาดแรงงานโลก



          แรงงานเหล่านี้ไม่มีเงินออม และ เข้าไม่ถึงสินเชื่อ นี่คือสภาพความเป็นจริงของแรงงานทั่วโลก หากรัฐบาลประเทศต่างๆไม่ช่วยเหลือแรงงานเหล่านี้ พวกเขาก็จะหายไปจากระบบ



          หากแบ่งตามภูมิภาค แรงงานในเอเชียแปซิฟิก ที่ถูกลดเวลาทำงานมีมากที่สุดถึง 125 ล้านคน แรงงานในทวีปอเมริกา 24 ล้านคน ในแอฟริกา 19 ล้านคน ยุโรป 12 ล้านคน เอเชียกลาง 8 ล้านคน และตะวันออกกลาง 5 ล้านคน



          ไอแอลโอ เรียกร้องให้รัฐบาลทุกประเทศเร่งจ่ายเงิน หรือจัดสรรผลประโยชน์ต่างๆให้แก่แรงงานที่ตกงาน รวมถึงแรงงานที่ทำงานอิสระทั้งหลาย รวมทั้งเร่งหาทางช่วยให้ธุรกิจขนาดเล็กสามารถเข้าถึงสินเชื่อได้โดยเร็วที่สุดเท่าที่จะทำให้ เพื่อบรรเทาผลกระทบแก่แรงงาน



คนว่างงานเฮ! สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน16 นครปฐม เปิดฝึกอาชีพฟรี มีเบี้ยเลี้ยง



          นายสรรชัย ชอบพิมาย ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 16 นครปฐม กล่าวว่า การรับสมัครฝึกอาชีพให้แก่ ผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ทั้งแรงงานในระบบและแรงงานนอกระบบ ใน 3 หลักสูตร 24 สาขา ประกอบด้วย หลักสูตร 3 วัน 18 ชั่วโมง จำนวน 12 หลักสูตร หลักสูตร 15 วัน 90 ชั่วโมง จำนวน 6 หลักสูตร หลักสูตร 20 วัน 120 ชั่วโมง จำนวน 6 หลักสูตร ทุกหลักสูตรมีเบี้ยเลี้ยงวันละ 150 บาท โดยสามารถกรอกใบสมัครใน Google ฟอร์ม (คิวอาร์โค้ด) ในแผ่นประชาสัมพันธ์ และสามารถส่งใบสมัครทางไลน์ได้เลยติดต่อใบสมัครเข้ารับการฝึกอบรมฝีมือแรงงาน 16 นครปฐม หลักสูตรการฝึก และสาขาที่ต้องการฝึก เช่น บาร์เทนเดอร์ 18 ชม. (3 วัน) เบเกอรี่และกาแฟสด 18 ชม. (3 วัน) การทำขนมไทย 18 ชม. (3 วัน) การทำมุ้งลวด 18 ชม. (3 วัน) ช่างซ่อมอุปกรณ์ไฟฟ้าภายในบ้าน 18 ชม. (3 วัน) การสร้างร้านค้าออนไลน์ 18 ชม. (3 วัน) ภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสาร 18 ชม. (3 วัน) ช่างซ่อมไมโครคอมพิวเตอร์และโน้ตบุคและโทรศัพท์เคลื่อนที่ (มือถือ) 120 ชม. (20 วัน) ช่างซ่อมและติดตั้งเครื่องปรับอากาศ 120 ชม. (20 วัน)เป็นต้น หรือสามารถโทรสอบถามได้ที่หมายเลข 034- 109705-6



ลดค่าเทอมสู้โควิด บรรเทาทุกข์ผู้ปกครอง



          มาตรการลดค่าเล่าเรียนของโรงเรียนเอกชน นายอรรถพล ตรึกตรอง เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (กช.) กล่าวว่า โรงเรียนแต่ละแห่งสามารถบริหารจัดการลดค่าเล่าเรียนได้เอง ก่อนหน้านี้ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) เคยแจ้งขอความร่วมมือกับโรงเรียนเอกชนทุกแห่งเพื่อขอให้ช่วยลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น เช่น ค่าธรรมเนียมบำรุงการศึกษาประเภทค่าบำรุงสระว่ายน้ำ ค่าห้องคอมพิวเตอร์ หรือค่ารถรับส่งนักเรียน  โดย โรงเรียนเซนต์คาเบรียล ถนนสามเสน เขตดุสิต กรุงเทพฯ ได้ออกประกาศ เรื่อง ลดค่าธรรมเนียมการเรียนและค่าธรรมเนียมอื่นร้อยละ 30 โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย ออกประกาศลดภาระให้ผู้ปกรองเพื่อต่อสู้กับสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 เช่นกัน ร้อยละ10 ตั้งแต่ระดับ ป.1 จนถึง ม.6



          นอกจากนั้น วิทยาลัยอุดมศึกษาพาณิชยการ หาดใหญ่ จ.สงขลา เปิดเผยว่า ในภาคเรียนนี้ทางวิทยาลัยจะลดค่าเทอมให้นักศึกษาระดับ ประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) และประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) เป็นเงิน 2,000 บาท



          นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า ในที่ประชุมกสทช.วาระพิเศษ เห็นชอบให้กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ทดลอง ส่งสัญญาณโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบ ดิจิทัลเพื่อการศึกษา 17 ช่องโดยแบ่งเป็นของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาพื้นฐาน (สพฐ.) 15 ช่องสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) 1 ช่องและเป็นของสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) 1 ช่อง เพื่อรองรับการเปิดภาคเรียนหรือจนกว่าจะสามารถกลับมาดำเนินการสอนได้ตามปกติจึงจะหยุดทดลองออกอากาศ



ศบค. ห่วงคนฆ่าตัวตาย



          นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค.ยอมรับว่า ตัวเลขการฆ่าตัวตายที่รายงานขึ้นมาในปีนี้ก็น่าห่วงจริงๆ เพราะสถานการณ์ตอนนี้เป็นวิกฤตของทั่วโลกและประเทศไทย ยอมรับว่านอกจากการป่วยทางกายแล้ว การป่วยทางจิตถือเป็นผลกระทบที่ชัดเจน และแนวโน้มการพยากรณ์เรื่องนี้ก็เหมือนกับ หน้าที่ของ สธ.ต้องเข้าไปศึกษาและลดจำนวนการสูญเสียในเรื่องการฆ่าตัวตาย บวกกับด้านภาคเศรษฐกิจต่างๆ ต้องเข้ามาเพื่อแก้ปัญหาให้ตรงเหตุ เพื่อช่วยลดการสูญเสียในเรื่องนี้ ต้องเป็นการทำงานร่วมกันหลายฝ่าย แต่ที่สำคัญที่สุดคือ มาตรการส่วนบุคคล หากพบคนที่มีอาการอยากฆ่าตัวตาย ขอให้คนใกล้ชิด ญาติ ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ และร้องขอความช่วยเหลือมายัง สธ. มีสายด่วนสุขภาพจิต 1323 เรียกใช้บริการได้ทันทีตลอด 24 ชั่วโมง



         ช่วงปี 2540 ประเทศไทยเคยพบวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง มีอัตราตัวเลขผู้เสียชีวิตจากการฆ่าตัวตาย 8.3 ต่อแสนจำนวนประชากร แต่ครั้งนี้ยังไม่ถึงขนาดนั้น เพราะตอนนี้เรายังมีมาตรการที่ป้องกันทำให้ตัวเลขลดลงได้ ต้องร่วมมือกันทุกภาคส่วน



          ส่วนกรณีข่าวในสื่อสังคมออนไลน์ว่ามีพนักงานรักษาความปลอดภัยของเอกชนเป็นหญิงสาวรายหนึ่ง ตัดสินใจฆ่าตัวตายด้วยการผูกคอที่บ้านพัก และมีการโพสต์ภาพวาด พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและ รมว.กลาโหม พร้อมกับเขียนข้อความตัดพ้อรัฐบาลนั้น   จากการตรวจสอบ ผู้ตายป่วยเป็นโรคประจำตัวเกี่ยวกับอาการแพ้สารอาหารบางตัว เคยทำร้ายตัวเองมาก่อนหน้าแล้ว และก่อนเกิดเหตุ อาการเครียดมีความรุนแรงมากขึ้น เนื่องจากต้องหยุดงานเพราะมีอาการไข้ขึ้นสูงทำให้ต้องอยู่แต่ในบ้าน ขาดรายได้ อีกทั้งยังกลับไปหาลูกที่อยู่ที่ จ.ฉะเชิงเทรา ไม่ได้  



          ส่วนสถานการณ์ลงทะเบียนมาตรการเยียวยาของ น.ส.ปรายฝน พบว่าได้มีการขอเงินเยียวยาจากทางรัฐบาล และได้รับเงินครั้งที่ 1 ไปแล้ว เมื่อวันที่ 16 เมษายน จำนวน 5,000 บาท เนื่องจาก น.ส.ปรายฝนยังส่งเงินเข้ากองทุนประกันสังคมไม่ครบตามที่กฎหมายกำหนด ถือว่ายังเป็นผู้ที่มีคุณสมบัติได้รับการเยียวยาจากรัฐบาล



          สำหรับภาพวาดของนายกรัฐมนตรีที่โพสต์ในเฟซบุ๊กของผู้ตาย เมื่อวันที่ 22 เมษายนที่ผ่านมา ตรวจที่เกิดเหตุเบื้องต้นไม่พบภาพวาดอยู่ภายในห้องพักที่เกิดเหตุ สอบถามแฟนของผู้ตายทราบแต่เพียงว่าคนตายเป็นผู้วาดภาพเอง แต่ไม่ทราบว่าภาพนั้นอยู่ที่ใด เชื่อว่าสาเหตุการฆ่าตัวตายเกิดจากความเครียดเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพส่วนตัวของผู้ตายเอง



เปิดมาตรการผ่อนปรนกองถ่ายละคร-หนัง จำกัด 50 คน งดฉากเลิฟซีน ยึดรักษาระยะห่าง



          นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า ภารกิจที่ วธ. ดูแลต่อศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019ได้แก่ การเปิดอุทยานประวัติศาสตร์การจัดถนนสายวัฒนธรรมกองถ่ายละคร และภาพยนตร์ ร้านหนังสือโดยส่วนใหญ่เป็นการเตรียมเปิดสถานที่ที่เปิดโล่ง ไม่แออัด ไม่มีการรวมตัวของผู้คน ทั้งนี้ ในส่วนถนนสายวัฒนธรรมให้มีการพิจารณารูปแบบการดำเนินงานในแต่ละจังหวัด ซึ่งมีบริบทที่แตกต่างกันออกไปเน้นย้ำให้จัดระเบียบตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ทั้งเว้นระยะห่าง งดกิจกรรมการแสดงมหรสพ เพื่อไม่ให้มีการรวมกลุ่มคนในพื้นที่



          ส่วนการเปิดร้านหนังสือนั้นได้มีการหารือ เบื้องต้น โดยจะต้องมีการจัดระเบียบ จำกัดจำนวนคนเข้าร้าน ไม่ให้แออัด และ ไม่ให้ผู้เข้าบริการใกล้ชิดกัน เพราะบางร้าน เป็นร้านขนาดเล็กต้องวางมาตรการให้รัดกุม ส่วนการเปิดให้ประกอบกิจการภาพยนตร์และวีดิทัศน์ และกองถ่ายละคร นั้น วธ. ได้เสนอเกณฑ์ การดำเนินงาน โดยให้จำกัดจำนวนคนอยู่ที่ไม่เกิน 50 คนต่อกองถ่าย ไม่ให้ถ่ายทำฉากที่ต้องสัมผัสใกล้ชิด และเข้าถึงตัวกัน เช่น ฉากต่อสู้ ฉากแสดงความรัก โอบกอด จูบ และสัมผัสใกล้ชิดโดยให้ใช้เทคนิคพิเศษแทน ในกรณีที่เลี่ยงไม่ได้ ให้มีการแจ้ง และส่งรายละเอียดฉากที่จะถ่ายทำมายัง วธ.หรือเจ้าหน้าที่ที่ดูแลพื้นที่ต่างๆ ก่อนเพราะเมื่อเกิดการติดเชื้อโควิด-19 ในกองถ่ายต้องสามารถติดตามหาต้นตอของการแพร่ระบาดได้ และผู้ประกอบกิจการ จะต้องรับผิดชอบในการดำเนินงานทั้งหมดด้วย

ข่าวทั้งหมด

X