ความเคลื่อนไหวเมืองไทยวันนี้ 12.30 น.วันพฤหัสบดีที่ 30 เมษายน 2563

30 เมษายน 2563, 14:04น.


ก.แรงงาน เดินหน้าคุมเข้มโควิด-19 กลุ่มแรงงานต่างด้าว


          นางเธียรรัตน์ นะวะมะวัฒน์ รองปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะโฆษกกระทรวงแรงงาน เปิดเผยความคืบหน้ามาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา หรือโรคโควิด -19 ในกลุ่มแรงงานต่างด้าวว่ากระทรวงได้กำชับหน่วยงานในสังกัดนำโดยแรงงานจังหวัด จัดหางานจังหวัด สวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดบูรณาการกับหน่วยงานในพื้นที่แต่ละจังหวัดเพื่อประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้มาตรการเร่งด่วนในการป้องกันวิกฤตโรคติดเชื้อโควิด-19 ในกลุ่มต่างด้าว ซึ่งหลายพื้นที่กำลังดำเนินการอยู่อย่างเข้มงวด 


          สำนักงานจัดหางานจังหวัดพระนครศรีอยุธยาว่า ศูนย์บริหารสถานการณ์แก้ไขการแพร่ระบาดโรคโควิด–19 (COVID -19) จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยนายภานุ แย้มศรี ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา มีความห่วงใยเรื่องสุขภาพอนามัยในแคมป์คนงานก่อสร้างในช่วงการแพร่ระบาดของโรค สั่งการให้มีการบูรณาการหน่วยงานในจังหวัด ได้แก่ แรงงานจังหวัด จัดหางานจังหวัด สวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัด สาธารณสุขจังหวัด เทศบาลเมืองอโยธยา กอ.รมน.จังหวัด ตำรวจภูธรจังหวัด และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ดำเนินโครงการประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้มาตรการเร่งด่วนในการป้องกันวิกฤตการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ให้นายจ้างและลูกจ้างในสถานประกอบการก่อสร้างและแคมป์คนงานก่อสร้าง 


          ทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 22-27 เม.ย. 2563 หน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงานจังหวัดพระนครศรีอยุธยาได้บูรณาการร่วมกัน ประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้มาตรการเร่งด่วนในการป้องกันโรคโควิด-19 ในกลุ่มแรงงานต่างด้าว ด้วยการแนะนำและเเจกเอกสารวิธีป้องกันเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ด้วยการติดป้ายไวนิลประชาสัมพันธ์ เพื่อสร้างการรับรู้ 4 ภาษา ได้แก่ ไทย เมียนมาร์ ลาว และกัมพูชา พร้อมทั้งได้มอบเอกสาร หน้ากากอนามัยและเจลล้างมือ ตลอดจนสุ่มตรวจคนงานโดยใช้ชุดตรวจหาเชื้อโควิด-19(Rapid Test) ให้ผู้ควบคุมงานก่อสร้าง จำนวน 10 แห่ง และแรงงาน จำนวน 581 คน แยกเป็น แรงงานไทย จำนวน 315 คน แรงงานต่างด้าว จำนวน 266 คน แบ่งเป็นกัมพูชา 147 คน สัญชาติเมียนมา 114 คน และลาว 5 คน จากการตรวจสอบสภาพที่พักอาศัยของคนงานส่วนใหญ่ยังไม่ถูกสุขอนามัย โดยเจ้าหน้าที่ส่วนท้องถิ่นจะได้มีการแนะนำและติดตามต่อไป


รัฐบาล เตรียมคิกออฟแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจในประเทศ 400,000 ล้านบาท


          การฟื้นฟูเศรษฐกิจ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานประชุมคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ตาม พ.ร.ก.กู้เงินเพื่อแก้ปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ในระหว่างทุกฝ่ายร่วมกันอยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ ทุกอย่างต้องมีต้นทุน ทั้งการหยุดกิจการ ขาดรายได้ รัฐบาลจึงใช้เงินเยียวยาให้กับกลุ่มต่าง ๆ ประมาณ 550,000 ล้านบาท  ดังนั้น หลังจากปัญหาการแพร่ระบาดคลี่คลายลง ในช่วง 3-6 เดือน ต้องหันมาเน้นสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจฐานราก เพื่อพึ่งพาเศรษฐกิจในประเทศ วงเงิน 400,000 ล้านบาท จาก พ.ร.ก.เงินกู้ 


          นายสมคิด กล่าวว่า เตรียมเปิดให้ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หน่วยงานต่าง ๆ ทั้งกองทุนหมู่บ้าน มูลนิธิ เสนอจัดทำโครงการพัฒนาท้องถิ่น ประกอบด้วย 


1.การพัฒนาอาชีพเกษตรดั้งเดิม 


2.การพัฒนาแหล่งน้ำรองรับภาคเกษตรในชนบท 


3.การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการท่องเที่ยวในชุมชน เตรียมรองรับการท่องเที่ยวในประเทศหลังจากโควิด-19 คลี่คลาย นำไปสู่การท่องเที่ยวยั่งยืน 


4.การพัฒนาด้านการผลิต การตลาดออนไลน์ ขนส่งสินค้ากระจายจากชุมชนไปยังภูมิภาคต่าง ๆ เพื่อให้ชุมชนหันมาเน้นทำตลาดออนไลน์มากขึ้น 


5.การพัฒนาบุคลากร จากหลายหน่วยงาน ทั้งการท่องเที่ยวฯ มหาวิทยาลัย เพื่อฝึกอบรมแรงงาน นักศึกษาจบใหม่ เพื่อให้มีงานทำ 


          หากรัฐบาลตั้งรับปัญหาเศรษฐกิจ สร้างเงินหมุนเวียนได้ทัน ภาวะเศรษฐกิจต้นปีหน้าจะไม่หยุดชะงักหรือเสียหายมากเกินไป และยังรองรับปัญหาได้เมื่อมีงานทำ ทุกกิจกรรมกลับมาดำเนินการได้ทั้งในเมืองและชนบท


          ทั้งนี้ เมื่อกำหนดหลักเกณฑ์การจัดทำโครงการแล้ว สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เตรียมเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) พิจารณาประมาณกลางเดือนพ.ค.เมื่อเปิดให้ทุกหน่วยงานเสนอโครงการพัฒนาท้องถิ่น คาดว่า การจัดโครงการขนาดเล็กจะลงไปพัฒนาท้องถิ่นได้ในต้นเดือนมิถุนายน เพื่อหวังให้เงินกู้ 400,000 ล้านบาท ช่วยพัฒนาชนบทให้เข้มแข็ง เมื่อเศรษฐกิจโลกชะลอตัวพึ่งพาการส่งออกไม่ได้ การท่องเที่ยวไม่มีต่างชาติเดินทางเข้ามา จึงต้องพึ่งพาเศรษฐกิจในประเทศผ่านโครงการระยะสั้น หลังจากเดือนตุลาคม 2563 จะใช้งบประมาณจากภาครัฐฟื้นฟูเศรษฐกิจได้ในช่วงต่อไป ผ่านเงินงบประมาณปกติของภาครัฐ


ก.คลัง ตั้งโต๊ะรับเรื่องร้องทุกข์ไม่ได้เงินเยียวยา 5,000 บาท 


          นายธนกร วังบุญคงชนะ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า นายอุตตม  สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง สั่งการเร่งด่วนให้เจ้าหน้าที่กระทรวงการคลังดูแลประชาชนที่มาร้องทุกข์ไม่ได้รับเงิน 5,000 บาท บริเวณนอกประตู 4  นอกกระทรวงการคลัง เพื่อรับเรื่องร้องเรียนและให้คำปรึกษา ขณะนี้ตัวเลขผู้มีสิทธิ์ 16 ล้านคน ในช่วงต้นเดือนนี้จ่ายเงินรวม 10.6 ล้านคน ดังนั้น เหลือกว่า 5,000,000 คน น่าจะดำเนินการเสร็จก่อนวันที่ 8 พฤษภาคม 2563 พร้อมย้ำกระทรวงการคลังจะพยายามอำนวยความสะดวกให้ประชาชนมากที่สุด โดยยืนยันว่าถ้ามีคุณสมบัติครบกระทรวงการคลังจ่ายเงินให้ทุกคน 


          การจัดระเบียบประชาชนที่มาขอคำปรึกษา ขอให้ประชาชนเข้าแถวเป็นระเบียบเรียบร้อย เว้นระยะห่างทางสังคม หรือ Social distancing ขณะที่เจ้าหน้าที่ได้ตั้งโต๊ะห่างกัน และมีเจลล้างมือ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ด้วย


แรงงานกว่า 12 ล้านคนในอิตาลี  ลงทะเบียนรับเงินช่วยเหลือฉุกเฉินจากภาครัฐ


          หลังจากรัฐบาลอิตาลี ประกาศเมื่อวันที่ 17 มีนาคม เรื่องมาตรการช่วยบรรเทาความเดือดร้อนสำหรับแรงงานและธุรกิจเอกชนรวม 25,000 ล้านยูโร เนื่องจากได้รับผลกระทบรุนแรงจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 สถาบันประกันสังคม(INPS) ของอิตาลี ระบุในแถลงการณ์ว่า มีแรงงาน 12,400,000 คน ในอิตาลีลงทะเบียนขอรับเงินช่วยเหลือฉุกเฉินจากภาครัฐ ภายใต้มาตรการช่วยบรรเทาความเดือดร้อนสำหรับแรงงานในอิตาลี


          ตัวเลขดังกล่าวแบ่งเป็นกลุ่มแรงงานที่ทำธุรกิจของตนเองและกลุ่มรับจ้างอิสระรวม 4,740,000 คน ขอรับเงินช่วยเหลือ 600 ยูโร (ราว 21,106 บาท) ที่เหลือ 7,730,493 คน ลงทะเบียนขอรับความช่วยเหลือในโครงการประกันค่าจ้างแรงงานและโครงการช่วยเหลือบริษัทเอกชนที่ได้รับผลกระทบ ทั้งนี้ มาตรการดังกล่าวเพื่อช่วยเหลือแรงงานและบริษัทเอกชนในอิตาลีให้มีเงินทุนพอที่จะทำธุรกิจต่อไปในช่วงที่เกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยไม่ต้องเลิกจ้างแรงงาน


         เมื่อจำแนกรายพื้นที่พบว่าท้องที่ที่มีผู้ขอรับความช่วยเหลือฉุกเฉินจากภาครัฐมากที่สุดคือ แคว้นลอมบาร์ดี  ทางภาคเหนือของอิตาลี รองลงมาคือแคว้นปุลยาทางภาคตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศ และแคว้นซิซิเลีย ทางภาคใต้ของประเทศ แรงงานลงทะเบียนขอรับความช่วยเหลือเกือบ 1 ใน 3 ของงบประมาณช่วยบรรเทาความเดือดร้อนทั้งหมดของรัฐบาล ทั้งนี้ อิตาลีมีผู้ป่วยสะสม 203,591 คน เสียชีวิต 27,682 ราย


 


CR:กระทรวงการคลัง
ข่าวทั้งหมด

X