การประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ เพื่อประเมินสถานการณ์และเฝ้าระวังโรคโควิด-19 นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดเผยว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบการแบ่งกลุ่มกิจการที่จะมีการผ่อนคลายให้กลับมาเปิดได้ออกเป็น 4 กลุ่ม ตามที่คณะกรรมการด้านวิชาการเสนอ ประกอบด้วย
-กลุ่มแรก เป็นกิจการที่มีความเสี่ยงต่ำและจำเป็นต่อการดำรงชีวิต เช่น ตลาดนัด, ร้านตัดผม ที่ไม่มีแอร์ และร้านอาหารที่มีสถานที่เปิดโล่ง
-กลุ่มที่สอง เป็นกิจการที่มีผลกระทบหลายด้าน ทั้งต่อประชาชน, สังคม และเศรษฐกิจ เช่น ภัตตาคาร, ห้างสรรพสินค้า และร้านนวดแผนไทย
-กลุ่มที่สาม เป็นกิจการที่เพิ่มความสะดวกสบายในการดำรงชีวิต เช่น ฟิตเนส, โรงยิม และกองถ่ายภาพยนตร์
-และกลุ่มที่สี่ เป็นกิจการที่มีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดการแพร่เชื้อ เพราะมีการสัมผัสใกล้ชิดของคนจำนวนมากและมีการทำกิจกรรมร่วมกัน เช่น สนามมวย, สถานบันเทิง
โดยที่ประชุมเห็นตรงกันว่ากิจการที่อยู่ในกลุ่มแรกสามารถกลับมาเปิดได้แล้ว และการเปิดควรทำพร้อมกันทุกจังหวัดเพื่อป้องกันปัญหาคนในจังหวัดที่ไม่เปิดเดินทางข้ามจังหวัดไปใช้บริการจังหวัดที่เปิด ส่วนกิจการกลุ่มที่สองและสาม หากจะเปิดต้องทำตามหลัก 3 ข้อ คือ มีมาตรการดูแลเฉพาะ, มีการเตรียมความพร้อมก่อนเปิด และที่สำคัญต้องมีหน่วยงานคอยตรวจสอบ ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญเพราะในปัจจุบันยังไม่รู้ว่าจะให้ใครมาตรวจสอบ ส่วนกิจการกลุ่มที่สี่ เห็นว่าอันตรายต่อการแพร่เชื้อ จึงไม่ควรให้กลับมาเปิด โดยที่ประชุมจะนำเรื่องนี้เสนอให้ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ที่มีอำนาจเป็นผู้ตัดสินเอง แต่เน้นย้ำว่าควรเปิดเฉพาะกิจการกลุ่มแรกและการเปิดต้องเปิดพร้อมกันทุกจังหวัด
ที่ประชุมยังมีมติให้เปลี่ยนวิธีค้นหาผู้ป่วยโควิด-19 มาเป็นการค้นหาเชิงรุก หลังปัจจุบันผู้ป่วยเริ่มน้อยลง โดยตั้งเป้าว่าภายในเดือนพฤษภาคมต้องเพิ่มการตรวจกลุ่มเสี่ยงให้ได้เป็น 5,000 คนต่อประชากรล้านคน กลุ่มเสี่ยงที่จะตรวจเพิ่มจะเป็นผู้ที่มีอาการน้อยหรือไม่มีอาการ และต้องทำงานในอาชีพหรือสถานที่ที่มีความเสี่ยงติดเชื้อ เช่น
-บุคลากรการแพทย์
-แรงงานต่างด้าว กรุงเทพมหานคร(กทม.) และสมุทรสาคร เป็นสองจังหวัดที่จะลงตรวจในช่วงนี้
-และคนขับรถส่งอาหารเดลิเวอรี่
บางกลุ่มเสี่ยงอาจตรวจทุกคน แต่บางกลุ่มจะใช้การเฝ้าระวัง ทุกคนที่ได้รับการตรวจจะไม่เสียค่าใช้จ่าย พร้อมย้ำว่าจะใช้วิธีตรวจหาเชื้อจากสารคัดหลั่งที่คอและจมูกเป็นหลัก โดยจะนำเรื่องนี้เสนอให้ศบค.รับทราบเช่นกัน
นพ.สุวรรณชัย ระบุถึง กรณีที่สหรัฐอเมริกาพบว่าฮอร์โมนเพศหญิงสามารถรักษาผู้ชายที่ป่วยด้วยโรคโควิด-19 ได้ว่า ขอศึกษาก่อน แต่ในไทยยังไม่มีรายงานยืนยันเรื่องนี้ และตามทฤษฎีแล้วการจัดการกับเชื้อที่ดีที่สุดคือการรักษาตามขั้นตอนทางการแพทย์
...