ความเคลื่อนไหวเมืองไทยวันนี้เวลา 19.20 น.วันพุธที่ 28 เมษายน 2563

28 เมษายน 2563, 18:24น.


ติดเชื้อโควิดเพิ่มอีก 7 คนเสียชีวิต 2 


           นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. แถลงว่า สถานการณ์ผู้ติดเชื้อในประเทศไทย มีผู้ป่วยรายใหม่น้อยกว่า 10 คนเป็นวันที่สองติดต่อกัน โดยมี 7 คน ผู้ป่วยสะสม 2,938 คน หายป่วยเพิ่มเติม 43 คน หายป่วยสะสม 2,652 คน เสียชีวิตเพิ่มเติม 2 ราย ยอดเสียชีวิตสะสม 54 ราย


          สำหรับผู้เสียชีวิต รายที่ 53 เป็นชายไทย อายุ 52 ปี อาชีพธุรกิจส่วนตัว เสียชีวิตด้วยระบบหายใจล้มเหลวและไตวายเฉียบพลัน


          รายที่ 54 เป็นหญิงไทย อายุ 63 ปี เป็นเจ้าของร้านอาหาร เสียชีวิตจากอาการปอดอักเสบติดเชื้อ ระบบหายใจล้มเหลว 


ครม.ต่ออายุพ.ร.ก.ฉุกเฉินอีก 1 เดือน


          ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ซึ่งมีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานเห็นชอบให้ต่ออายุการใช้ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน และการประกาศห้ามออกนอกเคหะสถานในเวลา 22.00-04.00 น. ออกไปอีก 1 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1-31 พฤษภาคม 2563 ส่วนมาตรการผ่อนปรนต่างๆจะพิจารณาอย่างเป็นขั้นตอนต่อไป โดยจะประเมินทุก 14 วัน


          ส่วนเรื่องวันหยุดราชการ ให้หยุดตามปกติที่เป็นวันหยุดราชการ แต่ขอให้ระวังหรือหลีกเลี่ยงการเข้าพื้นที่ ที่มีกิจกรรมที่มีคนมาก 


ครบ 1 เดือน มาตรการ 5,000 บาท มีผู้ผ่านเกณฑ์ 10 ล้าน 6 แสนคน


          นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า หลังจากที่เปิดให้มีการลงทะเบียนรับเงินเยียวยา 5,000 บาทครบ 1 เดือน มีผู้ลงทะเบียนรวมทั้งสิ้น 28 ล้าน 8 แสนราย (ปิดรับลงทะเบียนเมื่อวันที่ 22 เมษายน 2563) หักการลงทะเบียนซ้ำหลายครั้งออกแล้ว คงเหลือผู้ลงทะเบียน 24 ล้านราย เป็นผู้ไม่ผ่านการยืนยันตัวตนจากฐานข้อมูลของกรมการปกครอง 1 ล้าน 7 แสนราย คงเหลือผู้ลงทะเบียนที่เข้าสู่ขั้นตอนการคัดกรองตามหลักเกณฑ์จำนวน 22 ล้าน 3 แสนราย เมื่อตรวจสอบจากฐานข้อมูลและระบบการคัดกรองคุณสมบัติของผู้ลงทะเบียนแล้วพบว่า มีผู้ที่ไม่ผ่านคุณสมบัติจะได้รับสิทธิ เนื่องจากมีสิทธิหรือเข้าข่ายจะได้รับสิทธิเยียวยาจากรัฐบาลผ่านทางกลไกอื่นอยู่แล้ว แบ่งเป็นหัวหน้าครัวเรือนเกษตรกรตามฐานข้อมูลการขึ้นทะเบียนเกษตรกร 4 ล้าน 2 แสนราย เป็นข้าราชการ ข้าราชการบำนาญ หรือผู้รับเบี้ยหวัดและผู้ประกันตนที่ได้รับสิทธิชดเชยรายได้ในระบบประกันสังคม 1 ล้าน 1 แสนราย และมีผู้ขอยกเลิกการลงทะเบียน 9 แสน 5 หมื่นราย


          จึงเหลือผู้ที่เข้าข่ายสามารถได้รับสิทธิการชดเชยรายได้ตามมาตรการเยียวยา 5,000 บาท จำนวนทั้งสิ้นประมาณ 16 ล้านราย ซึ่งเป็นผู้ผ่านเกณฑ์แล้วจำนวน 10 ล้าน 6 แสนราย และกระทรวงการคลังได้โอนเงินเยียวยาให้แล้ว 7 ล้าน 5 แสนราย โดยในวันที่ 30 เมษายน จะมีการโอนเงินเยียวยาอีก 4 แสน 8 หมื่นราย ส่วนที่เหลืออีก 2 ล้าน 6 แสนราย จะเร่งโอนภายในสัปดาห์แรกของเดือนพฤษภาคม


สภาผู้แทนราษฎร ระบุเปิดประชุมสภาฯ ได้แม้อยู่ในช่วงขยายใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉิน


          ในวันที่ 22 พฤษภาคมนี้จะมีการเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรสมัยสามัญทั่วไป ซึ่งยังอยู่ในช่วงที่มีการประกาศใช้ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎรกล่าวว่า สภาฯ กำลังรอความชัดเจนจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เกี่ยวกับมาตรการต่างๆ โดยบางมาตราใน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มีผลกระทบต่อการทำหน้าที่ของ ส.ส. เช่น การงดหรือชะลอการเดินทางข้ามจังหวัด การงดกิจกรรมรวมตัว และการประกาศเคอร์ฟิว ห้ามออกนอกเคหะสถานในเวลาที่กำหนด


         ด้านนายสรศักดิ์ เพียรเวช เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ไม่มีผลต่อการทำหน้าที่ของ ส.ส. เพราะรัฐธรรมนูญให้ความคุ้มครอง แต่ที่ผ่านมา สภาฯ ได้ขอความร่วมมืองดเว้นการประชุม


ประธานวุฒิสภาแจงขยายพ.ร.ก.ฉุกเฉิน ไม่กระทบการประชุม


          นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา เปิดเผยว่า การขยายเวลาบังคับใช้พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินไปจนถึงวันที่ 30 พฤษภาคม ไม่มีผลทำให้ต้องเลื่อนการประชุมครั้งแรก ตามที่มีพระราชกฤษฎีกาเปิดสมัยประชุมสามัญประจำปีของวุฒิสภา ในวันที่ 25 - 26 พฤษภาคม เนื่องจากเป็นการประชุมสามัญประจำปี ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ แต่ต้องมีความเข้มงวดเรื่องการตรวจสอบบุคคล และมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม ซึ่งสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาได้เตรียมแผนไว้แล้ว 


หุ้นไทยปิดตลาดวันนี้ เพิ่มขึ้น 7.58 จุด


          ตลาดหลักทรัพย์ไทยวันนี้ ดัชนี SET Index ปิดตลาด อยู่ที่ระดับ 1,274.99 จุด ปรับขึ้น 7.58 จุด หรือคิดเป็นร้อยละ 0.60 มูลค่าซื้อขาย 60,550 ล้านบาท โดยตลาดหุ้นไทยวันนี้ปรับตัวขึ้นตอบรับการผ่อนคลายมาตรการบางส่วน และมีแรงขายทำกำไรเป็นระยะ         


มูดี้ส์คาดโควิด-19 ฉุดเศรษฐกิจญี่ปุ่นและสิงคโปร์หนักที่สุด 


          นายสตีฟ โครชราเน หัวหน้านักวิเคราะห์จากมูดี้ส์ สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือ ระบุว่า สถานการณ์โควิด-19 จะฉุดเศรษฐกิจญี่ปุ่นและสิงคโปร์ลงหนักที่สุดเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคเดียวกัน เนื่องจากเศรษฐกิจของสองประเทศอยู่ในฐานะย่ำแย่มาตั้งแต่ก่อนที่จะเกิดการระบาด และการใช้มาตรการปิดเมืองเพื่อควบคุมการแพร่ระบาด เป็นการซ้ำเติมเศรษฐกิจของ 2 ประเทศ


          ทั้งนี้ ธนาคารกลางญี่ปุ่น หรือ บีโอเจ ปรับลดคาดการณ์แนวโน้มเศรษฐกิจในปีงบประมาณ 2563 ลงสู่ระดับ -3% ถึง -5% จากที่เคยคาดการณ์ไว้ในเดือนมกราคมว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวร้อยละ 0.9


          และกระทรวงการคลังญี่ปุ่น ยอมรับว่า เศรษฐกิจระดับภูมิภาคของญี่ปุ่นทรุดตัวลงอย่างรวดเร็ว และอยู่ในสถานการณ์เลวร้ายมาก 


          ส่วนที่สิงคโปร์ นายกรัฐมนตรีลี เซียน หลุง คาดว่า สถานการณ์โควิด-19 จะส่งผลกระทบอย่างชัดเจนต่อเศรษฐกิจของสิงคโปร์ในอีก 2–3 ไตรมาสหน้า และการระบาดของไวรัสในขณะนี้ถือว่าตึงเครียดมาก


เยอรมนีบังคับประชาชนทุกรัฐสวมหน้ากากอนามัย


          ทุกรัฐในเยอรมนีประกาศมาตรการบังคับให้ประชาชนต้องสวมหน้ากากอนามัยเมื่ออยู่ในที่สาธารณะ เพื่อต่อสู้กับโควิด-19 โดยบางรัฐมีการกำหนดโทษปรับขั้นต่ำ 25 ยูโรไปจนถึงสูงสุดคือ 10,000 ยูโร ส่วนที่กรุงเบอร์ลิน และรัฐบราเดนเบอร์ ไม่มีโทษปรับเงิน แต่เป็นการขอความร่วมมือเท่านั้น


รัฐบาลเมียนมาประสานกลุ่มชาติพันธุ์ สู้โควิด-19


          รัฐบาลเมียนมาจัดตั้งคณะกรรมการว่าด้วยการประสานงานและความร่วมมือ เพื่อทำงานร่วมกับกลุ่มชาติพันธุ์ในการรับมือกับสถานการณ์โควิด-19 โดยในคำสั่งของประธานาธิบดีระบุว่าคณะกรรมการชุดนี้ จะทำหน้าที่กำกับดูแลการใช้มาตรการป้องกัน ควบคุม และดูแลผู้ติดเชื้อในพื้นที่ของกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ให้มีประสิทธิภาพ รวมถึงการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร และกระตุ้นความร่วมมือในการติดตามผู้ที่เดินทางกลับมาจากต่างประเทศ รวมถึงการโยกย้ายผู้ป่วย


....
ข่าวทั้งหมด

X