แพทย์ เตือนประชาชนหลีกเลี่ยงพื้นที่ความเสี่ยงโควิด-19 ในระดับสูง

28 เมษายน 2563, 16:37น.


          การวิเคราะห์พื้นที่เสี่ยงติดเชื้อโรคโควิด-19 เพื่อเป็นเกณฑ์ในการปฏิบัติตนเมื่อเข้าไปอยู่ในพื้นที่ นพ.ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดเผยว่า พื้นที่เสี่ยงจะแบ่งออกเป็น 3 ระดับ คือ เสี่ยงต่ำ, เสี่ยงปานกลาง และเสี่ยงสูง 


-เสี่ยงต่ำ เช่น เป็นสถานที่เปิดโล่ง, ทุกคนในพื้นที่ใส่หน้ากากและไม่มีการคุยกัน และอยู่ใกล้กันไม่เกิน 5 นาที


-เสี่ยงปานกลาง เช่น ใส่หน้ากากไม่ตลอด, คุยกันระยะประชิด, ยืนห่างกัน 1-2 เมตร และอยู่ในสถานที่นั้นไม่เกิน 1 ชั่วโมง


-เสี่ยงสูง เช่น ไม่ใส่หน้ากาก, สัมผัสใกล้ชิดไม่เกิน 1 เมตร และมีการแพร่ละอองน้ำลายผ่านการทำกิจกรรม เช่น ตะโกน รวมถึงอยู่ในสถานที่ปิด


          พร้อมยอมรับว่า การจะกำจัดโรคให้หมดไปจากประเทศเป็นเรื่องยาก และโรคจะอยู่ไปอีกนานจนกว่าแนวทางใดแนวทางหนึ่งใน 2 แนวทางนี้จะบรรลุ คือ สามารถผลิตวัคซีนมาฉีดกันป่วยได้หรือคนในประเทศติดเชื้อไวรัสโคโรนาที่เป็นต้นเหตุของโรคโควิด-19 จำนวนมากพอที่จะทำให้โรคนี้กลายเป็นโรคธรรมดา ซึ่งกระทรวงและทีมแพทย์ไม่ต้องการให้ประชาชนติดเชื้อตามแนวทางที่สอง ดังนั้นสิ่งสำคัญในระหว่างนี้คือต้องให้มีผู้ป่วยในประเทศน้อยที่สุด ซึ่งตั้งแต่โรคโควิด-19 ระบาดในไทย ยังไม่มีช่วงไหนที่การระบาดจัดเข้าขั้นวิกฤตที่หมายถึงเวชภัณฑ์ทางการแพทย์มีไม่พอกับผู้ป่วยและตอนนี้ก็ถอยกลับมามีผู้ป่วยในวงจำกัด หลังเริ่มใช้มาตรการอย่างเข้มงวด ซึ่งแสดงให้เห็นว่ามาตรการที่ออกมาใช้ควบคุมโรคได้ผล


          ส่วนวันที่ 1 กรกฎาคม 2563 ที่จะกลับมาเปิดเทอม นพ.ธนรักษ์ เน้นย้ำว่า สิ่งสำคัญคือต้องเพิ่มมาตรการทางสังคมหรือควรหาทางจัดการเรียนออนไลน์ที่เด็กทุกคนเข้าถึงได้ เพราะโรงเรียนเป็นสถานที่เสี่ยงสูงที่จะเกิดการแพร่เชื้อ เนื่องจาก เด็กมักเล่นกันใกล้ชิด ซึ่งเด็กไม่น่าห่วง เพราะมีอัตราป่วยน้อยและป่วยแล้วไม่อันตราย แต่ที่น่าห่วงคือเด็กจะแพร่เชื้อไปให้ครูและคนในบ้าน โดยเฉพาะผู้สูงอายุ ที่เป็นกลุ่มเสี่ยง จึงขอให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเร่งหาทางออกในการจัดการเรียนควบคู่กับการป้องกันการระบาดของโรคในโรงเรียนให้ได้


...
ข่าวทั้งหมด

X