ผ่อนปรนโควิด-19 ใช้เกณฑ์เสี่ยงธุรกิจ ทำพร้อมกันทุกจังหวัด
การพิจารณาผ่อนปรนมาตรการ นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผู้อำนวยการกองโรคติดต่อทั่วไป คาดว่า จะนำเรื่องของความเสี่ยงในการประกอบกิจการมาเป็นเกณฑ์การพิจารณาหลัก มากกว่าการพิจารณาจากตัวเลขผู้ป่วยโควิด-19 ตามรายจังหวัด หรือพื้นที่ปลอดโรค เพื่อให้ประชาชนสามารถประกอบอาชีพและดำเนินชีวิตอยู่ได้ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) จะเป็นผู้พิจารณา และเสนอเรื่องนี้ มองว่า
-ธุรกิจเสี่ยงต่ำจะได้รับการผ่อนปรนก่อน เช่น ร้านทำผม ห้างสรรพสินค้า เสี่ยงต่ำทำได้แต่ต้องจำกัดเวลาการใช้บริการ และสถานประกอบการต้องมีมาตรการวัดไข้
-การเปิดหรือผ่อนปรนมาตรการต่างๆ คาดว่า จะทำพร้อมกันในทุกจังหวัด มิเช่นนั้น จะเกิดปรากฎการณ์คนแห่เดินทางเพื่อไปใช้บริการข้ามจังหวัดและเกิดความหนาแน่น และกลายเป็นการเพิ่มความเสี่ยงในจังหวัดนั้นๆ
สศช.นำภาพของการผ่อนปรนในธุรกิจต่างๆ แบ่งออกเป็น 4 สี คือ
-สีขาว มีความจำเป็นในชีวิตประจำวัน
-สีเขียว เช่น สถานที่ประกอบการขนาดเล็ก แต่มีมาตรการที่สามารถควบคุมจำกัดได้ หรืออาจจะเป็นสถานที่ออกกำลังกายกลางแจ้ง
-สีเหลือง เช่น พื้นที่ที่มีคนมาจำนวนมาก มีการติดแอร์
-สีแดง พื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูงที่ยังไม่อยากให้เปิด เช่น สนามมวย สถานบันเทิง หรือที่ที่มีคนมาแออัด
โควิด-19 กับการผ่อนปรนบางอาชีพ
ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยา คลินิกภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊ก Yong Poovorawan ให้ข้อมูลเกี่ยวกับโควิด-19 กับการผ่อนปรนบางอาชีพ ระบุว่า ทุกคนยอมรับเราไม่สามารถที่จะทำให้ไวรัสที่ทำให้เกิดโรคโควิด-19 หมดไปได้ เราจะต้องควบคุมให้น้อยที่สุดที่ให้ระบบสาธารณสุขของประเทศไทย ดูแลรักษาผู้ป่วยได้ ดังนั้น ถ้าผู้ป่วย โควิด-19 อยู่ในหลักสิบ ระบบก็จะรองรับได้ แต่ถ้าเป็นหลักร้อยขึ้นไป ระบบสาธารณสุขก็จะลำบาก โดยเฉพาะถ้าหลายๆร้อยหรือเป็นพันต่อวัน เตียง ICU จะรองรับไม่ได้ สภาพในปัจจุบัน เราอยู่หลักหน่วยหลักสิบต้นๆ เราคงต้องผ่อนปรน ให้ชีวิตของคนไทยอยู่ได้ มีการประกอบอาชีพได้ ยกเว้นบางเรื่องที่จะต้องมีการรวมคนเป็นจำนวนมาก เช่น สนามมวย การอยู่ในที่แออัด เช่น สถานบันเทิงต่างๆ โรงภาพยนตร์ โรงเรียนกวดวิชา คงจะเป็นไปไม่ได้ที่จะให้เปิด ในขณะนี้ การเปิด ผ่อนปรนให้อาชีพต่างๆ จะต้องค่อยเป็นค่อยไป และมีกฎเกณฑ์เพิ่มขึ้น เพื่อรักษาระยะห่าง
หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยา คลินิกภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า มีเสียงเรียกร้องให้เปิด “ร้านตัดผม” มีความเป็นไปได้ แต่คงจะต้องมีกฎเกณฑ์ต่างๆเพิ่มขึ้น เช่น ทั้งผู้ให้บริการและรับบริการจะต้องใส่หน้ากากอนามัย การบริการจะต้องทำให้เร็วที่สุด และจะต้องไม่มีการพูดคุยกัน งานที่จะต้องสัมผัสแตะเนื้อต้องตัวก็ให้น้อยที่สุด และระยะเวลาที่สั้นที่สุด อุปกรณ์เครื่องใช้คงจะต้องดูแลเรื่องความสะอาดระหว่างบุคคล การใช้เครื่องเป่าผม จะทำให้เกิดการฟุ้งกระจายได้ ก็ควรจะหลีกเลี่ยง ผู้รับบริการอาจจะต้องใช้นัด หรือจำกัดจำนวนที่รออยู่ในร้าน ร้านอาจจะต้องให้มีอากาศถ่ายเทได้สะดวก จะต้องไม่เป็นห้องอับทึบ
เช่นเดียวกัน “ร้านอาหาร” ที่อยู่ที่โล่งแจ้ง หรือที่มีอากาศถ่ายเทได้ดี ก็ควรจะเปิดได้ ในสถานที่บรรยากาศติดแอร์ต้องขึ้นอยู่แต่ละสถานที่ จะต้องจำกัดจำนวนคน กำหนดระยะห่างของบุคคล physical distancing มีกฎเกณฑ์การทำความสะอาด อย่างเคร่งครัด ทุกอาชีพ ทุกคน จะต้องมีการปรับตัว มีระเบียบวินัยที่เคร่งครัด เพื่อป้องกันเขาและป้องกันเรา ทุกอย่างจะต้องค่อยเป็นค่อยไป และทุกคนจะต้องปรับตัว เข้าสู่ระบบที่เรียกว่า NEW NORMAL
กรมควบคุมโรค ตรวจกลุ่มเสี่ยงที่กกต.เน้นผู้ใกล้ชิด ผอ.สำนักวินิจฉัยฯ
สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ระบุว่า หลังจากพบเจ้าหน้าที่นิติกร สำนักวินิจฉัยและคดีติดเชื้อโควิด-19 1 คน ล่าสุด พบว่า ผู้อำนวยการสำนักวินิจฉัยและคดี ติดเชื้อโควิด-19 เช่นกัน ซึ่งเป็นหัวหน้าของนิติกรคนดังกล่าว โดยมีการรับส่งแฟ้มงานระหว่างกัน จึงไม่แน่ชัดใครเป็นผู้แพร่เชื้อ เพราะไม่มีใครแสดงอาการป่วย เจ้าหน้าที่จากโรงพยาบาล มาตรวจหาผู้ติดเชื้อโควิด-19 โดยตรวจให้กับนายอิทธิพร บุญประคอง ประธานกกต.นายฐิติเชฏฐ์ นุชนาฏ นายสันทัด ศิริอนันต์ไพบูลย์ กกต.เลขาธิการกกต.รองเลขาธิการกกต.ผู้บริหาร เจ้าหน้าที่สำนักงานรวม 140 คน นอกจากนี้ สำนักงาน อาจจะต้องให้พนักงานลูกจ้าง ตรวจหาเชื้อทั้งหมด สำหรับผลตรวจ 140 คน จะเร่งตรวจให้รู้ผลก่อนบ่ายวันนี้
ช่วงเช้านี้ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข จะจัดชุดมาตรวจหาเชื้อให้ที่สำนักงาน กกต. อีกครั้งหนึ่ง โดยจะเน้นเฉพาะผู้ใกล้ชิดกับผู้อำนวยการสำนักวินิจฉัยและคดีเป็นหลัก นอกจากนั้น พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการ กกต. และคณะทำงานโควิด-19 จะมีการประชุม โดยได้เชิญผู้เชี่ยวชาญจากกรมควบคุมโรคมาร่วมประชุมให้คำแนะนำด้วย
คัดกรองเชิงรุก "โควิด-19" กลุ่มคนไร้บ้านที่เชียงใหม่
เจ้าหน้าที่สำนักงานสาธารณสุขเชียงใหม่ ลงพื้นที่สถานีขนส่งผู้โดยสารช้างเผือก เพื่อตรวจคัดกรองเชิงรุกกลุ่มคนไร้บ้าน ซึ่งอาศัยตามสถานที่สาธารณะ โดยมีการซักประวัติ ตรวจสุขภาพ วัดไข้ ไม่พบผู้เข้าข่ายต้องสงสัยป่วยโรคโควิด-19ด้านเจ้าหน้าที่พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดเชียงใหม่ ตรวจสอบจำนวนคนไร้บ้านในพื้นที่ พบมีประมาณ 120-150 คน ได้นำอาหารกล่อง, ข้าวสารอาหารแห้ง และยาสามัญประจำบ้านไปมอบให้ รวมถึงแนะนำเรื่องศูนย์พักพิงคนไร้ที่พึ่ง เพราะหากมีความประสงค์เข้าไปพัก สามารถแจ้งได้ทันทีโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ในวันนี้ ลงพื้นที่ตลาดลำไยและสวนสาธารณรถไฟ
กระทรวงสาธารณสุข ห่วงตัวเลขผู้ติดเชื้อจากมาตรการค้นหาเชิงรุกที่ยังมีพบในพื้นที่ต่างๆ เช่น ศูนย์กักกันแรงงานที่ จ.สงขลา สนับสนุนให้ค้นหาเชิงรุกต่อ โดยเพิ่มกลุ่มของโรงงานอุตสาหกรรมเข้าไป เมื่อมีการผ่อนปรนให้กลับไปทำงานก็อาจเสี่ยงจากการรวมกลุ่มกันเกิดขึ้นอีก
สปสช.ย้ำรพ.เอกชนตรวจโควิดเฉพาะกลุ่มเสี่ยง
นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยว่า จากการปรับกระบวนการค้นหาและคัดกรองโรคโควิด-19) ในประเทศไทย จากช่วงแรกที่เป็นการดำเนินการเชิงรับ ไปเป็นการค้นหาเชิงรุก (Active case finding) และการค้นหาผู้ป่วยในชุมชนให้มากขึ้น ภายใต้ความร่วมมือของหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐ และเอกชนที่เป็นคู่สัญญา หรือทำร่วมกับสถานพยาบาลของรัฐ ซึ่งที่ผ่านมาอาจจะมีความเข้าใจคาดเคลื่อน เช่น มีการตรวจคัดกรองเป็นการทั่วไปโดยไม่ได้กำหนดกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจน ดังนั้น สปสช. ขอเน้นย้ำว่าสถานพยาบาลเอกชนต้องปฏิบัติตามประกาศกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ เรื่องแนวทางการให้บริการตรวจคัดกรองและตรวจทางห้องปฏิบัติการเพื่อยืนยันการติดเชื้อโควิด-19 นอกสถานพยาบาล คือ ผู้รับบริการจะต้องเป็นกลุ่มเสี่ยงตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด โดยในระดับพื้นที่ให้ยึดกลุ่มเป้าหมายและแนวปฏิบัติตามที่คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดหรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเป็นผู้กำหนด หากดำเนินการตรวจไม่ตรงตามเกณฑ์ที่กำหนดจะไม่เข้าข่ายได้รับเงินชดเชยค่าบริการตรวจคัดกรองจาก สปสช.
อาจารย์ชวลิต เสริมปรุงสุข ศิลปินแห่งชาติ เสียชีวิตจากโควิด-19 ในวัย 80 ปี
อาจารย์ชวลิต เสริมปรุงสุข ศิลปินชื่อดังระดับนานาชาติ ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) พ.ศ. 2557 เสียชีวิตที่กรุงอัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์ ป่วยจากการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 เพจเฟซบุ๊ก Chavalit Soemprungsuk ได้โพสต์ ข้อความระบุว่า อาจารย์ชวลิต เสริมปรุงสุข เป็นศิลปินแห่งชาติ ผู้ใช้ชีวิตควบคู่กับการทำงานศิลปะทั้งในประเทศไทยและเนเธอร์แลนด์ และเป็นนักเรียนไทยรุ่นสุดท้ายที่มีโอกาสได้สัมผัสบรรยากาศการเรียนกับ ‘อาจารย์ฝรั่ง’ ศิลป์ พีระศรี
หลังจากเรียนจบจากมหาวิทยาลัยศิลปากร อาจารย์ชวลิต ได้ย้ายถิ่นฐานไปทำงานในฐานะศิลปินอิสระที่กรุงอัมสเตอร์ดัม ในวัย 80 ปี ผลิตผลงานศิลปะออกมาอย่างสม่ำเสมอ และเพิ่งมีงานแสดงล่าสุดคือ Chavalit 80+ Art Festival เมื่อเดือนมี.ค.
อาจารย์ชวลิต มีโรคประจำตัวคือ โรคหัวใจ และมะเร็งต่อมน้ำเหลือง ได้รับการรักษาจนอาการดีขึ้นเป็นลำดับ เมื่อวันที่ 10 เม.ย.เริ่มมีอาการอ่อนเพลียและไอ ก่อนจะได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์ว่าได้รับเชื้อโคโรนาไวรัสและเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล OLVG Oost กลางกรุงอัมสเตอร์ดัม เมื่อวันที่ 17 เม.ย. ตลอดการรักษา อาจารย์ชวลิต ได้รับการดูแลจากทีมแพทย์อย่างใกล้ชิด และมีการติดตามอาการอย่างต่อเนื่องจากญาติมิตรที่ประเทศไทย และสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเฮก อาการค่อยๆ ทรุดลง โรงพยาบาลได้เปิดให้คนสนิทเข้าเยี่ยม พร้อมทั้งได้เปิดเพลงคลาสสิคที่ชื่นชอบ เปิดหน้าต่างรับแสงแดดและอากาศบริสุทธิ์ของฤดูใบไม้ผลิให้เข้าสู่ห้องพัก อาจารย์ชวลิต ได้นอนหลับไปโดยไม่มีอาการเจ็บปวด ในช่วงเวลาสุดท้าย วันที่ 27 เม.ย. สิริรวมอายุได้ 80 ปี อาจารย์ชวลิต แสดงความจำนงค์บริจาคร่างกายเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ทางการแพทย์
CR:Facebook Chavalit Soemprungsuk