ความเคลื่อนไหวเมืองไทยวันนี้ 12.30 น. ประจำวันจันทร์ที่ 27 เมษายน 2563
ศบค.ต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน 1 เดือน
ผลการหารือในที่ประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม เป็นประธาน ได้พิจารณาการประกาศใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ต่อไปอีก 1 เดือน หลังจากที่จะครบกำหนดในวันที่ 30 เม.ย.นี้ ซึ่งเป็นไปตามที่ฝ่ายความมั่นคงและหน่วยงานด้านสาธารณสุขมีความเห็นตรงกัน
ในส่วนของมาตรการผ่อนปรนการล็อกดาวน์ต่างๆ นั้นจะอนุญาตให้ผู้ประกอบการสามารถดำเนินการได้ โดยจะพิจารณาตามความเหมาะสม และสิ่งสำคัญที่สุดคือความปลอดภัยของประชาชน
กพท.เตรียมขยายเวลาห้ามบินเข้าไทย
มาตรการห้ามอากาศยานทำการบินเข้าสู่ประเทศไทยเป็นการชั่วคราว ซึ่งจะสิ้นสุดในวันที่ 30 เม.ย.63 นายจุฬา สุขมานพ ผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) เปิดเผยว่า กพท. มีแนวโน้มอาจจะออกประกาศสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย เรื่อง ห้าม อากาศยานทำการบินเข้าสู่ประเทศไทยเป็นการชั่วคราวเพิ่มเติม เพื่อขยายเวลาห้ามอากาศยานขนส่งคนโดยสาร ทำการบินเข้ามายังท่าอากาศยานในประเทศไทย เป็นการชั่วคราว ออกไปอีก จากเดิมที่มีกำหนดสิ้นสุดในวันที่ 30 เม.ย. 63 ซึ่งตามปกติจะพิจารณาคราวละ 15 วัน เพื่อป้องกันสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด- 19 เนื่องจากปัญหาการแพร่ระบาดยังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะประเทศที่อยู่ใกล้กับไทย รวมทั้งยังไม่มีความต้องการในการเดินทางระหว่างประเทศ ขณะที่บางประเทศยังมีมาตรการห้ามไม่ให้สายการบินบินออกนอกประเทศอีกด้วย แต่ทั้งนี้ก็ต้องขึ้นอยู่การพิจารณาและตัดสินใจของกระทรวงสาธารณสุขว่าจะเห็นชอบและให้ดำเนินการอย่างไร
และสัปดาห์หน้านี้จะมีผู้โดยสารชาวไทยเดินทางกลับมาจากต่างประเทศจำนวนมาก โดยผ่านเข้ามายังสนามบินดอนเมืองจำนวนรวม 3 เที่ยวบิน คือ เที่ยวบินแรก 200 คน มาถึงวันอังคารที่ 28 เม.ย.เดินทางมาจากกรุงนิวเดลี ประเทศอินเดีย โดยสารการบินนกสกู๊ต, เที่ยวบินที่ 2 วันพุธที่ 29 เม.ย.เดินทางมาจากเมืองมุมไบ ประเทศอินเดีย โดยสายการบินแอร์เอเชีย และ วันพฤหัสที่ 30เม.ย. เดินทางมาจากเมืองบังกาลอร์ ประเทศอินเดีย โดยสายการบินแอร์เอเชีย ซึ่งสนามบินมีความกังวล เนื่องจากเจ้าหน้าที่มีอุปกรณ์เช่น ชุดพีพีอีมีจำนวนที่จำกัด รวมทั้งผู้โดยสารคนไทยที่เดินทางเข้ามาส่วนใหญ่มีการแสดงเพียงใบรับรองฟิตทูฟลายเท่านั้น ซึ่งก็ไม่ได้ยืนยันว่าปลอดจากโรคโควิดหรือไม่ รวมทั้งยังมีข้อมูลว่าบางคนมีการกินยาแก้ไข้มาก่อนเดินทางเพื่อป้องกันไม่ให้มีอาการไข้ตัวร้อน ถือว่ามีความเสี่ยงกับผู้ปฏิบัติงานเป็นอย่างมาก
ไทยขอให้มาเลเซีย เปิดด่านปาดัง-บ้านประกอบ เพิ่มการส่งออกผลไม้ไทย
หลังนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ลงพื้นที่จังหวัดสงขลา ร่วมประชุมติดตามการส่งออกสินค้าเกษตร ที่ต้องผ่านด่านการค้าชายแดนไทย-มาเลเซีย ร่วมกับหัวหน้าด่านศุลกากร ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา และหน่วยงานเกี่ยวข้อง นายจุรินทร์ เปิดเผยว่า การส่งออกสินค้าบางชนิดยังอยู่ในเกณฑ์ดี เพราะว่ามาเลเซียต้องการน้ำยางข้นจากไทยปริมาณมาก เพื่อนำไปผลิตถุงมือยาง ซึ่งเป็นความต้องการของตลาดโลก เพราะในช่วงวิกฤติโควิด ความต้องการถุงมือยางสูงขึ้นมาก และโรงงานผลิตถุงมือยางจำนวนมากอยู่ในฝั่งมาเลเซีย เพราะฉะนั้นน้ำยางข้นจากไทยก็ส่งไปจากทางใต้ แล้วข้ามด่านสะเดา ข้ามด่านปาดังเบซาร์ เป็นด้านหลักไปยังมาเลเซีย รวมทั้งด่านบ้านประกอบบางส่วน
นอกจากนั้น มาเลเซีย ยังจำกัดการส่งออก ที่ด่านปาดังเบซาร์ ที่อนุญาตเฉพาะผลิตภัณฑ์ยาง ยางแผ่น น้ำยางข้นได้ แต่ ผลไม้ ไม้ยาง สินค้าชนิดอื่นยังส่งออกไปไม่ได้ ด่านบ้านประกอบก็เกือบจะเรียกว่าปิดด่าน คือยังเปิดไม่ได้ ผลไม้อีก 1- 2 เดือน ลองกองก็จะออกเพิ่ม มังคุด ผลไม้ทางภาคใต้ จากจันทบุรี ภาคตะวันออกก็อาจจะต้องส่งผ่านด่านเหล่านี้ไปประเทศมาเลเซีย ก็จะติดขัดปัญหา ทำให้ขณะนี้ ได้ส่งหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้าของมาเลเซีย ขอให้เร่งผ่อนปรนให้เราส่งสินค้าผ่านด่านปาดังเบซาร์ กับด่านบ้านประกอบไปได้คล่องตัวขึ้นคาดว่า 1-2 สัปดาห์จะมีความคืบหน้า ไม่อย่างนั้นทุกอย่างก็จะไปกระจุกตัวอยู่ที่ด่านสะเดา ตอนนี้การจราจรมีปัญหามาก เพราะมาเลเซียตรวจเข้ม ไทย ก็ตรวจเข้ม เพราะกลัวโควิด-19 ด้วยกันทั้งคู่ เพราะฉะนั้นมันก็จะกระทบ
ด้านการส่งออกสินค้าเกษตรของไทยไปญี่ปุ่น และประเทศอื่น ๆ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ขณะนี้กำลังทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐ คือ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ “เกษตรผลิต พาณิชย์ตลาด” แล้วจับมือทำงานร่วมกันกับภาคเอกชน ในการกำหนดทิศทางในการผลิตสินค้า เพื่อสนองความต้องการของตลาดในช่วงโควิด-19 ได้ สำหรับผลไม้นั้นได้พูดคุยกับทูตญี่ปุ่นว่าจะช่วยระบายสินค้า โดยเฉพาะผลไม้ไทยไปยังตลาดญี่ปุ่นเพิ่มเติมได้อย่างไร อยากให้ทูตญี่ปุ่นช่วยสนับสนุนผ่านการประชาสัมพันธ์ทางโทรทัศน์ของญี่ปุ่น รวมทั้งรายการโทรทัศน์เด่นๆ ดังๆ ที่คนญี่ปุ่นชมจำนวนมาก เช่น ทีวีไดเร็ก ทีวีช็อปชาแนล ของญี่ปุ่น
ประกันสังคมเดือนมี.ค.ร้อยละ 5 ขอคืนได้
จากกรณีที่สื่อมวลชนนำเสนอข่าว สำนักงานประกันสังคม (สปส.) มีมาตรการช่วยเหลือเยียวยานายจ้างและลูกจ้าง ผู้ประกันตนมาตรา 33 จะได้รับการลดหย่อนอัตราการส่งเงินสมทบกองทุนประกันสังคม ทั้งในส่วนนายจ้างเหลือร้อยละ 4 ลูกจ้างเหลือร้อยละ 1 ซึ่งลูกจ้างจะได้รับเงินส่วนต่างคืนเดือนละ 600 บาท เป็นเวลา 3 เดือน จำนวน 1,800 บาท โดยจะโอนเข้าบัญชีธนาคารของลูกจ้าง หรือปรากฏในบางสื่อว่าข่าวดี! สิ้นเดือนนี้ มนุษย์เงินเดือนได้เงินคืน 1,200 บาท จากประกันสังคมนั้น
นางพิศมัย นิธิไพบูลย์ หัวหน้าผู้ตรวจราชการกรม สำนักงานประกันสังคม ในฐานะโฆษกสำนักงานประกันสังคม เปิดเผยว่า การขยายการนำส่งเงินสมทบดังกล่าวข้างต้นออกไป 3 เดือน พบว่า มีนายจ้างบางรายได้หักเงินสมทบผู้ประกันตนงวดเดือนมีนาคม 2563 ในอัตราเดิมร้อยละ 5 และนำส่งสำนักงานประกันสังคมแล้วนั้น ผู้ประกันตนที่ชำระเกินกลุ่มนี้ ขอให้นายจ้างยื่นเรื่อง ขอรับเงินสมทบคืนส่วนที่ชำระเกินจากสำนักงานฯ เพื่อสำนักงานจะจ่ายเงินคืนผ่านทางนายจ้างเพื่อคืนเงินสมทบให้กับผู้ประกันตนต่อไป สำหรับผู้ประกันตนมาตรา 39 สามารถยื่นเรื่องขอรับเงินสมทบคืน โดยจัดส่งเอกสารทางไปรษณีย์ลงทะเบียนไปที่สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานคร/จังหวัด/สาขา ที่สะดวก
นอกจากนั้น นายทศพล กฤตวงศ์วิมาน เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม ได้เร่งออกระเบียบสำนักงานประกันสังคม “ว่าด้วยการขอรับเงินสมทบที่นำส่งไว้เกินจำนวนที่ต้องชำระคืน (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2563” ลงวันที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2563 ให้นายจ้างหรือผู้ประกันตนที่นำส่งเงินสมทบเกินจำนวนสามารถยื่นคำร้องขอรับเงินคืนพร้อมสำเนาเอกสารประกอบ ต่อสำนักงานประกันสังคมด้วยวิธีการ ทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับ โทรสาร (Fax) ไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ (e-mail) หรือแอปพลิเคชันไลน์ได้ หากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามได้ที่ โทรศัพท์สายด่วน 1506 ให้บริการ 24 ชั่วโมง
รมช.เกษตรฯ ตั้งคำถาม ทีมศก.รัฐบาล เร่งผลักดัน หุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิค เข้าครม.พรุ่งนี้ เพราะอะไร
กรณี ทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลเตรียมเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรีวันที่ 28 เมษายน พิจารณาอนุมัติให้รัฐบาลลงนามในข้อตกลงความเข้าใจและความคืบหน้าเพื่อหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ยอมรับ รู้สึกกังวลหากไทยต้องเข้าเป็นประเทศในสหภาพเพื่อคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ UPOV1991 ที่จะส่งผลให้เกิดการผูกขาดด้านสิทธิบัตรการผลิตเมล็ดพันธุ์พืชใหม่ ๆ รวมถึงอาจทำให้เกษตรกรไม่สามารถเก็บพันธุ์พืชไปเพาะปลูกต่อได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมล็ดพันธุ์ข้าวที่บรรพบุรุษพัฒนาสายพันธุ์ตามวิถีธรรมชาติ รวมถึงหน่วยงานต่าง ๆ ปรับปรุงพันธุ์ขึ้น ซึ่งพันธุ์ข้าวไทยได้รับความนิยมเป็นอันดับ 1 ของโลก
นอกจากนั้น ยังวิตกว่าหากรัฐบาลลงนามเข้าร่วม CPTPP จะทำให้ประชาชนเดือดร้อนทั้งประเทศ และการนำเสนอให้ ครม.พิจารณาตอนนี้มีเหตุผลพิเศษใด เนื่องจากก่อนหน้านี้มีความพยายาม แต่ไม่สำเร็จ ดังนั้น จึงต้องดูให้รอบคอบ โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องชี้แจงว่าสาเหตุที่ไม่ผ่านการพิจารณาในอดีตเป็นเพราะอะไร โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีผลกระทบหรือผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นต่อเกษตรกรอย่างไร ในฐานะที่เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรกำกับดูแลกรมวิชาการเกษตร ได้เน้นย้ำเกี่ยวกับการจดทะเบียนคุ้มครองเมล็ดพันธุ์พืชไทยมาตลอด ซึ่งจะรักษาผลประโยชน์ของเกษตรกรจะทำอย่างเต็มที่
ด้านกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน หรือ FTA Watch เชิญประชมชน “ร่วมชุมนุมออนไลน์” โดยการถ่ายภาพตนเองพร้อมข้อความขึ้นหน้า wall ใส่แฮชแท็กข้อความต่อไปนี้ #NoCPTPP #อย่าฉวยโอกาส #วิกฤติโควิดต้องคิดใหม่ #ไม่เอาCPTPPการค้าล้าหลัง #เก็บพันธุ์พืชไปปลูกต่อไม่ใช่อาชญากรรม #ความมั่นคงทางอาหาร #ความมั่นคงทางยา #คือความมั่นคงของสังคม #CPTPP #MobFromHome แล้วแชร์ไปยังทุกช่องทางสื่อสาร ตั้งแต่ 06.00 น. วันนี้ (27 เม.ย.) เพื่อต่อต้านการกระทำของคณะรัฐมนตรีเตรียมลงมติเข้าร่วมเป็นภาคีความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิค (CPTPP) ตามข้อเสนอของนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี และประธานคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ
ญี่ปุ่นเผยพบผู้ป่วยโควิด-19 หลังใช้บริการฟิตเนส ที่ฝ่าฝืนคำสั่งปิด
บรรษัทกระจายเสียงเอ็นเอชเคของญี่ปุ่นรายงานอ้างเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในจังหวัดโทจิกิทางภาคกลางของประเทศว่า แพทย์ตรวจพบว่า สตรีวัย 80 ปีคนหนึ่งที่เป็นสมาชิกของสถานออกกำลังกาย หรือ ฟิตเนส แห่งหนึ่งในเมืองโอตาวาระ จังหวัดโทจิกิ ติดโรคโควิด-19 หลังใช้บริการฟิตเนสแห่งนี้ ซึ่งฝ่าฝืนเปิดให้บริการ ทั้ง ๆ ที่รัฐบาลท้องถิ่นสั่งประกาศปิดฟิตเนสและศูนย์กีฬาอื่นๆชั่วคราว เพื่อลดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19
เจ้าหน้าที่สาธารณสุขท้องถิ่นระบุว่า ขณะนี้ผู้ป่วยยังคงพักรักษาตัวในโรงพยาบาล จากการตรวจสอบพบว่า สตรีคนดังกล่าวได้ใช้บริการ 2 ครั้ง ครั้งแรกเมื่อวันที่ 16 เมษายน และครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 21 เมษายน โดยเริ่มมีอาการอ่อนเพลียเมื่อวันที่ 16 เมษายน ต่อมาเธอตรวจร่างกายและผลตรวจพบว่าติดโรคโควิด-19 เบื้องต้น เจ้าของฟิตเนสจะตรวจสอบว่า สมาชิกทั้ง 360 คน มีใครติดโรคโควิด-19 หรือไม่
ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นไม่ได้เปิดเผยชื่อของฟิตเนสแห่งนี้ แต่ระบบสมัครเป็นสมาชิกจะช่วยให้โรงยิมทราบชื่อและติดตามสมาชิกได้ไม่ยาก ขณะเดียวกันรัฐบาลท้องถิ่นได้เตือน พร้อมกำชับให้ ตำรวจและเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองในท้องถิ่นให้เข้มงวดกวดขันให้ศูนย์ออกกำลังกาย และฟิตเนสในท้องถิ่นที่ละเมิดคำสั่งปิดชั่วคราว หากยังฝ่าฝืนอีก จะมีการเปิดเผยรายชื่อศูนย์กีฬาต่างๆ ที่ไม่ทำตามคำสั่งต่อสาธารณชน สำหรับญี่ปุ่นมีผู้ป่วยสะสม 13,231 คน เสียชีวิต 360 ราย