นายกฯ ประชุม ศบค.และ ฝ่ายความมั่นคง ตัดสินใจเรื่องพ.ร.ก.ฉุกเฉิน
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ ประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) คณะทำงานแต่ละฝ่ายจะเสนอข้อมูลเพื่อพิจารณาเรื่องการบังคับใช้เคอร์ฟิว และ พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินให้พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะผู้อำนวยการศบค. ตัดสินใจก่อนที่พรุ่งนี้นำเข้าคณะรัฐมนตรี(ครม.) รายงาน คาดว่า จะต่ออายุพ.ร.ก.ฉุกเฉิน ต่อไปอีก 1 เดือน พร้อมให้คงมาตรการเคอร์ฟิว 22.00-04.00น.ต่อไป หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่คัดค้าน การเปิดห้าง แต่มีข้อแม้ ต้องมีมาตรการด้านสาธารณสุขและการป้องกันต่างๆ รองรับ แต่ให้ทยอยผ่อนปรน ร้านค้าที่จำเป็นต่างๆ
รมว.สธ.เสนอ 2 ทางเลือก-แผนทำงาน 8 ด้าน
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข สรุปว่า สถานการณ์โควิด-19ในประเทศไทยไทยมีแนวโน้มดีขึ้น จังหวัดต่างๆ มีสถานการณ์และบริบทแตกต่างกัน จากข้อมูลวันที่ 14 เม.ย. มี 32 จังหวัด ที่ไม่พบผู้ป่วยช่วงสองสัปดาห์ 38 จังหวัด และในระยะสองสัปดาห์มีผู้ป่วยประปราย และ 7 จังหวัด มีผู้ป่วยในพื้นที่ต่อเนื่อง จัดทำข้อเสนอการจัดการ ปัญหาโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019: การเปลี่ยนผ่านจากมาตรการ "กึ่งล็อกดาวน์" เข้าสู่มาตรการ"สร้างเสถียรภาพ" เพื่อเสนอต่อ ศบค.ข้อเสนอดังกล่าว ยังประเมิน 2 ทางเลือก คือ
1.เพิ่มความเข้มข้นและผ่อนคลายมาตรการ แต่ทางเลือกนี้อาจไม่เหมาะที่จะนำมาใช้กับพื้นที่ทั้งประเทศ แต่อาจนำมาใช้ในชุมชนเล็กๆที่มีการติดเชื้อสูง
2.เริ่มกลับมาเปิดสถานที่และกิจการที่ได้ปิดไปแล้วอย่างเป็นขั้นเป็นตอน เป้าหมายที่จะควบคุมโรคให้แพร่ระบาดระดับต่ำที่สุด เพื่อให้ผู้คนกลับไปทำงาน เรียนหนังสือ สังคมไม่หยุดนิ่ง
สำหรับแผนดำเนินการมี 8 ด้าน ดังนี้
1.เพิ่มความเข้มข้นมาตรการสาธารณสุขและการแพทย์ ประกอบด้วยการเพิ่มจำนวนห้องปฏิบัติการทางสาธารณสุขให้ทุกจังหวัด สามารถตรวจหาการติดเชื้อโควิด-19ได้เร็ว ค้นหาผู้ป่วยเชิงรุกในประชากรกลุ่มเสี่ยงบางกลุ่ม การแยกผู้ป่วย การรักษา ติดตาม ผู้สัมผัสอย่างรวดเร็ว มีสถานที่ รองรับผู้สัมผัสและผู้ป่วยติดเชื้อไวรัส โควิด-19 เพียงพอ สะดวก ได้มาตรฐาน
2.พิจารณาเริ่มผ่อนปรนมาตรการกึ่งล็อกดาวน์ตามระดับความเสี่ยงแต่ละจังหวัด ควรเตรียมความพร้อมและคงระดับความเข้มข้นของมาตรการที่สำคัญและอาจเริ่มผ่อนปรนมาตรการกึ่งล็อกดาวน์ช่วงต้นเดือนพ.ค.เป็นต้นไป ในจังหวัดที่ไม่พบผู้ป่วยไม่น้อยกว่าสองสัปดาห์และมีความพร้อม จังหวัดที่พบการแพร่ระบาดของโรคในวงจำกัด อาจพิจารณาเริ่มดำเนินการประมาณกลางเดือนพ.ค.หรือเมื่อสถานการณ์ดีขึ้น ส่วนจังหวัดที่มีการระบาดต่อเนื่องต้องป้องกันควบคุมโรคอย่างเข้มข้นจนสถานการณ์แพร่ระบาดดีขึ้น ตามเกณฑ์ที่กำหนดก่อนจึงเปิดสถานที่และกิจการตามลำดับขั้นตอนต่อไป
3.การใช้กลไกของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด และคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร เป็นกลไกบริหารจัดการปัญหาในจังหวัด ทั้งกระบวนการออกข้อกำหนด สั่งการและการประสาน การทำงานระหว่างหน่วยงานและภาคส่วนต่างๆ โดยจังหวัดควรเพิ่มจำนวนหน่วยปฏิบัติการควบคุมโรคให้เพียงพอ สอบสวนควบคุมโรคได้รวดเร็ว
4.คงระดับปฏิบัติการภาวะฉุกเฉินให้เหมาะกับสถานการณ์ ควรจัดให้มีทีมตระหนักรู้ สถานการณ์ดำเนินการติดตามเฝ้าระวัง ประเมินพยากรณ์สถานการณ์ ทีมยุทธศาสตร์จัดเตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์ และจัดทำแผนเผชิญเหตุ ทีมสำรองเวชภัณฑ์ฯ จัดเตรียมสำรองเวชภัณฑ์ ทรัพยากรและกำลังคนอย่างเหมาะสม
5.สร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพ เพื่อให้ประชาชน ครอบครัว หน่วยงาน องค์กร ชุมชน และสังคม มีความรู้ ความเข้าใจ และปฏิบัติตัวได้อย่างเหมาะสม รู้วิธีปฏิบัติตัวทั้งในยามที่ยังไม่ติดเชื้อ และรู้วิธีปฏิบัติตัวหากติดเชื้อ ดูแลครอบครัวให้ปลอดโรคได้
6.การส่งเสริมให้อาสาสมัครสาธารณสุข และชุมชนมีส่วนร่วมกับการป้องกันควบคุมโรคใกล้ชิด
7.เปิดสถานที่และกิจการตามระดับความเสี่ยง โดยจะจัดให้มีกระบวนการประเมินความเสี่ยงของสถานที่และกิจการที่ได้ปิดไปแล้ว
8.คงมาตรการเพิ่มระยะห่างระหว่างบุคคล (Social Distancing) ต่อไป เพื่อลดความแออัดของที่ทำงานและพื้นที่สาธารณะ โดยสนับสนุนให้ทำงานจากบ้าน (Work from Home) ให้มากที่สุด การเหลื่อมเวลาทำงาน การเพิ่มเที่ยวการเดินรถสาธารณะ งดจัดประชุม งดจัดชุมนุม งดงานสังคม หรืองานอีเว้นท์ ขนาดใหญ่ที่จะก่อให้เกิดการรวมตัวของผู้คนจำนวนมาก
สธ.เสนอไม่ให้ต่างชาติเดินทางเข้ามา
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขเตรียมเสนอให้นายกฯ มีคำสั่งระงับการเดินทางเข้ามาของชาวต่างชาติ หลังจากที่พบผู้ติดเชื้อแรงงานต่างด้าว 42 คน จากศูนย์กักคนตรวจคนเข้าเมือง อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา ซึ่งเป็นกลุ่มของผู้ลักลอบเข้าเมืองด้วยหลังจากนี้จะให้ผู้ป่วยกลุ่มนี้ไปรักษาที่โรงพยาบาลสนามในพื้นที่ และดูแลในสถานที่กักกันตัวของรัฐ (State Quarantine) โดยจะไม่ปล่อยให้มีการแพร่กระจายของเชื้อเด็ดขาด และจะต้องไม่กระทบการให้บริการในประเทศ เราสามารถควบคุมโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพแล้ว แต่หากมีเคสที่หลุดเข้ามาจากต่างชาติ การควบคุมโรคจะประสบปัญหา ตอนนี้เราเดินมาได้ไกล ไม่ต้องการเห็นความผิดพลาดเกิดขึ้น
ตรวจสแกนเชิงรุก แรงงานในพื้นที่จ.สมุทรสาคร
หลังจากพบแรงงานต่างด้าวในศูนย์กักคนเข้าเมืองที่ อ.สะเดา จ.สงขลา ติดเชื้อจำนวนมาก รัฐบาลจะดูแลอย่างไร รวมถึงพื้นที่ที่แรงงานต่างด้าวรวมตัวกันมากที่ จ.สมุทรสาคร นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค. กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข จะใช้วิธีค้นหาเชิงรุก โดยทีมระบาดวิทยา กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เข้าไปตรวจ และกรมอนามัยเข้าไปดูเรื่องความเป็นอยู่และสิ่งแวดล้อม เพื่อให้มีสุขอนามัยที่ดี ไม่เป็นแหล่งรังโรค เป็นเรื่องที่กระทรวงสาธารณสุขคิดขึ้นมาทั้งระบบ แต่ที่สำคัญประชาชน แรงงานต่างด้าว และผู้ประกอบการ ต้องให้ความร่วมมือ ปรับตัวให้เข้าสถานการณ์ ต้องเป็นผู้สังเกตอาการของตัวเอง หากมีอาการเหล่านี้ให้รีบแจ้ง เพราะคนที่เฝ้าระวังดีที่สุดคือ คนในพื้นที่
เรียกกำลังพล “สายแพทย์” ทุกเหล่าทัพ เสริมทัพช่วยงาน State Quarantine
พล.ท.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม เปิดเผยว่า ระหว่างวันที่ 26 - 30 เม.ย.จะมีคนไทยเดินทางกลับจากต่างประเทศ ผ่านท่าอากาศยานนานาชาติ จำนวน 1,071 คน จาก ออสเตรเลีย 207 คน ญี่ปุ่น 35 คน เนเธอร์แลนด์ 25 คน สเปน 42 คน อินเดีย 601 คน รวมทั้ง นิวซีแลนด์ 168 คน ซึ่งมีเด็กเยาวชน กว่า 50 คน ทั้งหมดจะทยอยเดินทางเข้ามาผ่านกระบวนการคัดกรองและเข้าพักในสถานที่ที่กำหนด ตามมาตรการควบคุมโรคแห่งรัฐ โดยการดูแลของ กระทรวงสาธารณสุขและหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทุกเหล่าทัพ ได้เรียกกำลังพลเหล่าแพทย์ ที่ปฏิบัติงานนอกสายงาน เข้ารับการอบรมฟื้นฟูทักษะการแพทย์ เพื่อเตรียมหมุนเวียนเสริมการปฏิบัติงานของบุคลากรทางการแพทย์ทหาร ตามโรงพยาบาลต่างๆ ด่านชายแดน และสถานที่กักควบคุมโรคที่จัดตั้งขึ้นให้เพียงพอในการดูแลประชาชนในภาพรวม
พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม ย้ำว่าขอให้ทุกเหล่าทัพประสานกับทุกส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันทำหน้าที่ให้ดีที่สุดและเป็นที่เชื่อมั่นร่วมกันในการดำเนินการอย่างเข้มข้นตามมาตรการคัดกรองทั้งจากด่านชายแดนและท่าอากาศยานนานาชาติต่อเนื่องไปถึงมาตรการดูแลควบคุมโรคของรัฐทุกสถานที่ที่จัดตั้งขึ้นอย่างมีมาตรฐานต่อเนื่องกันไปโดยให้ประสานขอประวัติข้อมูลของผู้เดินทางเข้ามาที่มีโรคประจำตัว เพื่อดูแลรักษาระหว่างการกักควบคุมโรค
CR:Army times Thailand