อธิบดีกรมควบคุมโรค มั่นใจมีห้องปฏิบัติการเพียงพอ หลังเตรียมเก็บน้ำลายหาเชื้อไวรัสโคโรนา ลดการสัมผัสกับกลุ่มเสี่ยง

24 เมษายน 2563, 13:18น.


         การเตรียมความพร้อมใช้น้ำลายตรวจหาเชื้อไวรัสโคโรนา หรือโควิด-19 แทนการตรวจจากสารคัดหลั่ง ประเภทอื่นๆ ที่ต้องใกล้ชิดกับผู้ป่วย  นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ข้อดีของการเก็บตัวอย่างด้วยน้ำลาย คือ เป็นการเก็บตัวอย่างง่ายกว่า การเก็บตัวอย่างจากสารคัดหลั่งของจมูกและหลังคอ ไม่ต้องใช้ชุด PPE, มีราคาถูก, รวดเร็ว, ลดการสัมผัสผู้ป่วย โดยการเก็บตัวอย่างน้ำลายจะไม่ใช้ทั่วไปแต่จะใช้ในกลุ่มความเสี่ยง ทั้งบุคลากรทางการแพทย์, ผู้ที่สัมผัสผู้ป่วย,กลุ่มที่อยู่ในชุมชนต่างๆ ซึ่งเป็นการเก็บตัวอย่างเชิงรุกและที่สำคัญสามารถใช้เก็บตัวอย่างน้ำลายในกลุ่มคนที่เดินทางจากต่างประเทศได้ด้วย เพราะในกลุ่มนี้มีจำนวนมากและพื้นที่สนามบินค่อนข้างจำกัด  ขณะนี้ที่ประเทศสหรัฐอเมริกาและเขตปกครองพิเศษฮ่องกงก็ใช้วิธีนี้เช่นกัน



          ในส่วนของประเทศไทยเริ่มใช้ไปบ้างแล้วและมั่นใจว่าห้องปฏิบัติการตรวจเชื้อมีเพียงพอรองรับการตรวจเพราะปัจจุบันมีถึง125ห้อง



          ด้าน น.พ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ระบุว่า จากเดิมไทยใช้วิธีการตรวจหาเชื้อแบบ RT-PCR หรือ ตรวจจากสารคัดหลั่งของโพรงจมูกและหลังคอ แต่จะพบความยุ่งยาก ต้องใช้อุปกรณ์และบุคลากรทางการแพทย์ จึงได้ประยุกต์มาเป็นการใช้วิธีการตรวจด้วยน้ำลายแทน ซึ่งมีความแม่นยำถึงร้อยละ 90 หากเทียบกับการตรวจจากสารคัดหลั่ง  แต่ก็ต้องใช้ควบคู่กับการวินิจฉัยโรคด้วย





         วิธีดำเนินการกับกลุ่มเสี่ยง เจ้าหน้าที่จะมีถุงซิบให้เพื่อเก็บตัวอย่าง จากนั้นนำกลับไปเก็บตัวอย่างน้ำลายเองได้ด้วยการขากน้ำลายออกจากลำคอบ้วนใส่กระป๋องเก็บตัวอย่างและนำกลับมาให้เจ้าหน้าที่เอาไปตรวจในห้องปฏิบัติการ ซึ่งการขากน้ำลายควรทำในช่วงที่ตื่นนอนตอนเช้า หรือ ควรงดอาหาร เครื่องดื่มก่อนที่จะเก็บตัวอย่างน้ำลาย ประมาณ 1-2 ชั่วโมง วิธีนี้จะมีการวินิจฉัยหาเชื้อเหมือนกับสารคัดหลั่ง และมีความปลอดภัย บุคลากรทางการแพทย์ ไม่สัมผัสผู้ป่วยด้วย

ข่าวทั้งหมด

X