ความเคลื่อนไหวเมืองไทยวันนี้ 12.30 น.ประจำวันพฤหัสบดีที่ 23 เมษายน 2563

23 เมษายน 2563, 12:50น.


ความเคลื่อนไหวเมืองไทยวันนี้ 12.30 น. ประจำวันพฤหัสบดีที่ 23 เมษายน 2563



โควิด-19 ในไทยติดเชื้อเพิ่ม 13 คน เสียชีวิตอีก 1 ราย



           ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค.รายงานสถานการณ์วันนี้ (23 เมษายน 2563) ยังมีข่าวดีต่อเนื่องจากจำนวนผู้ป่วยที่หายดีแพทย์อนุญาตให้กลับบ้านได้อีก 78  คน ทำให้ยอดผู้ป่วยกลับบ้านแล้ว 2,430 คน  รักษาในโรงพยาบาล 359 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 1 ราย ยอดผู้เสียชีวิตสะสม 50 ราย คือ

-หญิงไทย อายุ 78 ปี มีโรคประจำตัวหลอดเลือดสมอง เข้าโรงพยาบาลจากอาการติดเชื้อในกระเพาะปัสสาวะ จากนั้นมีการตรวจยืนยันว่าติดเชื้อโควิด-19 อาการทรุดลง และเสียชีวิต



        สำหรับยอดผู้ป่วยใหม่วันนี้ เพิ่มขึ้น 13 คน ยอดผู้ป่วยสะสม 2,839 คน แบ่งได้ดังนี้



1. ผู้ป่วยรายใหม่ จากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการฯ 10 คน



1.1 ผู้ป่วยที่มีประวัติสัมผัสกับผู้ป่วยยืนยัน/เกี่ยวข้องกับผู้ป่วยยืนยันก่อนหน้า 5 คน (กทม. ชลบุรี สงขลา ชุมพร)



1.2 ผู้ป่วยกลุ่มอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องกับผู้ป่วยก่อนหน้า 5 คน



- คนไทยเดินทางกลับจากต่างประเทศ 1 คน



- ไปสถานที่ชุมนุมชน เช่น ห้างสรรพสินค้า ตลาดนัด สถานที่ท่องเที่ยว 1 คน



- อาชีพเสี่ยง เช่น ทำงานในสถานที่แออัด หรือทำงานใกล้ชิดชาวต่างชาติ พนักงานขาย ขนส่งสินค้า ทำงานกับนักท่องเที่ยว 2 คน



- ตรวจก่อนทำหัตถการ 1 คน



2. การค้นหาเชิงรุก (Active case finding) (จ. ภูเก็ต) 3  คน



ผู้ป่วยติดเชื้อมากที่สุดยังเป็นช่วงอายุ 20-29 ปี (691 คน)



ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเดือนมี.ค. ต่ำสุดในรอบ 28 เดือน



          นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) แถลงดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเดือนมีนาคม 2563 ว่า ดัชนีอยู่ในเกณฑ์ไม่ดี ลดลงต่ำสุดในรอบ 28 เดือน นับตั้งแต่เดือนธันวาคม 2560  เนื่องจาก การแพร่ระบาดของโควิด-19 มาอยู่ที่ระดับ 88.0 ลดลงจากระดับ 90.2 เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2563



          สำหรับการคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า ดัชนีปรับตัวลดลงอยู่ที่ระดับ 96.0 ลดลงจาก 98.1 เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2563 โดยค่าดัชนีต่ำที่สุดในรอบ 10 ปี ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2552 เนื่องจาก ผู้ประกอบการกังวลต่อการประกอบกิจการใน 3 เดือนข้างหน้า หากการระบาดของโควิด-19 ยังไม่คลี่คลายจะส่งผลกระทบต่อสภาพคล่องและการฟื้นฟูกิจการ



ยอดผลิต–ขายรถยนต์หายลดลงร้อยละ 26



          นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธาน ส.อ.ท. และโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ กล่าวว่า การผลิตรถยนต์เดือนมีนาคม 2563 ปรับลดลงมากถึงร้อยละ 26 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันเมื่อปีที่ผ่านมา แม้การผลิตเดือนมีนาคมมีการผลิตเผื่อจะต้องหยุดผลิตเดือนเมษายน 2563  โดยผลิตได้รวม 146,000 คัน ดังนั้น เป้าหมายการผลิตรถยนต์ตลอดปีนี้ที่ตั้งไว้รวม 1,900,000 คัน อาจจะไม่ถึง ซึ่งกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ ส.อ.ท.อยู่ระหว่างพิจารณาว่าจะปรับเป้าหมายการผลิตหรือไม่ หากสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ยืดเยื้อ ยอดผลิตรถตลอดปี 2563 อาจลดลงถึง 600,000 คัน เหลือยอดผลิตตลอดปีนี้เพียง 1,400,000 คัน



          สำหรับยอดขายรถยนต์ในประเทศเดือนมีนาคม 2563 ทำยอดได้เพียง 60,105 คัน ลดลงจากเดือนเดียวกันเมื่อเทียบจากปีที่แล้วร้อยละ 41.74 และลดลงจากเดือนกุมภาพันธ์ 2563 ร้อยละ 11.96 ยอดขายภายในประเทศลดลงจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของโควิด-19 ดังนั้น ยอดขายรถยนต์ในประเทศปีนี้ที่ตั้งเป้าหมายไว้ 1,000,000 คัน อย่างดีที่สุดน่าจะทำได้ 700,000 คัน แต่มีโอกาสที่ยอดขายจะลดต่ำลงเหลือตลอดทั้งปีทำยอดได้เพียง 500,000 มากกว่า



        ด้านการส่งออกรถยนต์เดือนมีนาคมก็ลดลงมากเช่นกัน โดยปกติจะส่งออกได้ค่อนข้างมาก แต่ส่งออกได้เพียง 89,795 คัน ลดลงจากช่วงเดียวกันปีที่ผ่านมาที่ทำยอดได้ถึง 117,108 คัน ส่งออกลดลงคิดเป็นร้อยละ 23.71 ดังนั้น คาดว่าตลอดปีนี้การส่งออกรถยนต์อาจลดลงเหลือเพียง 500,000-700,000 คันเท่านั้น จากเป้าหมายที่ตั้งไว้ว่าจะส่งออกปีนี้ได้ประมาณ 1,000,000 คัน 



          สำหรับข้อเสนอแนะต่อภาครัฐ ได้แก่ นำค่าใช้จ่ายป้องกันโควิด-19 มาหักภาษีได้ ภาครัฐสนับสนุน E-Commerce Platform ของประเทศ เพื่อรองรับพฤติกรรมใหม่ของผู้บริโภคภายหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 และการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐสนับสนุนการซื้อสินค้าจากผู้ผลิตในประเทศ (Made in Thailand)



ยอดลงทะเบียน เราไม่ทิ้งกัน 28.8 ล้านคน จ่ายเงินเพิ่ม ศุกร์นี้ 700,000 ราย 



           นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) โฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า วานนี้ (22 เม.ย.) เวลา 24.00 น. เว็บไซต์ www.เราไม่ทิ้งกัน.com ได้ปิดลงทะเบียนรับเงินเยียวยา 5,000 บาทเรียบร้อยแล้ว ซึ่งมียอดผู้เข้ามาลงทะเบียนรวมทั้งสิ้น 28,849,725 คน โดยระบบจะทยอยตรวจสอบสิทธิ์ผู้ที่เข้ามาลงทะเบียนล่าสุดต่อไป



          ส่วนการจ่ายเงินเยียวยา 5,000 บาท มีการจ่ายเงินกลุ่มผ่านเกณฑ์ไปแล้ว 4,200,000 ราย และในวันศุกร์ที่ 24 เม.ย.นี้ จะจ่ายเงินเพิ่มอีก 700,000 ราย แบ่งเป็น กลุ่มที่ขอข้อมูลเพิ่มเติม (สีเทา) ที่ให้ข้อมูลแล้วผ่านเกณฑ์ จำนวน 500,000 ราย และกลุ่มที่ไม่ผ่านการลงทะเบียน (สีแดง) ยื่นขอทบทวนสิทธิ์แล้วผ่านเกณฑ์อีก 200,000 ราย โดยเป็นกลุ่มที่ตรวจสอบง่าย เพราะส่วนใหญ่มีใบอนุญาตในการประกอบอาชีพ ส่วนกลุ่มที่ยื่นทบทวนสิทธิ์แล้วข้อมูลยังไม่ชัดเจน กระทรวงการคลัง จะส่งทีมพิทักษ์สิทธิ์ลงพื้นที่จริงไปตรวจสอบและยืนยันตัวตนตามที่ลงทะเบียนไว้



          ในส่วนของการทบทวนสิทธิ์ ผู้ที่ไม่ผ่านเกณฑ์และไม่เห็นด้วยกับระบบคัดกรอง สามารถยื่นทบทวนสิทธิ์ได้ต่อเนื่อง ยังไม่กำหนดเวลาปิดยื่นทบทวนสิทธิ์ ดังนั้นกลุ่มที่ถูกตัดสิทธิ์กว่า 10.6 ล้านคน สามารถมายื่นทบทวนสิทธิ์ได้ที่เว็บไซต์ www.เราไม่ทิ้งกัน.com ได้ตลอดเวลา และกลุ่มสีเทา (ขอข้อมูลเพิ่มเติม) ที่ยังไม่ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมผ่านเว็บไซต์ www.เราไม่ทิ้งกัน.com อีกจำนวน 1.5 ล้านคน ก็สามารถเข้าไปให้ข้อมูลได้ต่อเนื่องเช่นกัน 



บอร์ดกฟผ.ตั้งคณะกรรมการสอบ จัดซื้อจัดจ้างราคาสูงทำให้ค่าไฟแพง



            นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน ในฐานะประธานคณะกรรมการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผย ว่าที่ประชุม คณะกรรมการ กฟผ.วันนี้ ได้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบ กรณีนายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ร้องเรียนค่าไฟฟ้าแพงขึ้นเกิดจากสาเหตุการจัดซื้อจัดจ้างที่มีราคาสูง โดยมี พล.อ.สมศักดิ์ รุ่งสิตา เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) กรรมการ กฟผ. เป็นประธานคณะทำงาน โดยจะพิจารณาเสร็จสิ้นภายใน 2 สัปดาห์นี้



ต้องไม่อด ผู้ว่าฯ พังงา ทำโครงการ 1 ตำบล 1 คลังอาหาร



           นายจำเริญ ทิพญพงศ์ธาดา ผู้ว่าราชการจังหวัดพังงา เปิดเผยถึงการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ในพื้นที่ว่าจากการเปิดรับเครื่องอุปโภคบริโภคที่หอประชุมใหญ่ศาลากลางจังหวัดพังงา มีภาครัฐ เอกชน และประชาชนทุกภาคส่วนได้นำสิ่งของมาสมทบจำนวนมาก ซึ่งจังหวัดนำไปประกอบอาหารในโครงการ 1 ตำบล 1 คลังอาหาร ให้ความช่วยเหลือผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนในรูปแบบต่าง ๆ โดยมอบให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแต่ละตำบลไปบริหารจัดการเพื่อให้การช่วยเหลือเป็นไปอย่างทั่วถึง เพราะสถานการณ์ของโรคดังกล่าวส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง ประชาชนไม่สามารถออกไปประกอบอาชีพได้ตามปกติ



          นอกจากนี้ จังหวัดยังจัดข้าวสารจำนวน  500 กิโลกรัม พร้อมด้วยเมล็ดพันธุ์ผักและของอุปโภคที่จำเป็นในครัวเรือนอีกจำนวนหนึ่งให้เป็นทุนเพิ่มเติมในคลังอาหารทุกตำบล หรือเรียกว่าเป็นโมเดลให้เข้าถึงครัวหมู่บ้าน ครัวชุมชน โดยใช้ข้าวสารเป็นหลักสำคัญของคลังอาหาร เนื่องจาก จังหวัดพังงาไม่ใช่พื้นที่ผลิตข้าว ส่วนวัตถุดิบประกอบอาหาร ในพื้นที่ไม่ขาดแคลน เพราะจังหวัดพังงาเป็นครัวอันดามันที่ผลิตส่งขายเพื่อนบ้านอยู่แล้ว หลังจากนี้ จะให้ทุกท้องถิ่นระดมความร่วมมือในชุมชนแต่ละพื้นที่บริหารจัดการดูแลกันตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง



พิจิตร ยกเลิกคำสั่ง ปลดล็อกร้านอาหาร สถานประกอบการ  



          นายสิริรัฐ ชุมอุปการ ผู้ว่าฯ พิจิตร ในฐานะประธานกรรมการโรคติดต่อจังหวัดพิจิตร กลับลำออกหนังสือยกเลิกคำสั่งปลดล็อกร้านอาหาร สถานประกอบการ หลังจากเมื่อวานนี้ออกประกาศคำสั่งจังหวัดให้ร้านอาหาร สถานประกอบการที่ถูกสั่งปิดเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 กลับมาเปิดได้อีกครั้ง



        คำสั่งล่าสุดที่ออกมาในวันนี้ย้ำว่าให้คงมาตรการต่างๆ โดยร้านอาหารทุกประเภทต้องขายให้ลูกค้าแบบใส่ถุงกลับบ้านเท่านั้น ส่วนสถานประกอบการ ทั้งร้านคาราโอเกะ นวดแผนโบราณ สถานที่ออกกำลังกาย โรงภาพยนตร์ ร้านอินเทอร์เน็ต โรงมหรสพทุกประเภท และร้านจำหน่ายสินค้าที่ไม่จำเป็นต่อการดำรงชีพ ต้องปิดให้บริการจนกว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลง แม้จังหวัดพิจิตรจะเป็นพื้นที่สีขาว ปลอดผู้ป่วยติดโควิด-19



ญี่ปุ่นพบผู้ติดเชื้อบนเรือสำราญอีก 14 คน



          เจ้าหน้าที่ญี่ปุ่น รายงานว่าพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มขึ้นอีก 14 คน จากเรือสำราญคอสตา แอตแลนติกา จากอิตาลี ซึ่งทำให้มีผู้ติดเชื้อจากเรือลำนี้รวมเป็น 48 คนแล้ว โดยมีอยู่ 1 คน ที่มีอาการหนักต้องส่งต่อไปรับการรักษาที่โรงพยาบาล



          สำหรับเรือสำราญคอสตา แอตแลนติกา จอดซ่อมแซมอยู่ที่ท่าเรือในจังหวัดนางาซากิ โดยหน่วยงานของมิตซูบิชิ เฮฟวี อินดัสตรีส์มาตั้งแต่เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ โดยมีพนักงานอยู่บนเรือ 623 คนแต่ไม่มีผู้โดยสาร จากนั้นมีการรายงานพบผู้ติดเชื้อคนแรกในวันอังคาร (21 เม.ย.) ต่อมาในวันพุธ (22 เม.ย.) ก็รายงานว่ามีผู้ติดเชื้อเพิ่มอีก 33 คน และในวันนี้ (23 เม.ย.) อีก 14 คน โดยครึ่งหนึ่งของผู้ติดเชื้อคือพนักงานครัว และอีกครึ่งหนึ่งคือพนักงานที่รับผิดชอบในการเสิร์ฟอาหาร เหตุการณ์นี้ทำให้เกิดความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อผู้อยู่อาศัยในนางาซากิ เนื่องจากพบว่ามีลูกเรือบางคนออกจากพื้นที่ที่กำหนดไว้ แม้ผู้ประกอบการเรือสำราญจะให้คำมั่นว่า พวกเขาจะอยู่ภายในท่าเรือเท่านั้น



 

ข่าวทั้งหมด

X