ไทย-จีน ทดลองวัคซีนโควิด-19 ในคน คาดภายใน 4 เดือน เข้าไทย
นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึง ความคืบหน้าการผลิตวัคซีนต้านไวรัสโควิด-19ว่า วัคซีนที่มีความก้าวหน้าที่สุด คือ ของจีน เนื่องจาก เกิดโรคก่อน ในส่วนประเทศไทย โดยสถาบันวัคซีนแห่งชาติ ได้มีการเข้าร่วมทดสอบวัคซีนในคนกับจีนด้วย ซึ่งไทยพร้อมเข้าร่วมทั้ง 3 ระยะ ทั้งนี้การเข้าร่วมศึกษาวัคซีนกับจีนหากสำเร็จจะทำให้ไทยเป็นประเทศแรกๆ ที่สามารถเข้าถึงวัคซีน ส่วนจะได้มากน้อยแค่ไหนก็อยู่ที่ปริมาณการผลิตของจีน
สำหรับการผลิตวัคซีนโดยคนไทยได้เริ่มดำเนินการบ้างแล้ว โดยเตรียมพร้อมทั้งคนและโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ อย่างไรก็ตามหากจีนสามารถผลิตวัคซีนได้ก็จะมีการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้ได้ด้วย หรือให้วัคซีนมาบรรจุเอง ในส่วนนี้ประเทศไทยก็เตรียมความพร้อมไว้แล้วเช่นเดียวกัน เช่น โรงงานที่ จ.ฉะเชิงเทรา ที่เป็นการร่วมทุนขององค์การเภสัชกรรมและเอกชน หรือหากจีนจะถ่ายทอดกระบวนการเบื้องต้นไทยจึงต้องเตรียมพร้อมไว้ด้วย เป็นต้น
นพ.สุวรรณชัย กล่าวว่า การผลิตวัคซีนของจีนอยู่ระหว่างทดสอบในคน โดยระยะที่ 1 น่าจะทดลองประมาณ 100 คน ระยะ 2 ประมาณ 1,000 คน และระยะ 3 ประมาณ 10,000 คน ซึ่งจากการระบาดของโรค น่าจะสามารถนำมาทดลองในไทยได้ภายใน 3-4 เดือน
ทั้งนี้การฉีดวัคซีนจะใช้ 2 มิติ คือ
1.ลดการเสียชีวิต จะฉีดในกลุ่มเสี่ยง เช่น ผู้สูงอายุ ผู้มีโรคประจำตัว เด็กเล็ก เป็นต้น
2.ลดการเจ็บป่วย จะฉีดในกลุ่มวัยทำงาน ในกลุ่มเมือง ที่พบว่ามีการติดเชื้อจำนวนมาก ซึ่งหากฉีดในกลุ่มนี้จะช่วยลดโอกาสการแพร่โรค อย่างไรก็ตาม การจะฉีดในกลุ่มไหนต้องมีการประเมินอีกครั้ง ส่วนความต้องการวัคซีนตามหลักแล้วจะต้องฉีดให้ได้มากกว่าร้อยละ 60 แต่หากมีวัคซีนเหลือจำนวนมากก็จะฉีดให้ได้ร้อยละ 90 ขึ้นไป
อภ.เพิ่มกำลังการผลิตและสำรองยาโควิด-19
ภญ.มุกดาวรรณ ประกอบไวทยกิจ รองผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม (อภ.) กล่าวว่า ตามที่กระทรวงสาธารณสุขมีแนวทางการใช้ยาต้านไวรัส สำหรับใช้รักษาผู้ป่วยโควิด -19 และได้กำหนดให้มียาจำเป็นสำหรับใช้ในการรักษาจำนวน 7 รายการ สำหรับใช้ร่วมกันในการรักษาโรคโควิด -19 ให้มีเพียงพอสำหรับใช้ในการรักษาผู้ป่วยอย่างต่อเนื่อง โดยเป็นยาที่องค์การเภสัชกรรมผลิตเอง จำนวน 5 รายการ ประกอบด้วย
(1.) ยาคลอโรควิน รักษาโรคมาลาเรีย สำรองไว้ จำนวน 1.8 ล้านเม็ด
(2.) ยาต้านไวรัสเอดส์สูตรผสม โลพินาเวียร์ และ ริโทรนาเวียร์ ( Lopinavir / Ritonavir) สำรองไว้ จำนวน 30.6 ล้านเม็ด
(3.) ยาต้านไวรัสเอดส์ดารุนาเวียร์ (Darunavir) สำรองไว้จำนวน 1.9 ล้านเม็ด
(4.) ยาต้านไวรัสเอดส์ริโทรนาเวียร์ (Ritonavir) สำรองไว้จำนวน 1.9 ล้านเม็ด
(5.)ยาอะซิโธรมัยซิน (Azithromycin) ยาปฏิชีวนะใช้รักษาอาการติดเชื้อจากแบคทีเรีย สำรองไว้จำนวน 3.4 ล้านเม็ด
ยาทั้ง 5 รายการที่องค์การฯ ผลิตเอง เป็นการเพิ่มกำลังการผลิตเพื่อใช้สำหรับรักษาผู้ติดเชื้อโควิด -19 ซึ่งยามีเพียงพอและไม่กระทบต่อผู้ป่วยที่ใช้ยาเหล่านี้อยู่เดิม และขอเตือนว่ายาเหล่านี้เป็นยาที่ใช้เฉพาะโรค เป็นยาอันตราย การสั่งใช้ต้องเป็นไปตามการสั่งของแพทย์เท่านั้น ประชาชนห้ามซื้อมากินเองเด็ดขาด เนื่องจากยาทุกชนิดมีทั้งคุณประโยชน์และโทษ”
ส่วนยาอีก 2 รายการองค์การฯ ได้จัดซื้อมา คือ
(6.).ยาฟาวิพิราเวียร์ (Favipiravir) ซึ่งเป็นยาสำคัญสำหรับผู้ติดเชื้อโควิด -19 ที่มีการจัดซื้อจากแหล่งผลิตอยู่ 2 แหล่งหลัก คือญี่ปุ่นเจ้าของสิทธิบัตร และจีนซึ่งได้รับใบอนุญาตจากญี่ปุ่น โดยองค์การฯได้มีการจัดหาไปแล้ว 140,000 เม็ด กรมควบคุมโรคจัดหา 47,000 เม็ด รวมเป็น 187,000 เม็ด และจะมีการส่งมอบที่จัดซื้อจากญี่ปุ่นเพิ่มอีก 103,860 เม็ด ปลายเดือนเมษายนนี้
(7.) ยาไฮดรอกซีคลอโรควิน องค์การฯได้ดำเนินการจัดซื้อไปแล้วจากผู้ผลิตในประเทศ จำนวน 1.09 ล้านเม็ด
สธ.ปรับนิยามป่วยโควิด-19
นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 ระบุว่า กระทรวงสาธารณสุข ปรับนิยามสงสัยโรคโควิด-19 สำหรับประชาชนทั่วไป คือ 1. มีไข้ หรืออุณหภูมิ 37.5 องศาเซลเซียส ร่วมกับข้อ 2.มีอาการหนึ่งในนี้ คือ ไอ น้ำมูก เจ็บคอ หายใจเหนื่อย/หายใจลำบาก โรคปอดอักเสบ ส่วนปัจจัยเสี่ยง ต้องมีข้อใดข้อหนึ่งในช่วง 14 วันที่ผ่านมา คือ 1.มีการเดินทางไป หรืออยู่อาศัยพื้นที่เกิดโรค 2.ประกอบอาชีพเกี่ยวนักท่องเที่ยว สถานที่แออัด ติดต่อคนจำนวนมาก 3.ไปสถานที่ชุมชนหรือสถานที่มีการรวมกลุ่มคน เช่น ตลาดนัด ห้างสรรพสินค้า สถานพยาบาล 4.สัมผัสผู้ป่วยโควิด-19 ก่อนหน้า ใครที่สงสัยขอให้เข้ามาตรวจคัดกรอง สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)จะรับผิดชอบการตรวจให้ประชาชนทุกคน ขณะนี้มีการใช้ชุดตรวจโดยบริษัทของคนไทยที่ผลิตขึ้นมารองรับแล้ว สามารถไปตรวจได้ตามสถานที่กว่า 100 แห่งทั้งในกรุงเทพฯ ปริมณฑลและต่างจังหวัดได้ฟรี
กรมควบคุมโรค รณรงค์ฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ปีนี้เร็วขึ้น
กรมควบควบคุมโรค ร่วมกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ รณรงค์เร่งให้ฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ ประจำปี 2563 ระหว่างวันที่ 1 พ.ค. ถึง 31 ส.ค. 2563 จำนวน 4.11 ล้านโด๊ส เพื่อให้กลุ่มเสี่ยงที่หากป่วยแล้วอาจจะมีอาการรุนแรงและมีโอกาสเสียชีวิต โดยแบ่งเป็น 2 กลุ่ม
-สำหรับบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข
-สำหรับประชาชน 7 กลุ่มเสี่ยง ได้แก่
1.หญิงตั้งครรภ์ อายุครรภ์ 4 เดือนขึ้นไป
2.เด็กอายุ 6 เดือนถึง 2 ปี
3. บุคคลที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป
4.โรคอ้วน (น้ำหนัก>100 กิโลกรัม หรือBMI>35 กิโลกรัมต่อตารางเมตร)
5.ผู้พิการทางสมองที่ช่วยเหลือตนเองไม่ได้
6. โรคธาลัสซีเมียและผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง (รวมผู้ติดเชื้อ HIV ที่มีอาการ)
7. ผู้มีโรคเรื้อรัง (ปอดอุดกั้นเรื้อรัง หอบหืด หัวใจ หลอดเลือดสมอง ไตวาย ผู้ป่วยมะเร็งที่อยู่ระหว่างการได้รับเคมีบำบัด และเบาหวาน)
ทั้งนี้ ประชาชนกลุ่มเสี่ยง สามารถขอรับบริการวัคซีนได้ ที่สถานบริการสาธารณสุขของรัฐ และสถานพยาบาลเอกชนที่เข้าร่วมโครงการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ตามวันและสถานที่ดังกล่าว
ไฟเขียว กู้เงินก้อนแรก 70,000 ล้านบาท เตรียมแจก 5,000 บาท เดือนที่สอง
นางแพตริเซีย มงคลวนิช ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) กล่าวว่า ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะ ซึ่งมีนายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธาน ได้เห็นชอบแผนปรับปรุงการก่อหนี้สาธารณะปี 2563 เพิ่มเติม วงเงิน 1.49 ล้านล้านบาท และจะเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.) สัปดาห์หน้า โดยได้นำ พ.ร.ก.กู้เงิน เข้ามากู้ในปีนี้ก่อน 600,000 ล้านบาท เพื่อเตรียมไว้ใช้จ่ายเยียวยาเงิน 5,000 บาท การช่วยเหลือเกษตร รวมถึงดูแลระบบสาธารณะสุข ตั้งแต่เดือนพ.ค.-ก.ย. ส่วนวงเงินกู้อีก 400,000 ล้านบาท จะเริ่มกู้ในปีหน้า ปีงบประมาณ 2564
ทั้งนี้ แผนกู้เงินก้อนแรกจะกู้กับสถาบันการเงินในประเทศ รูปแบบตั๋วสัญญาใช้เงิน 70,000 ล้านบาท เริ่มกู้วันที่ 29 เม.ย.2563 และคาดจะได้เงินเข้าคลังไม่เกินวันที่ 5 พ.ค. สามารถนำไปทยอยจ่ายเยียวยา 5,000 บาทรอบเดือนที่สอง 14 ล้านคน ได้ตั้งแต่ 8 พ.ค.เป็นต้นไป จึงขอให้ผู้ลงทะเบียนทุกคนสบายใจว่ารัฐมีเงินจ่ายเยียวยา 5,000 บาทแน่นอน ส่วนการกู้ในรอบถัดไปจะกู้ทั้งระยะสั้นและยาว รวมถึงออกพันธบัตรออมทรัพย์อีกกว่าแสนล้านบาท โดยเน้นกู้ในประเทศไม่ต่ำกว่าร้อยละ 80
กพท.นัดหารือ 9 สายการบิน เส้นทางบินในประเทศ
นายจุฬา สุขมานพ ผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) เปิดเผยว่า ในวันนี้ กพท.จะประชุมร่วมกับผู้บริหาร 9 สายการบินในประเทศ เพื่อหารือถึงมาตรการที่เกี่ยวข้อง หลังสายการบินบางส่วนเตรียมเปิดทำการบินเส้นทางในประเทศอีกครั้ง 1 พ.ค. เบื้องต้น จะสำรวจว่ามีสายการบินใดบ้างที่จะเปิดให้บริการและจะเปิดให้บริการในเส้นทางบินใดบ้าง พร้อมทั้งแจ้งมาตรการที่กำหนดให้สายการบินปฏิบัติ คือ ต้องเว้นระยะห่างของผู้โดยสาร แบบที่นั่ง เว้นที่นั่ง ผู้โดยสารต้องสวมหน้ากากอนามัย ตลอดการเดินทาง และให้สายการบินยกเลิกการบริการอาหาร และเครื่องดื่มบนเครื่องบินอย่างเด็ดขาด ในช่วงที่สถานการณ์โควิด-19 ยังไม่คลี่คลาย หรือยุติการระบาด
การหารือที่สำคัญกับสายการบินในประเทศอีกประเด็นหนึ่ง คือ การที่แต่ละสายการบินจะเข้ามาทำการบินในเส้นทางบินในประเทศช่วงนี้ที่การแพร่ระบาดยังมีอยู่ อาจจะส่งผลให้บางเส้นทางปริมาณผู้โดยสารอาจจะน้อยมาก หรือ บางเส้นทาง จำนวนมาก หรือบางเส้นทางอาจจะยังไม่สามารถเปิดทำการบินได้ เนื่องจาก กพท. จะต้องออกกฎระเบียบที่เข้มงวดทำให้การเดินทางยากขึ้นกว่าแต่ก่อน ดังนั้น กพพ. มีแนวคิดที่จะเกลี่ยแบ่งเส้นทางบินที่จะให้สายการบินในประเทศ บินให้บริการใหม่ในช่วงนี้ เช่น เส้นทางหนึ่งหรือ ช่วงเวลาหนึ่ง อาจจะให้สายการบินใดสายการบินหนึ่ง ทำการบิน จะไม่มีการเปิดกว้างให้ทุกสายการบินมาทำการบินแข่งขันกันเอง เพื่อให้ทุกสายการบินสามารถทำการบินและมีสภาพคล่องในช่วงที่กลับมาเปิดทำการบินอยู่ได้
แฟ้มภาพ