อภ.จับมือพันธมิตร หาทางรียูส PPE-N95 พร้อมประยุกต์ชุด PPE “รุ่นเราสู้”
นพ.โสภณ เมฆธน ประธานคณะกรรมการองค์การเภสัชกรรม (อภ.) ประชุมคณะกรรมการการบริหารจัดการและรักษาพยาบาลผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีนพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร นายกสภามหาวิทยาลัยมหิดล และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานว่าองค์การเภสัชกรรมร่วมกับหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อจัดหาอุปกรณ์ป้องกันตนเองส่วนบุคคล (PPE) ชุดห่อหุ้มตัว (Isolation gown และ coverall) และ N95 respirator เพื่อปกป้องบุคลากรทางการแพทย์ไม่ให้เกิดการติดเชื้อจากการทำงานซึ่งส่วนใหญ่ยังต้องการนำเข้าจากต่างประเทศ ส่วนที่ผลิตในประเทศยังมีไม่เพียงพอ แต่เพื่อให้สามารถพึ่งพาตัวเองได้ สมาคมอุรเวชช์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ศึกษาข้อมูลเชิงวิชาการพบว่าชุด PPE หน้ากาก N95 เกรดที่ใช้กับงานอุตสาหกรรมให้สามารถนำมาใช้ทางการแพทย์ได้ เช่น การใช้หน้ากาก N95 เกรดอุตสาหกรรมที่มีคุณสมบัติกรองเชื้อโรคได้ดีอยู่แล้ว ใช้ร่วมกับหน้ากากอนามัย (surgical mask) เพิ่มคุณสมบัติในการกันน้ำ ส่วนระยะยาวได้จัดเตรียมชุด PPE ที่สามารถนำกลับมาใช้ซ้ำ โดยการใช้วัตถุดิบและเทคโนโลยีในประเทศและผลิตอุปกรณ์มาตรฐานสำหรับทำการฆ่าเชื้อ N95 respirator ให้พร้อมนำกลับมาใช้งานใหม่
ความร่วมมือกับสถาบันพัฒนาอุสาหกรรมสิ่งทอและสหพันธ์อุตสาหกรรมสิ่งทอแห่งประเทศไทย พัฒนาชุด PPE ชนิดใช้ซ้ำ อยู่ระหว่างดำเนินการ และทดสอบการกันน้ำ ขณะนี้ ได้เชิญบริษัทร่วมดำเนินการที่มีศักยภาพ 12 ราย มาทำความเข้าใจเรื่องคุณภาพการตัดเย็บและรายละเอียดการผลิตเมื่อทำการตัดเย็บแล้วจะทดสอบคุณภาพทั้งชุดอีกครั้ง หลังจากผ่านการทดสอบคุณภาพแล้วจะทำการตัดเย็บ คาดว่าจะทำให้มี ชุด PPE แบบชุดห่อหุ้มตัว ทดแทนได้ถึง 800,000 ชุด ซึ่งเรียกเป็น “PPEรุ่นเราสู้”
5 แนวทางผ่อนปรนมาตรการคุมโควิด-19
เพจไทยคู่ฟ้า เผยแพร่ร่างข้อเสนอแนวทางการผ่อนปรนมาตรการควบคุมโควิด-19 ตามที่กระทรวงสาธารณสุข ระดมผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการ คณบดีจากคณะแพทย์ จัดทำร่างข้อเสนอแนวทางผ่อนปรนมาตรการด้านสาธารณสุข เตรียมเสนอศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. พิจารณา เงื่อนไขสำคัญ 5 แนวทาง
1. หน่วยงานด้านสาธารณสุข ต้องเพิ่มความเข้มข้นมาตรการตรวจคัดกรองคนติดเชื้อในประเทศ เข้มงวดกับผู้ที่เดินทางเข้าประเทศ มีการกักเฝ้าสังเกตอาการ 14 วันในสถานที่ที่กำหนด การค้นหาผู้ป่วยในกลุ่มเสี่ยงเพิ่มเติม เช่น ในชุมชนแออัด
2. คนไทยทุกคน ทุกชุมชน ทุกสังคม ต้องร่วมมือปฏิบัติตามมาตรการสุขลักษณะ ล้างมือ สวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้า เมื่อออกจากบ้าน การมีระยะห่างทางกาย งดการชุมนุม กลุ่มเสี่ยงยังควรหลีกเลี่ยงการออกจากบ้าน
3. ภาคธุรกิจ ต้องประเมินความเสี่ยง และปรับการดำเนินการให้มีความเสี่ยงต่ำ
4. ปิดบริการหรือกิจการที่มีความเสี่ยงสูง เป็นแหล่งแพร่ระบาด ต้องปิดในระยะยาว สำหรับการปิดกิจการในอนาคต ควรใช้วิธีปิดแบบที่เป็นปัญหา และคงความเข้มข้นของการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด
5.เฝ้าระวังตรวจจับและคาดการณ์ความรวดเร็วของการแพร่ระบาดในระดับพื้นที่และระดับประเทศ เป็นการเตือน และเพิ่มหรือผ่อนคลายมาตรการตามแต่ละจังหวัด และมีการเฝ้าระวังโดยภาคประชาชน อสม.
หากสามารถดำเนินการได้ทั้ง 5 แนวทาง จะผ่อนปรนให้กลับมาดำเนินการได้ โดยใช้ข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุข ดูจังหวัดที่มีการติดเชื้อต่ำ เริ่มจากกลุ่มจังหวัดที่ไม่พบผู้ป่วยติดเชื้อในพื้นที่ใน 2 สัปดาห์ สามารถเริ่มได้ในต้นเดือนพ.ค. หรือ อาจนำร่องทดลองปลายเดือนเม.ย.ระยะต่อไปจะเริ่มในกลุ่มที่ 2 คือ จังหวัดที่พบผู้ป่วยติดเชื้อในพื้นที่แบบประปราย ประมาณกลางเดือนพ.ค.สำหรับกลุ่มที่ 3 คือ จังหวัดที่มีการระบาดอย่างต่อเนื่อง ประมาณ 7 จังหวัด หากสามารถลดการระบาด และไม่มีการระบาดเป็นกลุ่มก้อนใหญ่ สามารถผ่อนปรนเปิดได้ต้นเดือนมิ.ย.
นายกฯ ระบุว่า ไม่ได้พูดว่าจะมีการผ่อนปรนมาตรการต่างๆ หรือเปิดห้าง 1พ.ค.
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกระโหม เปิดเผยว่า สถานการณ์โควิด-19 อยู่ที่ความร่วมมือจะไม่ผลีผลามผ่อนปรนจะต้องพิจารณาและดูถึงสถิติต่างๆ รวมทั้งจะต้องระมัดระวังให้มากที่สุด แต่จะไม่ทำเพราะแรงกดดัน เข้าใจดีว่าทุกคนได้รับความเดือดร้อน แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือสุขภาพของประชาชน รัฐบาลดูแลประชาชนอย่างครอบคลุม อย่ามองแค่เรื่องเงินเยียวยา ยืนยันว่าไม่ได้พูดว่าจะมีการผ่อนปรนมาตรการต่างๆ หรือเปิดห้างสรรพสินค้าในวันที่ 1พ.ค.ผู้ประกอบการหรือภาคเอกชนที่ต้องการผ่อนปรน ก็ให้จัดทำแผนรับมือเสนอเข้ามาให้ภาครัฐพิจารณา นอกจากนี้ มอบหมายให้กระทรวงมหาดไทยและหน่วยงานความมั่นคงไปดูแลในเรื่องการขนส่งที่มีเสียงเรียกร้องของประชาชนที่ประสบปัญหาส่งสินค้าข้ามพื้นที่หรือจังหวัดไม่ได้
สายการบิน- การขนส่ง เตรียมพร้อมหากรัฐบาลปลดล็อกการเดินทาง
การเตรียมความพร้อมเรื่องการเดินทางทางเครื่องบินและการขนส่งในด้านต่างๆ พร้อมรับการปลดล็อก นายจุฬา สุขมานพ ผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย(กพท.) กล่าวว่า หากมีการปลดล็อกแล้วผู้ประกอบการสายการบินน่าจะทยอยเปิดทำการบินเส้นทางที่มีความพร้อม ขณะนี้ทราบว่าหลายสายการบินมีแผนที่จะกลับมาทำการบินแล้วส่วนเส้นทางบินระหว่างประเทศ ต้องติดตามสถานการณ์ไปอีกระยะหนึ่ง ในส่วนตัวเห็นว่าเส้นทางบินระหว่างประเทศน่าจะมีการประเมินสถานการณ์ทุก 15 วัน เพื่อให้สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 มีความปลอดภัยจริงๆ
นายจิรศักดิ์ เยาว์วัชสกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ขนส่ง จำกัด หรือ บขส. ระบุว่า ในการเดินรถจะพิจารณารายละเอียดเป็นรายจังหวัด และต้องใช้มาตรการคุมโรค ใส่หน้ากากอนามัย และระยะห่างทางสังคม หรือ Social Distancing ในสถานีและบนรถ เว้นระยะห่างและมีอัตราบรรทุกอยู่ที่ประมาณร้อยละ 50 รวมทั้งการให้บริการ บขส.จะต้องพิจารณา "มอนิเตอร์" ความต้องการเดินทางของผู้โดยสารแต่ละเส้นทาง โดยพิจารณาได้จากอัตราการจองตั๋ว สำหรับผลกระทบที่เกิดขึ้นจากโควิด-19 ในส่วนของผู้ประกอบการเดินรถร่วมบริการของ บขส.จะยื่นข้อเรียกร้องขอความช่วยเหลือเยียวยาจากภาครัฐ 2-3 วันข้างหน้า
นายวิทยา ยาม่วง อธิบดีกรมเจ้าท่า (จท.) กล่าวว่า กรมเจ้าท่าดูแลการเรือเดินทั้งประเทศมีความพร้อมที่จะปฏิบัติตาม ซึ่งขณะนี้ยังไม่ทราบว่าหากจะปลดล็อกจะมีเรื่องอะไรบ้าง เช่น จะให้เรือโดยสารต่างประเทศเข้ามาได้ด้วยหรือไม่ ซึ่งในส่วนนี้จะต้องดูรายละเอียดต่อไป มีการเตรียมเจ้าหน้าที่เพื่อดูแลตรวจตราให้ผู้ใช้บริการต้องสวมหน้ากากอนามัย มีเจลล้างมือตามท่าเรือ รวมถึงคุมเข้มมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม
คลัง ตั้งทีมพิทักษ์สิทธิ์ ลงพื้นตรวจข้อมูลคนยื่นขอทบทวนสิทธิ์ 5,000 บาท
นายลวรณ แสงสนิท ผู้อํานวยการสํานักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง กล่าวว่า ได้จัดตั้งทีมเจ้าหน้าที่ผู้พิทักษ์ เพื่อเตรียมลงพื้นที่ตรวจสอบข้อมูลของผู้แจ้งขอทบทวนสิทธิ์มาตรการรับเงินชดเชยรายได้ 5,000 บาท โดยมีตัวแทนของกรมบัญชีกลาง คลังจังหวัด ธนาคารกรุงไทย ธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยได้มีการประชุมวิดีโอออนไลน์กับคณะผู้บริหารการคลังประจำจังหวัด (คบจ.) ซึ่งจะเริ่มลงพื้นที่ได้ตั้งแต่สัปดาห์นี้เป็นต้นไป หากตรวจสอบผ่านก็จะโอนเงินให้ได้อย่างเร็วภายในสัปดาห์หน้า
ความคืบหน้าการพิจารณาผลตรวจสอบผู้ลงทะเบียนขอเงินชดเชยรายได้ 5,000 บาท หลังจากนี้จะมีคนที่ผ่านเกณฑ์ และจะได้รับเงินเพิ่มขึ้นอีกมาก ตัวเลขวันที่ 21 เม.ย.ผู้ผ่านสิทธิ์ 4.2 ล้านคน หลังจากนั้นยังมีโอกาสเพิ่มได้อีกนับล้านคน โดยเฉพาะกลุ่มผู้ขอข้อมูลเพิ่มเติม 6.3 ล้านคนที่ได้มาแจ้งข้อมูลมาแล้ว จะมีโอกาสได้รับเงินเยียวยาเพิ่มก่อน ส่วนกลุ่มคนไม่ผ่านเกณฑ์รอบแรก 10.6 ล้านคน ก็สามารถขอทบทวนสิทธิ์ได้ทางออนไลน์ ถ้าทีมพิทักษ์สิทธิ์ลงพื้นที่แล้วพบว่าประกอบอาชีพจริงตามที่ได้ลงทะเบียนไว้ ก็จะเปลี่ยนสถานะเป็นกลุ่มที่ผ่านเกณฑ์และมีโอกาสได้รับเงินทันที
ธ.ออมสินใจ ช่วยลูกหนี้ 'พักเงินต้น-ดอกเบี้ย 'อัตโนมัติ 6 เดือน
นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า ธนาคารได้ขยายเวลาพักชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยแบบอัตโนมัติเพิ่มจาก 3 เดือน เป็น 6 เดือน สำหรับลูกค้าสินเชื่อบุคคล สินเชื่อเคหะ และสินเชื่อผู้ประกอบการให้ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(เอสเอ็มอี) เริ่ม 1 เม.ย.-30 ก.ย.2563 เพื่อช่วยลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ลูกค้าที่รับสิทธิ์ต้องมีสถานะปกติจนถึงค้างชำระไม่เกิน 3 เดือน ณ 31 มี.ค.2563 โดยไม่ต้องแจ้งการเข้าร่วมหรือลงทะเบียนใดๆ หากไม่ต้องการเข้าร่วมก็สามารถชำระหนี้ได้ตามปกติ เดิมธนาคารได้ช่วยพักเงินต้นและดอกเบี้ยให้ 3 เดือนและมีการกำหนดช่วยเหลือวงเงินสินเชื่อบ้าน และสินเชื่อบุคคล เงินต้นไม่เกิน 3 ล้านบาท เอสเอ็มอีไม่เกิน 20 ล้านบาท แต่เนื่องจากประเมินว่าผลกระทบโควิด-19 ยังมีต่อเนื่อง จึงขยายการช่วยเหลือ ให้ลูกค้าสินเชื่อบ้านได้รับความช่วยเหลือทั้งหมดไม่จำกัดวงเงินกู้ สินเชื่อเอสเอ็มอีให้ช่วยเหลือเพิ่มจาก 20 ล้านบาท เป็นไม่เกิน 100 ล้านบาท ส่วนดอกเบี้ยที่พักไว้ให้ลูกค้าไปชำระในงวดสุดท้ายของสัญญา หรือเลือกวิธีเฉลี่ยจ่ายหลังพ้นจากช่วงพักชำระไปแล้วก็ได้ นอกจากนี้ยังเปิดให้ยืดหยุ่นสามารถผ่อน หรือพักเดือนไหนก็ได้ระหว่างเข้ามาตรการ
แฟ้มภาพ