ตำรวจกองบัญชาการตำรวจนครบาล ประชุมร่วมกับกรุงเทพมหานคร(กทม.) จัดระเบียบรถบรรเทาสาธารณภัยให้ถูกต้องตามกฏหมาย พล.ต.ต.อดุลย์ ณรงค์ศักดิ์ รอง ผบช.น. สั่งการให้ทุกสถานีตำรวจเข้มงวดจับกุมรถฉุกเฉิน หรือรถไซเรนที่ผิดกฏหมาย โดยเฉพาะสัญญาณไฟที่ใช้ต้องเป็นสีน้ำเงินที่หมายถึงรถพยาบาลหรือรถกู้ภัยเท่านั้น แต่ที่ผ่านมาไม่เคยมีการจัดระเบียบจนปัญหาสะสม พบการใช้สัญญาณไฟสีแดงที่หมายถึงรถดับเพลิง ทำให้เกิดความสับสนในการปฏิบัติ มีความผิดตามพ.ร.บ.จราจรฯ ปรับสูงสุด 20,000 บาทและมีโทษจำคุก โดยขอความร่วมมือให้แต่ละมูลนิธิจัดทำรายงานการขึ้นทะเบียนรถกู้ภัย และต้องนำรถไปตรวจสภาพให้ผ่านมาตรฐานระบบบริการทางการแพทย์ด้วย
ด้านนพ.เพชรพงษ์ กำจรกิจการ ผู้อำนวยการศูนย์การแพทย์ฉุกเฉินกรุงเทพมหานคร(ศูนย์เอราวัณ) ระบุว่า ปัจจุบันมีรถที่ขึ้นทะเบียนผ่านมาตรฐานจากศูนย์เอราวัณเพียง 150 คัน หลังจากนี้เตรียมออกสติ๊กเกอร์ติดตัวรถเพื่อรับรองมาตรฐาน ทั้งอุปกรณ์การช่วยเหลือทางการแพทย์ อุปกรณ์อำนวยความสะดวกของรถ และชนิดของตัวรถที่อาจต้องเป็นรถตู้เท่านั้นเพื่อความพร้อมในการดูแลผู้ป่วยและผู้ได้รับบาดเจ็บ โดยการดำเนินคาดว่าจะสามารถรับรองระเบียบได้ภายในเดือนนี้ และเริ่มกำหนดสติ๊กเกอร์ได้ในปีหน้า ทั้งนี้ยืนยันเป็นเพียงการกำหนดมาตรฐาน มิใช่การบังคับ เพราะเชื่อว่าเจ้าหน้าที่มูลนิธิทุกคนตั้งใจที่จะช่วยเหลือผู้ป่วยและผู้บาดเจ็บ
ส่วนการจัดระเบียบบุคคลที่มาทำหน้าที่กู้ภัย นายพีรพงษ์ สายเชื้อ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่าเป็นอำนาจหน้าที่ที่ขึ้นตรงกับผู้อำนวยการเขตแต่ละเขตต้องเป็นผู้ควบคุมดูแล ในฐานะเป็นผู้อำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยในพื้นที่นั้น โดยสั่งการให้แต่ละมูลนิธิจัดทำบัญชีรายชื่อทั้งเจ้าหน้าที่ประจำมูลนิธิและอาสาสมัครประจำมูลนิธิให้กับราชการ เพื่อการตรวจสอบหากเกิดปัญหาในภายหลัง และควรพาเจ้าหน้าที่และอาสาสมัครในสังกัดทุกคน เข้าอบรมการช่วยเหลือเบื้องต้นตามมาตรฐาน พ.ร.บ.การแพทย์ฉุกเฉิน ด้วย
อย่างไรก็ตาม การจัดระเบียบดังกล่าว พล.ต.ต.อดุลย์ ยืนยันไม่ห่วงปัญหากระแสต่อต้านจากเจ้าหน้าที่หรืออาสาสมัครมูลนิธิที่ตามมา เพราะเป็นการบังคับใช้กฏหมายใหัถูกต้องตามระเบียบ ยึดความปลอดภัยของส่วนรวมเป็นหลัก อีกทั้งที่ผ่านมาเป็นปัญหาสะสมจนเคยชิน และไม่เคยได้รับการแก้ไข มีการแอบอ้างจนบางครั้งทำเสื่อมเสียชื่อเสียงของหน่วยงาน
อภิสุข