การเตรียมเปิดพื้นที่บางส่วนของประเทศไทย เพื่อคลายมาตรการปิดเมือง จากโควิด-19 แพร่ระบาด ล่าสุด ศ.นพ.นิธิ มหานนท์ ดำรงตำแหน่งเลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ และผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ได้โพสต์ เฟซบุ๊กส่วนตัว (Nitthi Mahanonda) ถึงการเตรียมพร้อมเผด็จศึก โควิด-19
โควิด 19 สงครามที่ไม่มีวันชนะ
ตอน เตรียมพร้อมเผด็จศึก
แนวทางการ Unlock ประเทศไทย...
ตามแนวคิดที่ WHO มีนั้นเป็นภาพกว้างๆสำหรับทุกประเทศทั่วโลก แต่สำหรับเราทำมาได้ดีกว่านั้นมากแล้วครับ ขณะนี้ ต้องเรียกว่าเราควบคุมหน่วงการระบาดได้ดีมากๆ (จะขาดนิดหน่อยก็เรื่องการตรวจหาเชื้อและภูมิคุ้มกัน กับยาที่จำเป็นยังมีไม่พอ ไม่ทั่วถึง) ผมคิดว่าเรามี 2 แนวทางที่อยากเสนอครับ☺️☺️☺️☺️เมื่อวานเสนอแนวที่สองที่แหวกแนวคิดไปแล้ววันนี้ขอกลับมาแนวที่หลายๆคนเสนอเห็นว่าเป็นไปได้มากที่สุด
แนวทางแรก คือ ค่อยๆทยอยเปิดในกิจการ หรือกิจกรรมที่สามารถจัดมาตรการ (และรัฐกำกับดูแลได้)ในการควบคุมรักษาระยะห่างและความสะอาด ที่สำคัญคือการเฝ้าระวังคนที่เป็นโรคและติดตามคนที่เสี่ยงที่จะติดที่ต้องเข้มแข็งมากๆ ถึงมากที่สุด เพราะเราจะใช้วิธีค่อยเปิดกิจกรรม กิจการที่มีความเสี่ยงน้อยๆก่อนนี้ เรายังคงจะมีเคสใหม่เกิดขึ้นในประเทศอยู่เรื่อยๆ และจะเพิ่มมากขึ้นกว่าปัจจุบันแน่นอน(คลื่นลูกที่สอง) แค่หวังว่าเคสใหม่ที่เพิ่มขึ้นจะมีในระดับที่เราจะควบคุมได้ (การควบคุมได้หมายความว่า ไม่มีจำนวนมากเกินกว่าที่เตียงในโรงพยาบาล แพทย์ พยาบาล อุปกรณ์ทางการแพทย์ และยาเราจะมีพอ)
แต่เมื่อค่อยทยอยเปิด (ซึ่งจะทยอยเปิดอย่างไรก็ต้องแล้วแต่รัฐบาลล่ะครับ...ไม่ง่ายแน่ คนที่ได้เปิดทีหลังโวยแน่ ถ้าไม่อธิบายให้ดี)
ผมแนะนำนะครับว่า ให้ยึดหลักรักษาระยะห่าง...ใส่หน้ากาก...และล้างมือ ในช่วง “ทดลอง”เปิด น่าจะห้ามชุมนุมหรือมีกิจกรรมเกิน 10 คนไว้ก่อน(บางประเทศเอาแค่ 4 คน) การเฝ้าระวังต้องนำเทคโนโลยีมาช่วยด้วย เดี๋ยวนี้ระบบ AI เก่งขนาดสามารถคาดการณ์จุดที่จะระบาดได้แล้ว [ขอไม่เล่ารายละเอียดตอนนี้ล่ะครับ แต่สำหรับแพทย์และนักวิชาการ บอกไว้เพื่อไปพัฒนากันต่อ ในเมืองไทย....เราทำได้เองแน่ ไม่แพง...การติดเชื้อหรือได้รับเชื้อโรคทุกๆชนิดนั้น เรียนกันมาตั้งแต่เป็นนักเรียนแพทย์ว่า สิ่งแรกที่จะแสดงก่อนอาการไข้คือ ชีพจรขณะพัก(resting heart rate) จะเต้นเร็วขึ้นก่อนมีไข้ มีอาการใดๆ ถ้าเราใช้เครื่องติดตามที่อยู่ตามข้อมือของคนที่ออกกำลังหลายๆคน แบ่งกระจายเป็นกลุ่มๆ อยู่ในที่เสี่ยง เก็บข้อมูลขึ้นคลาวด์ เมื่อชีพจรขณะพักของกลุ่มใด ณ ที่แห่งใดที่ไหนสูงขึ้น....หน่วยเฝ้าระวังก็จะสามารถจัดการได้ก่อนโรคเกิดระบาดครับ
เรื่องเทคโนโลยีนี้ถ้าเตรียมยังอาจทันก่อนคลื่นลูกที่สองจะมา เมื่อเราผ่อนคลายมาตรการ หรือไม่ก็ทันแน่ๆ คือทันใช้ในการระบาดฤดูกาลหน้า(อย่าลืมว่าโรคไวรัสทางเดินหายใจระบาดแบบ seasonal ครับ)
ในขณะที่เทคโนโลยีนี้ยังไม่พร้อม เราต้องเพิ่มการตรวจหาเชื้อให้แพร่หลายกระจายไปให้ทั่วประเทศทุกจุดทุกจังหวัดที่มีความเสี่ยงสูง การตรวจนี้ต้องให้ได้ผลภายในวันเดียวให้ได้ ในขณะเดียวกัน ต้องวางแผนตรวจภูมิคุ้มกันหรือแอนตี้บอดี้อย่างเป็นระบบในกลุ่มเสี่ยงจุดเสี่ยง ทั้งประเทศอย่างสม่ำเสมอ อาจจะทุกเดือนในจุดเสี่ยงมาก หรือทุกสามเดือนในที่เสี่ยงปานกลาง
ที่ต้องเฝ้าระวังกันเข้มแข็ง เพราะการติดเชื้อเมื่อเกิดขึ้นหนึ่งคนแล้วหลุดรอดไป จำนวนคนได้รับเชื้อจะเพิ่มเป็น exponential (หาคำแปลไม่ได้จริงๆครับ คือเพิ่มเป็นเลขยกกำลัง) มันยิ่งกว่าทวีคูณนะครับ เขาว่าสมองมนุษย์ทั่วไปวาดภาพการเพิ่มแบบนี้ไม่ได้ เราวาดภาพได้แค่แบบเส้นตรง(linear) เท่านั้น แต่การเพิ่มแบบexponential แบบการระบาดโควิดนั้นคือวันแรก 1 แล้ววันที่สอง 3 วันที่สาม 9 ...27...ไม่ถึงเจ็ดวัน จะกลายเป็นพันๆคนครับ อย่าลืมด้วยว่า เมื่อคนได้รับเชื้อแล้ว กว่าจะแสดงอาการจะประมาณ 5-7 วันแต่เขาแพร่เชื้อได้ตั้งแต่วันที่ 2 หรือ 3 หลังได้รับเชื้อ
ดังนั้น เมื่อค่อยๆ ทยอยเปิดตามวิธีที่หนึ่งนี้ ยังไงๆ เราก็จะมีเคสเพิ่มนะครับ ขอให้ไวและระวังตัว ไม่ต้องโทษรัฐบาลนะครับพวกคุณขยันค้านที่น่ารัก ถ้าไม่ทัน หน่วงไม่อยู่ ยาและโรงพยาบาลไม่พอก็เจอ lock down อีกรอบ
เว้นแต่ใช้วิธีนี้กับวิธีที่สองร่วมกัน ทุกท้องถิ่น ทุกจังหวัด(ชุมชนต้องเข้มแข็งล่ะครับ) ต้องลงในรายละเอียดของการติดเชื้อทุกราย ผมแน่ใจว่าข้อมูลรายละเอียดการติดเชื้อ สถานที่ทีมงานสาธารณสุขทีมติดตามมีแน่ๆ ณ.วินาทีนี้......รายละเอียดคือพระเจ้าครับ
นิธิ มหานนท์ 21 เมษายน 2563